ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาด GDP ไทยปีนี้อาจติดลบ 8.3% รับผลกระทบโควิด-19 ส่วนกรณีแย่สุดอาจติดลบถึง 10.4% หนักสุดในอาเซียนและจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) ที่ขยายตัว 0.9% และถือเป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ปี 2564 คาด GDP ไทยกลับมาขยายตัว 4.9%
เวิลด์แบงก์ มอง GDP ไทยปีนี้ -8.3% แย่สุด -10.4% ต่ำสุดในภูมิภาค
ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) ประจำเดือนตุลาคม 2563 ว่าได้คาดการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ว่า ในกรณีเส้นฐานคาดว่าจะติดลบ 8.3% ส่วนในกรณีที่แย่ที่สุดคาดว่าจะติดลบ 10.4% จากผลกระทบของโควิด-19 และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยาวนาน
ปี 2564 กลับมาโต 4.9% กรณีแย่สุดขยายตัวแค่ 3.5%
ขณะที่ในปี 2564 คาดว่า GDP ของไทยในกรณีที่แย่ที่สุดคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% ส่วนกรณีเส้นฐานคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.9% ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก จากการควบคุมการแพร่ระบาดที่ประสบความสำเร็จในบางประเทศ นำไปสู่การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ
โดยเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะขยายตัว 0.9% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปีในขณะที่คาดว่าจีนจะขยายตัวได้ 2% เพราะจีนสามารถควบคุมการติดเชื้อใหม่ได้ในอัตราที่ต่ำตั้งแต่เดือนมีนาคม และมีการเพิ่มการลงทุนของภาครัฐตั้งแต่นั้นมาด้วย
แต่เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ยังต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ ในโลกอย่างมาก ดังนั้นจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวทางการค้า เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั่วโลกนั้นเริ่มที่จะกลับมา ขณะที่ด้านของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว
สำหรับเงินทุนระยะสั้นแม้จะเริ่มเห็นการไหลกลับเข้าสู่ภูมิภาคแล้ว แต่ความไม่แน่นอนที่มีอยู่ทั่วโลกนั้นยังคงสกัดกั้นการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ความสามารถของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นยังมีข้อจำกัด เนื่องจากความตึงเครียดทางการคลัง
5 ล้านรายกลับสู่ความยากจน งบประมาณช่วยเหลือไม่ทั่วถึง
ทั้งนี้โควิด-19 สร้างชนชั้นที่เรียกว่าคนจนกลุ่มใหม่ ประชาชนตกอยู่ในความยากจนเพิ่มขึ้น 38 ล้านคนในปี 2563 รวมถึง 33 ล้านคนที่อาจหลุดพ้นจากความยากจนได้หากไม่เกิดการระบาด และอีก 5 ล้านคนต้องกลับสู่ความยากจน
โดยบางประเทศในกลุ่ม EAP ยอดขายของธุรกิจที่ต่ำกว่าเดิม 38-58% เมื่อเทียบปีต่อปีในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2563 โดยธุรกิจขนาดใหญ่ดูเหมือนจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องด้วย SMEs มีความเปราะบางต่อวิกฤตที่มากกว่าและมีความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่า พนักงานรับค่าจ้างรวมถึงผู้ที่ทำงานให้กับธุรกิจครอบครัวจึงต้องเผชิญกับรายได้ที่ส่วนใหญ่จะลดลง
แม้รัฐบาลของประเทศในกลุ่ม EAP จะกำหนดให้ใช้งบประมาณเกือบ 5% ของ GDP เพื่อช่วยเหลือครัวเรือน และเพื่อให้เกิดการบริโภคอย่างต่อเนื่อง จะช่วยธุรกิจให้รอดพ้นจากการล้มละลายได้ แต่การให้ความช่วยเหลือนั้นเข้าถึงครัวเรือนที่มีรายได้ลดลงได้น้อยกว่า 1 ใน 4 และมีธุรกิจเพียง 10-20% ที่รายงานว่าได้รับความช่วยเหลือนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โรคระบาด
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า