ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ทั้งจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวชะลอลง และปัจจัยในประเทศอย่างการท่องเที่ยวที่ไม่ฟื้นตัว นโยบายควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังไม่มีแนวโน้มผ่อนคลาย โดย EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 เหลือเพียง 6.7 ล้านคน
“การเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจะเป็นไปอย่างระมัดระวังอย่างมากเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดในประเทศ ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลเร็วล่าสุด เช่น Google Mobility จะพบว่าการฟื้นตัวของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณช้าลงหรือมีลักษณะทรงตัวในช่วงหลัง สอดคล้องกับที่ EIC คาดการณ์ไว้ว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปแบบช้าๆ เนื่องจากยังมีหลายอุปสรรคกดดัน”
ขณะที่ปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐภายใต้พระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทกลับมีแนวโน้มเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้ราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ราว 6 แสนล้านบาท นอกจากนี้เม็ดเงินช่วยเหลืออื่นๆ จะน้อยลงมากในช่วงครึ่งปีหลัง อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายด้าน ได้แก่ การปิดกิจการในภาคธุรกิจที่เร่งตัวขึ้นและความเปราะบางในตลาดแรงงาน เห็นได้จากตัวเลขอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 2 ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.95% นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี และจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมที่ลดลงมาก ทำให้รายได้ของแรงงานที่ยังมีงานทำมีแนวโน้มหดตัวลง 11.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกันอุปสงค์ในประเทศทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากพฤติกรรมการออมเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต และความจำเป็นในการซ่อมแซมงบดุลที่ได้รับผลกระทบของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ที่ติดลบ 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทั้งปี 2563 ทาง SCB EIC ยังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย โดยจะติดลบมากขึ้นมาอยู่ที่ 7.8% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 7.3%
เมื่อเศรษฐกิจยังอ่อนแอและมีความไม่แน่นอน EIC คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% และใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านผลของนโยบายการเงินไปยังเศรษฐกิจจริง เช่น การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ ตลอดจนการใช้งบดุลขององค์กรภาครัฐ (Balance Sheet Policy) ในการเพิ่มสภาพคล่องและแบ่งเบาความเสี่ยงจากภาคเอกชนผ่านการใช้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และการใช้เครื่องมือประกันความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Guarantee) เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์