นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ช่วงที่ผ่านมาภาครัฐออกนโยบาย และมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยหลายมาตรการ โดยเฉพาะมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อพยุงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ไว้
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาลูกหนี้ที่เข้าโครงการช่วยเหลือต่างๆ ในกลุ่มลูกหนี้รายย่อยแบ่งเป็น สินเชื่อรถยนต์ 54% สินเชื่อที่อยู่อาศัย 35% สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 23% สาเหตุที่สินเชื่อรถยนต์มีจำนวนการเข้าโครงการมากกว่าสินเชื่อประเภทอื่น เพราะเป็นมาตรการพักชำระหนี้
“มาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยรอบแรกผ่านมาแล้ว เห็นการกลับมาจ่ายชำระหนี้ค่อนข้างดี ถือเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาตรการรวมหนี้มาเพิ่มเติมก็คาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับเป็น Term Loan และอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง แต่มองว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยลูกหนี้ได้ในวงกว้าง หากเปิดให้รวมหนี้ข้ามสถาบันการเงินได้ ซึ่งคาดว่ามีการพูดคุยเรื่องเงื่อนไขนี้อยู่”
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ออกมา จุดที่ต้องจับตามองคือ ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs เกือบ 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ที่แม้จะเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ (ส่วนหนึ่งเพราะมีเกณฑ์ให้ SMEs เข้าโครงการโดยอัตโนมัติ) แต่สถานการณ์ของ SMEs ยังเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น Soft Loan (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) เบื้องต้นคาดว่าจะมีการปรับเกณฑ์และลดข้อจำกัดเพื่อให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อฯ ต่างๆ ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ SMEs ถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะมีการจ้างงานหลักในตลาดแรงงานไทย และหากดูจากหนี้เสีย (NPL) ของไทยที่มีอยู่ราว 5.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น NPL ราว 3.1% มีสัดส่วนเป็นหนี้เสียของ SMEs อยู่ราว 55% หรือคิดเป็นมูลค่า 2.3 แสนล้านบาท ดังนั้นถือเป็นจุดสำคัญที่รัฐต้องสนับสนุนและให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ทาง TMB Analytics คาดว่าภาพรวม NPL ณ สิ้นปี 2563 นี้จะอยู่ที่ 3.6% เพิ่มขึ้นจากช่วงกลางปี 2563 นี้ที่อยู่ระดับ 3.1% (มูลค่า 5.5 แสนล้านบาท) โดยมองว่ามูลค่า NPL จะไม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะบางส่วนมีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว และจะเห็นสถานการณ์หนี้เสียชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงหลังไตรมาส 3/63 ที่ซึ่งมาตรการช่วยเหลือระยะแรกของ SMEs จะสิ้นสุดลง และ SMEs บางส่วนอาจเข้ามาตรการช่วยเหลือระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือ SMEs ในต่างประเทศมีหลายรูปแบบ เช่น การให้สินเชื่อ Soft Loan การรักษาการจ้างงานของ SMEs ผ่านการทำ Co-pay โดยภาครัฐออกเงินอุดหนุนให้ธุรกิจ SMEs คงการจ้างงานในบริษัทตนต่อไป โดยอาจจะดูจากรายได้ กำไร หรือการจ้างงานในปีที่ผ่านมา หากเข้าเกณฑ์รัฐบาลจะเข้าอุดหนุนการจ้างงานในองค์กรบางส่วน โดยตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ในสหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา มีมาตรการจะให้การช่วยเหลือการจ้างงานในภาพรวม โดยไม่ได้เจาะจงที่ SMEs เท่านั้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์