×

ปีที่ 3 ‘ช้อปช่วยชาติ’ ของขวัญที่คนไทยรอคอยจริงหรือ?

01.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการคลังศึกษาเพื่อทำโครงการช้อปช่วยชาติสิ้นปี 2560 นี้ โดยต้องเป็นไปอย่างรัดกุม และอาจยืดเวลาให้นานขึ้นกว่าปีก่อน
  • ค่าลดหย่อนภาษีนั้นไม่ใช่เงินคืนภาษีที่เราจะได้รับกลับมา นโยบายที่ภาครัฐกระตุ้นให้บริจาคเพื่อผู้ประสบภัยหรือช้อปปิ้งกระตุ้นการบริโภค ยอดเงินที่เกิดขึ้นจะเป็น ‘ค่าลดหย่อนภาษี’ เท่านั้น
  • ห้างค้าปลีกต่างมองตรงกันว่า การที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกับเศรษฐกิจโดยรวม

     เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา นักข่าวสอบถาม นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ถึงมาตรการช้อปช่วยชาติเพื่อกระตุ้นการบริโภค ซึ่งแบ่งรับแบ่งสู้ว่าต้องไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ก่อนว่ายังจำเป็นหรือไม่ ส่วนมาตรการลดหย่อนภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยว ทางกระทรวงการคลังมองว่ายังไม่จำเป็น

     ผ่านมาเพียงครึ่งเดือนเท่านั้น ล่าสุดวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังศึกษาเพื่อทำโครงการช้อปช่วยชาติสิ้นปี 2560 นี้ โดยกำชับว่าต้องเป็นไปอย่างรัดกุม และอาจยืดเวลาของโครงการให้นานขึ้นกว่าปีก่อนเพื่อกระตุ้นให้จับจ่ายและเกิดเงินหมุนเวียนในระบบ แม้ว่านายกฯ จะยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นแล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์

     แต่น่าคิดเหมือนกันว่าทำไมจึงต้องงัดมาตรการช้อปช่วยชาติกลับมาอีกครั้ง โดยเหตุผลสั้นๆ ที่ได้กลับมาคือ “มาตรการช้อปช่วยชาติทำมาทุกปี ปีที่แล้วก็ทำ”

 

 

ปีที่ 3 ของ ‘ช้อปช่วยชาติ’

     รัฐบาลเริ่มโครงการช้อปช่วยชาติตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร เพราะประชาชนเห็นว่าสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ถึง 15,000 บาท และสิ้นปี 2559 ก็ประกาศให้มีโครงการช้อปช่วยชาติอีกครั้ง โดยเพิ่มเติมมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ทำให้สามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 30,000 บาท

 

 

     เป็นที่ทราบดีว่าค่าลดหย่อนภาษีนั้นไม่ใช่เงินคืนภาษีที่เราจะได้รับกลับมาเป็นตัวเงิน นโยบายที่ภาครัฐกระตุ้นให้บริจาคเพื่อผู้ประสบภัยหรือช้อปปิ้งกระตุ้นการบริโภคนั้น ยอดเงินที่เกิดขึ้นจะเป็น ‘ค่าลดหย่อนภาษี’ เท่านั้น

     ผู้เสียภาษีจะกรอกตัวเลขรายได้รวมทั้งปีในระบบ แล้วหักออกด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ ตามเงื่อนไขจนได้ตัวเลขรายได้ที่เหลือ แล้วจึงนำมาคำนวณว่าอยู่ในฐานภาษีระดับใด และจะได้ตัวเลขของภาษีที่ต้องจ่ายทั้งปีที่ผ่านมาออกมา

     ถ้ายอดรวมที่หักส่งกรมสรรพากรแต่ละเดือนเกินกว่าที่คำนวณได้จึงจะได้รับ ‘เงินคืนภาษี’ แต่ถ้าน้อยกว่าก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

     ดังนั้นเมื่อได้ยินประกาศว่าการช้อปช่วยชาติได้เงินคืนสูงสุด 15,000 บาท ข้อเท็จจริงคือนำไปลดหย่อนภาษีตามฐานรายได้ของตนเองได้สูงสุด 15,000 บาท และจะประหยัดภาระภาษีที่ต้องจ่าย 750-5,250 บาทเท่านั้น ไม่ใช่ 15,000 บาทเต็มๆ แต่อย่างใด

     หากเปรียบเทียบกับโครงการช้อปช่วยชาติปีที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 14-30 ธันวาคม 2559 จะสามารถคำนวณการประหยัดภาษีจากค่าลดหย่อน 15,000 บาท ได้ดังนี้

 

 

ทบทวนเงื่อนไขช้อปช่วยชาติ 2559

     สำหรับการช้อปปิ้งที่เข้าเกณฑ์ขอยื่นลดหย่อนภาษีของปีที่ผ่านมานั้นคือค่าสินค้าในร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าซ่อมและอะไหล่รถ ค่าบริการนวดหน้าและสปา ค่ากำเหน็จจากการซื้อทองรูปพรรณ

     นอกจากนี้ยังครอบคลุมค่าบัตรกำนัลบริการ (Gift Voucher) ที่ใช้บริการจริงในช่วงที่กำหนด และค่าสินค้าในร้านปลอดภาษี (Duty Free) ทั้งนี้ไม่นับรวมสุรา เบียร์ ไวน์ และสินค้าที่ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มทุกกรณี และต้องเกิดขึ้นในช่วงเวลาของโครงการที่กำหนดไว้เท่านั้น

     สำหรับภาคเอกชนที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการกระตุ้นการบริโภคอย่างห้างค้าปลีกต่างมองตรงกันว่า บรรยากาศในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้นทำให้ผู้คนไม่อยู่ในอารมณ์ที่อยากจะจับจ่ายใช้สอยเท่าไร เพราะยังโศกเศร้าจากช่วงพระราชพิธีสำคัญที่ผ่านมา การที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกับเศรษฐกิจโดยรวม และขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาของโครงการให้นานขึ้นด้วย

 

 

ยังไม่เคาะช้อปช่วยชาติ

     จากการตรวจสอบล่าสุดของสำนักข่าว THE STANDARD วันนี้ (1 พ.ย.) ทางกระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการหารือและยังไม่ได้ข้อสรุปรายละเอียดของโครงการช้อปช่วยชาติ และยังไม่มีสำนักวิจัยด้านเศรษฐกิจออกมาประเมินคาดการณ์ของเงินสะพัดจากโครงการนี้แต่อย่างใด คงต้องรอทางรัฐบาลประกาศออกมาเสียก่อนว่าโครงการจะมีระยะเวลานานเท่าไร และครอบคลุมส่วนใดบ้าง

     ที่สำคัญที่สุดคือมาตรการนี้จะได้ผลเพียงไร คำตอบน่าจะอยู่ที่เงินในกระเป๋าและความเชื่อมั่นของประชาชน

     หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในเดือนกันยายน 2560 ดัชนีภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ระดับ 64.8 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 เป็นต้นมา

     โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชี้แจงว่า ประชาชนยังเห็นว่าค่าครองชีพสูงกว่าระดับรายได้ และการเพิ่มขึ้นของรายได้ยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

     นี่เป็นปีที่ 3 แล้วที่รัฐบาลจะมอบ ‘ของขวัญ’ คืนกลับให้กับประชาชน ซึ่งแต่ละครั้งจะเท่ากับรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่หายไปนับพันล้านบาท หากเปรียบเทียบตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโตและมีแนวโน้มที่ดีจากตัวเลขการส่งออกและการท่องเที่ยว สิ่งที่สะท้อนสภาพปากท้องของประชาชนได้ดีคงต้องพิจารณาว่าตัวเลขการบริโภคภายในประเทศเป็นอย่างไรกันแน่ คนยังมีเงินช้อปปิ้งอยู่หรือไม่ และแท้จริงแล้วนี่คือของขวัญ หรือเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างที่สะท้อนภาวะที่เปราะบางของเศรษฐกิจไทยกันแน่?

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan/Thiencharas.w

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X