×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: วิเคราะห์เส้นทางพิชิต Electoral College 270 เสียงของโจ ไบเดน

14.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • การที่สหรัฐฯ ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบ Electoral College (EC) หรือผู้สมัครชนะในมลรัฐใดก็กวาดคะแนนเสียง EC ไปทั้งรัฐ ทำให้กลยุทธ์ของแคนดิเดตจึงมุ่งไปที่การดึงคะแนนเสียงในรัฐที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครตอย่างชัดเจน (Swing State)
  • สำหรับ โจ ไบเดน เป้าหมายสำคัญคือการทวงคืน 3 มลรัฐในภูมิภาคมิดเวสต์อย่างมิชิแกน (16 เสียง), วิสคอนซิน (10 เสียง) และเพนซิลเวเนีย (20 เสียง) โดย ฮิลลารี คลินตัน เคยแพ้ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างฉิวเฉียดใน 3 มลรัฐนี้ ซึ่งนำไปสู่ความปราชัยต่อทรัมป์ในท้ายที่สุด แม้ว่าเธอจะมีคะแนน Popular Vote ทั่วประเทศมากกว่าทรัมป์เกือบ 3 ล้านเสียงก็ตาม
  • สิ่งที่ไบเดนและพรรคเดโมแครตจะต้องกังวลก็คือทรัมป์ยังค่อนข้างเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นแรงงานผิวขาว เพราะนโยบายเศรษฐกิจแบบ Protectionism ผ่านการตั้งกำแพงภาษีต่อสู้กับสินค้าจากจีนนั้นเป็นที่ชื่นชอบในประชาชนกลุ่มนี้อย่างมาก
  • เท็กซัสเป็นมลรัฐที่เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันมานาน และไม่เคยโหวตให้เดโมแครตเลยหลังจากยุคของ จิมมี คาร์เตอร์ แต่อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่เท็กซัสจะกลับมาโหวตให้เดโมแครตอีกครั้งในยุคสมัยของทรัมป์

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นไม่ได้ตัดสินกันที่คะแนนดิบจากการโหวตของประชาชนชาวอเมริกัน หรือ Popular Vote โดยตรง แต่เป็นการเลือกผ่านระบบที่เรียกว่า Electoral College (EC) ซึ่งคะแนนเสียง EC จะถูกตัดสินกันด้วยคะแนนดิบในแต่ละมลรัฐโดยใช้ระบบ Winner Takes All กล่าวคือผู้สมัครรายใดได้คะแนนดิบจากการโหวตจากประชาชนในมลรัฐนั้นๆ มากกว่าก็จะได้คะแนน EC จากมลรัฐนั้นไปทั้งหมด และผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียง EC เกินกึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ (คือ 270 จาก 538 เสียง) ก็จะได้รับชัยชนะและได้เป็นประธานาธิบดี

ซึ่งระบบการตัดสินหาผู้แพ้ชนะโดยใช้คะแนน EC นี้ทำให้บางครั้งผู้ที่ได้คะแนน Popular Vote มากกว่าอาจไม่ได้เป็นประธานาธิบดีเสมอไป เพราะไปแพ้คะแนน EC ต่อผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามที่ชนะคะแนนดิบอย่างเฉียดฉิวในมลรัฐที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครตอย่างชัดเจน (Swing State)

โดย 2 ครั้งหลังสุดที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้คือปี 2000 ที่ อัล กอร์ แพ้คะแนน EC ต่อ จอร์จ บุช ผู้เป็นลูกไป 267 ต่อ 271 เสียง ทั้งๆ ที่กอร์ชนะคะแนน Popular Vote ไปกว่า 5 แสนเสียง โดยเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้กอร์แพ้คะแนน EC เกิดจากการที่เขาแพ้ที่มลรัฐฟลอริดาไปอย่างฉิวเฉียดแค่ 537 เสียง และปี 2016 ที่ ฮิลลารี คลินตัน แพ้คะแนน EC ต่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ไป 232 ต่อ 306 เสียง ทั้งๆ ที่คลินตันชนะคะแนน Popular Vote ไปเกือบ 3 ล้านเสียง เพราะเธอไปแพ้ที่ Swing State ที่สำคัญในภูมิภาคมิดเวสต์อย่างมิชิแกน วิสคอนซิน และเพนซิลเวเนีย โดย 3 มลรัฐนี้รวมกัน เธอแพ้คะแนนดิบไปไม่ถึง 8 หมื่นเสียง

บทความนี้จะมาวิเคราะห์กันว่าไบเดนมีทางเลือกในการชนะที่มลรัฐใดบ้าง เพื่อที่จะทำให้คะแนน EC ของเขาขึ้นไปถึง 270 เสียง และก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ผู้นำทำเนียบขาว

1. ทวงคืนมิดเวสต์
ทางเลือกที่ดูจะตรงไปตรงมาที่สุดของไบเดนคือการทวงคืน 3 มลรัฐในภูมิภาคมิดเวสต์อย่างมิชิแกน (16 เสียง), วิสคอนซิน (10 เสียง) และเพนซิลเวเนีย (20 เสียง) ที่คลินตันแพ้ทรัมป์อย่างฉิวเฉียด ทั้ง 3 มลรัฐมีคะแนนเสียง EC รวมกันทั้งหมด 46 เสียง ซึ่งเมื่อนำไปบวกกับคะแนน EC ที่คลินตันมีอยู่เดิมจะทำให้ไบเดนมีคะแนน EC ที่ 278 เสียง และจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป

แต่เดิมนั้น 3 มลรัฐนี้เป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครตที่ผู้แทนของพรรคชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีติดต่อกันมากว่า 3 ทศวรรษ สาเหตุที่พรรคเดโมแครตครองความนิยมใน 3 มลรัฐนี้มาอย่างยาวนาน เพราะทั้ง 3 มลรัฐมีชาวอเมริกันผิวขาวที่เป็นชนชั้นแรงงานและเกษตรกรอยู่เป็นจำนวนมาก และพรรคเดโมแครตมีภาพของความเป็นพรรคของผู้ใช้แรงงาน ในขณะที่พรรครีพับลิกันมีภาพของการเป็นพรรคนายทุน

แต่อย่างไรก็ดี ในปี 2016 ภาพลักษณ์ที่ถูกฉายออกมาในขณะหาเสียงเลือกตั้งกลับออกมาในทิศทางตรงข้าม เพราะคลินตันมีภาพของการเป็นชนชั้นสูงที่ไม่เข้าใจความยากลำบากทางเศรษฐกิจของชนชั้นแรงงานเหล่านี้ ในขณะที่ทรัมป์นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่ต่อต้านการค้าเสรีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมหนักภายในประเทศ (Protectionism) อันเป็นแหล่งงานของคนผิวขาว นอกจากนี้ทรัมป์ยังโจมตีคลินตันและพรรคเดโมแครตว่าออกแต่นโยบายเอาใจคนผิวสี และละเลยที่จะปกป้องผลประโยชน์ของคนผิวขาว ส่งผลให้คนผิวขาวใน 3 มลรัฐนี้หันมาเทคะแนนให้ทรัมป์ จนทำให้ทรัมป์พลิกล็อกเอาชนะคลินตันไปได้อย่างฉิวเฉียด

พรรคเดโมแครตเชื่อว่าปีนี้พวกเขามีโอกาสที่ดีขึ้น เพราะไบเดนมีภาพลักษณ์ของความเป็นชนชั้นกลางที่เติบโตมาในครอบครัวของชนชั้นแรงงาน (ไม่เหมือนกับคลินตัน) ซึ่งน่าจะทำให้คนขาวในเขตมิดเวสต์หันกลับมาโหวตให้เดโมแครตเหมือนเดิม และไบเดนยังนำเสนอนโยบายที่ไม่ซ้ายเท่าสมัยคลินตัน ซึ่งก็น่าจะทำให้คนขาวในเขตนี้ที่มักจะเป็นคนที่มีแนวคิดทางการเมืองอยู่ตรงกลางสบายใจที่จะลงคะแนนให้กับไบเดนมากกว่าสมัยคลินตัน ผลโพลล่าสุดก็ระบุว่ากลยุทธ์นี้ของไบเดนอาจจะได้ผล เพราะเขามีคะแนนในโพลที่นำหน้าทรัมป์อยู่ทั้ง 3 มลรัฐ (เฉลี่ย 4% ที่มิชิแกน, 6% ที่วิสคอนซิน และ 4% ที่เพนซิลเวเนีย)

2. เอาชนะที่ภาคใต้
สิ่งที่ไบเดนและพรรคเดโมแครตจะต้องกังวลก็คือทรัมป์ยังค่อนข้างเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นแรงงานผิวขาว เพราะนโยบายเศรษฐกิจแบบ Protectionism ผ่านการตั้งกำแพงภาษีต่อสู้กับสินค้าจากจีนนั้นเป็นที่นิยมในประชาชนกลุ่มนี้อย่างมาก การพยายามจะทวงคืน 3 มลรัฐข้างต้นผ่านภาพการเป็นชนชั้นกลางของไบเดนเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผล

ไบเดนมีทางเลือกที่จะทำให้คะแนน EC ของเขาถึง 270 โดยที่ไม่ต้องชนะในเขตมิดเวสต์ก็ได้ โดยที่เขาจะต้องไปเอาชนะในมลรัฐทางภาคใต้อย่างฟลอริดา (29 เสียง), จอร์เจีย (16 เสียง) และนอร์ทแคโรไลนา (15 เสียง) แทน ซึ่งถ้าเขาชนะได้ทั้งหมด เขาจะมีคะแนน EC ขึ้นไปที่ 292 เสียง

ในมลรัฐฟลอริดา ไบเดนมีโอกาสชนะจากเสียงชาวฮิสแปนิกที่ไม่พอใจนโยบายกีดกันการอพยพของทรัมป์ รวมทั้งเสียงของผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ล้มเหลวของทรัมป์ (ปกติผู้สมัครจากรีพับลิกันมักจะได้คะแนนเสียงที่สูงกว่าเดโมแครตจากกลุ่มผู้สูงอายุ แต่โพลของการเลือกตั้งรอบนี้ระบุว่าไบเดนมีคะแนนที่เหนือกว่าทรัมป์เพราะความไม่พอใจเรื่องโควิด-19) ซึ่งเสียงของผู้สูงอายุมีความสำคัญมากในฟลอริดา เพราะมลรัฐนี้มีชาวอเมริกันจากทางเหนืออพยพลงมาเกษียณอายุเป็นจำนวนมาก เพราะอากาศที่อบอุ่นและธรรมชาติที่สวยงามอย่างทะเลและชายหาด

ในส่วนของมลรัฐนอร์ทแคโรไลนาและจอร์เจีย ไบเดนมีโอกาสพลิกมาชนะด้วยเสียงของคนผิวดำและคนขาวที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมหานครของสองมลรัฐนี้ (ในกรณีของจอร์เจียคือการเติบโตของเมืองแอตแลนตาที่เป็นศูนย์กลางการเงิน การธนาคาร การศึกษา และการแพทย์ของมลรัฐในเขตภาคใต้ ในส่วนของนอร์ทแคโรไลนานั้นเกิดจากการเติบโตของเมืองชาร์ลส์ตัน ราลี และเดอแรม)

จะเห็นได้ว่าไบเดนสามารถชนะที่ 3 มลรัฐได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงเสียงของชนชั้นแรงงานผิวขาวเลย ซึ่งนับว่าเป็นทางเลือกสำรองที่ดีของเขาในกรณีที่ชนชั้นแรงงานผิวขาวยังคงเทคะแนนเสียงให้ทรัมป์ โพลล่าสุดระบุว่าคะแนนเสียงของทั้งคู่ยังสูสีกันมากใน 3 มลรัฐนี้ (ไบเดนนำเฉลี่ยที่ 1% ที่ฟลอริดาและนอร์ทแคโรไลนา แต่ตาม 1% ที่จอร์เจีย)

3. ชนะรางวัลใหญ่ที่เท็กซัส
อีกทางเลือกของไบเดนคือการเอาชนะรางวัลใหญ่อย่างเท็กซัส ซึ่งมีคะแนน EC สูงถึง 38 เสียง ซึ่งถ้าไบเดนชนะที่นี่และรักษามลรัฐเดิมของคลินตันไว้ได้ เขาก็จะได้คะแนน EC ถึง 270 เสียงในทันทีโดยไม่ต้องไปพึ่งพามลรัฐใดอีก

เท็กซัสเป็นมลรัฐที่เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันมานาน และไม่เคยโหวตให้เดโมแครตเลยหลังจากยุคของ จิมมี คาร์เตอร์ แต่อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่เท็กซัสจะกลับมาโหวตให้เดโมแครตอีกครั้งในยุคสมัยของทรัมป์ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ

 

  • เท็กซัสเป็นมลรัฐที่มีชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกันอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกันเหล่านี้ไม่พอใจทรัมป์อย่างมากที่ออกมาพูดดูถูกตนตลอดเวลา รวมทั้งนโยบายกีดกันการอพยพของเขา

 

  • เท็กซัสมีมหานครใหญ่อยู่ถึง 3 มหานครในรัฐ อันได้แก่ ฮิวสตัน, ดัลลัส และออสติน ซึ่งทั้ง 3 มหานครที่รายล้อมไปด้วยชานเมือง (Suburb) ที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในชานเมืองเหล่านี้มักเป็นคนมีการศึกษาและมีฐานะดีในระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้เดิมมักจะโหวตให้กับรีพับลิกัน แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้กลับหันมาเทคะแนนให้เดโมแครตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพวกเขาทนกับพฤติกรรมหลายๆ อย่างของทรัมป์ไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ประชาชนมองว่าทรัมป์โกหก ใช้คำพูดเหยียดผิว เหยียดเพศ การชอบโอ้อวด และส่งเสริมการใช้ความรุนแรง ซึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2018 ที่ผ่านมา พรรครีพับลิกันก็เสียที่นั่งในเขตชานเมืองของเท็กซัสให้กับเดโมแครตไปหลายที่นั่ง อีกทั้งโพลล่าสุดระบุว่าทรัมป์ยังเป็นต่ออยู่เล็กน้อยที่เท็กซัส โดยมีคะแนนนำอยู่ที่ราวๆ 3%

 

4. หยิบหลายๆ อย่างมาผสมกัน รวมทั้งแอริโซนา

อีกความเป็นไปได้คือไบเดนอาจชนะแค่บางมลรัฐในแต่ละภูมิภาค ซึ่งพอนำคะแนน EC มาสะสมรวมกันก็อาจจะถึง 270 เสียงได้ในที่สุด ในกรณีนี้ไบเดนอาจจำเป็นต้องพึ่งอีก 11 เสียงของแอริโซนา ซึ่งเป็นมลรัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ มลรัฐนี้ไบเดนมีโอกาสพลิกมาชนะด้วยเหตุผลที่คล้ายๆ กับเท็กซัส คือแอริโซนาเป็นมลรัฐที่มีชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกันอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และมีมหานครขนาดใหญ่อย่างฟีนิกซ์ โดยโพลล่าสุดระบุว่าไบเดนนำที่แอริโซนาอยู่ที่ราวๆ 4%

ผลจะเป็นเช่นไร ไบเดนจะทำได้ตามเป้าหมายโดยกวาดคะแนนเสียง EC ได้ 270 เสียงเป็นอย่างต่ำหรือไม่ หรือจะเป็นทรัมป์ที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่ออีกสมัย อีกไม่นานเกินรอก็จะได้ทราบผลกันแล้ว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X