×

ส.อ.ท. จับมือ 50 บริษัทเอกชนไทย ดันเกณฑ์ Credit Term เร่งจ่ายใน 30 วัน อัดสภาพคล่องถึง SMEs

05.10.2020
  • LOADING...
ส.อ.ท. จับมือ 50 บริษัทเอกชนไทย ดันเกณฑ์ Credit Term เร่งจ่ายใน 30 วัน อัดสภาพคล่องถึง SMEs

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) กลับเจอการหยุดชะงัก ส่งผลให้ขาดสภาพคล่อง สาเหตุหนึ่งคือการทำธุรกิจในไทย เมื่อเป็นรูปแบบ B2B (Business-to-Business) บริษัทกว่า 96% จะให้ Credit Term กับคู่ค้า เช่น เมื่อส่งมอบสินค้าจะมีการกำหนดระยะเวลาราว 45-60 วัน แล้วจึงได้รับชำระหนี้จากสินเชื่อการค้า 

 

ทั้งนี้ เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น การให้ Credit Term การค้าจึงส่งผลต่อสภาพคล่องของ SMEs โดยตรง และจะส่งผลต่อเนื่องถึงผลการดำเนินงาน ปัญหาหนี้สิน และการจ้างงานในธุรกิจ ดังนั้นในช่วงวิกฤตนี้จึงเห็นหลายประเทศกำหนดแนวทางเพื่อสนับสนุนเกณฑ์ Credit Term เพื่อลดผลกระทบต่อ SMEs ในส่วนของประเทศไทย เริ่มเห็นภาคเอกชนออกโครงการเพิ่ม สนับสนุนแนวทางของภาครัฐ

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. เปิดตัวโครงการ ‘F.T.I. Faster PAYMENT: ส.อ.ท. ช่วยเศรษฐกิจไทย’ โดยจะนำร่องคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. วาระปี 2563-2565 ได้แก่ ผู้บริหารบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 50 บริษัท จะสนับสนุนมาตรการการชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้ตรวจรับสินค้าหรือบริการครบถ้วน และได้รับเอกสารเรียบร้อยแล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563

 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเร่งอัดฉีดสภาพคล่อง SMEs เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ขณะเดียวกันมองว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำอำนาจการต่อรองระหว่าง SMEs กับบริษัทขนาดใหญ่

โดยมีองค์กรที่เข้าร่วมโครงการฯ เช่น

 

  • บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด
  • ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม คำนิยามใหม่ของ SMEs ในราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ดังนี้

 

  • วิสาหกิจรายย่อย (Micro) คือกลุ่มที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท มีการจ้างงานไม่เกิน 5 คน 

(หมายเหตุ: วิสาหกิจรายย่อยเป็นส่วนหนึ่งของวิสาหกิจขนาดย่อม)

 

  • วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) คือกิจการในภาคการผลิตสินค้าที่มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100 ล้านบาท ส่วนกิจการในภาคการค้า (ค้าส่งหรือค้าปลีก) และภาคบริการ มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 30 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 50 ล้านบาท

 

  • วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) คือกิจการในภาคการผลิตสินค้าที่มีจำนวนการจ้างงานเกิน 50-200 คน หรือมีรายได้ต่อปีเกินกว่า 100-500 ล้านบาท ส่วนกิจการในภาคการค้า (ค้าส่งหรือค้าปลีก) และภาคบริการ มีจำนวนการจ้างงานเกิน 30-100 คน หรือมีรายได้ต่อปีเกิน 50-300 ล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X