เมื่อช่วงเย็นของวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น Facebook ได้เปิดเผยจำนวนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในสหรัฐอเมริกาที่พบเห็นโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองจากรัสเซียบนแพลตฟอร์มของพวกเขาในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2016 ว่ามีสูงถึง 126 ล้านคน และเชื่อว่าทั้งหมดน่าจะเป็นผลงานของ ‘Kremlin Ties’ หน่วยงานวิจัยในรัสเซียที่มักจะโพสต์ข้อมูลข่าวสารยั่วยุพลเมืองเน็ตให้เกิดความเข้าใจผิดอยู่เป็นประจำ
ขณะที่ Youtube บริษัทในเครือ Google บอกเช่นกันว่า พบแชนแนลจำนวน 18 แห่งที่อัพโหลดคลิปวิดีโอภาษาอังกฤษกว่า 1,108 ชิ้น ซึ่งบางชิ้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและมียอดคลิกดูรวม 309,000 ครั้ง จากเงินซื้อโฆษณาจำนวน 4,700 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 156,000 บาท โดยที่คลิปวิดีโอทั้งหมดมาจากบริษัทของรัสเซียในช่วงหาเสียงเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว
ด้าน Twitter ให้ข้อมูลว่า บริษัทได้กำจัดแอ็กเคานต์ผู้ใช้งานจำนวน 2,750 รายชื่อที่คาดว่าน่าจะมีส่วนรู้เห็นกับข่าวเท็จหรือการชี้นำผู้ใช้งานรายอื่นๆ ในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ 2016 ไปเรียบร้อยแล้ว
บริษัทโซเชียลมีเดียระดับโลกเหล่านี้ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแทบจะพร้อมๆ กัน ก่อนที่ทนายความของแต่ละบริษัทจะเดินทางเข้าพบวุฒิสภาคณะกรรมการข่าวกรองประจำสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงว่าพวกเขาเปิดช่องโหว่ปล่อยให้บริษัทจากรัสเซียแพร่ข่าวลวง ปลุกปั่น และใช้โฆษณาชวนเชื่อสร้างความเข้าใจผิดแก่พลเมืองสหรัฐฯ ในช่วงเลือกตั้งได้อย่างไร
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาเบื้องต้นกับการซื้อโฆษณาโพสต์ข่าวลวงและข่าวปลุกปั่นในอนาคต Facebook ได้เน้นย้ำว่าผู้ที่จะซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มจะต้องถูกตรวจสอบทั้งจากพนักงาน Facebook เองและผู้ใช้งานรายอื่นๆ โดยจะให้พนักงานใหม่จำนวน 1,000 คนจับตาและเฝ้าระวังโพสต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นพิเศษ
อ้างอิง: