×

เมื่อ Tencent เป็นเหยื่อรายต่อไปของสงครามการค้า กับผลกระทบที่อาจมากกว่าแค่ WeChat

โดย THE STANDARD TEAM
20.08.2020
  • LOADING...
Tencent

HIGHLIGHTS

  • คำสั่งแบน TikTok ของประธานาธิบดีสหรัฐออกมาพร้อมกับคำสั่งแบนไม่ให้บริษัทสหรัฐ ‘ทำธุรกรรม’ กับ WeChat และ Tencent
  • ความกำกวมของคำสั่งเปิดให้ตีความได้หลายอย่าง รวมถึงไม่ระบุชัดเจนว่าสเกลการห้ามทำธุรกรรมนั้น หมายรวมถึงนอกสหรัฐฯ หรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้น บริษัทสหรัฐฯ ก็จะได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย
  • แม้คำสั่งดังกล่าวอาจตีความได้ว่ามีผลแค่กับ WeChat ในสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะหยุดแค่นี้ เพราะทรัมป์เพิ่งออกมาบอกว่ากำลังเพ่งเล็งบริษัทจีนอื่นๆ ถัดจาก Huawei และ ByteDance ที่โดนแบนไปแล้วก่อนหน้านี้

เกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) แบน TikTok อย่างเป็นทางการ และให้เวลา ByteDance บริษัทแม่ 45 วันในการขาย TikTok ในสหรัฐฯ (ก่อนจะเพิ่งขยายเวลาเป็น 90 วันเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา) 

 

แต่ที่สร้างเซอร์ไพรส์และไม่มีมูลมาก่อนคือ ทรัมป์สั่งแบน WeChat แพลตฟอร์มแชทของ Tencent ไปพร้อมๆ กันด้วย และต้นเหตุของคำสั่งประธานาธิบดีของทรัมป์ที่มีต่อ WeChat ครั้งนี้ก็ไม่ค่อยแตกต่างจากกรณีของ TikTok โดยอ้างเหตุผลคล้ายกันว่าเก็บข้อมูลผู้ใช้จำนวนมาก และเปิดให้รัฐบาลจีนเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกัน ไปจนถึงการเซนเซอร์ข้อมูลจากรัฐบาลจีน 

 

กรณีของ WeChat ค่อนข้างมีประวัติด้านลบมากกว่า TikTok อยู่ไม่น้อย อย่างช่วงกลางปีที่ผ่านมา The New York Times ก็รายงานโดยอ้างอิงจากอดีตพนักงาน Huawei ที่บอกว่าตัวเองถูกตำรวจจับ เพราะไปพูดถึงกรณีที่ Huawei แอบขายของให้กับอิหร่าน (ที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่า Huawei ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ จนนำไปสู่การจับกุมเมิ่งหว่านโจว ตำแหน่ง CFO และลูกสาวผู้ก่อตั้ง Huawei) ผ่าน WeChat 

 

เหตุการณ์การดักข้อมูลในห้องแชตแบบนี้ของ WeChat ถูกตอกย้ำเพิ่มเติมด้วยรายงานจาก Citizen Lab บริษัทวิจัยความปลอดภัยที่เปิดเผยว่า WeChat มีการดักและตรวจสอบแชตกับผู้ใช้งานนอกจีน เพื่อนำไปสร้างเป็นฐานข้อมูลสำหรับการเซนเซอร์เนื้อหาแบบเรียลไทม์

 

ดังนั้นการออกคำสั่งครั้งนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ จึงเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ถ้ามองจากมุมมองด้านความปลอดภัยและความมั่นคง อย่างไรก็ตามตัวคำสั่งประธานาธิบดีระบุชัดเจนว่า ‘ห้ามทำธุรกรรม’ กับ WeChat และ Tencent บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีนอีกรายที่มีอิทธิพลด้านสื่อและความบันเทิง

 

แม้ตัวคำสั่งจะค่อนข้างกำกวมและไม่ชัดเจนว่า ‘ธุรกรรม’ ในคำสั่งประธานาธิบดีนั้นมีขอบเขตแค่ไหนและอย่างไร แต่ดูจากการดำเนินนโยบายที่ผ่านมาก็อาจพอคาดการณ์ได้ว่า WeChat เป็นแค่หมากแรกในการเดิมเกมเพื่อบีบ Tencent เพราะทรัมป์เองก็เคยออกมาบอกว่ากำลังเพ่งเล็งบริษัทจีนอื่นๆ ในสหรัฐฯ อยู่ (นอกเหนือจาก Huawei และ ByteDance)

 

อย่างไรก็ตามผลกระทบที่ ‘อาจ’ ตามมาอาจมากกว่าแค่ WeChat หากเพราะ Tencent ก็ลงทุนในสหรัฐฯ หลายอย่าง รวมถึงอาจกระทบบริษัทสหรัฐฯ เองที่สร้างรายได้จากจีนโดยมี Tencent เป็นตัวกลางหรือตัวเชื่อม

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า WeChat หรือ Weixin ในจีน ไม่ใช่เป็นแอปฯ แยกเหมือน TikTok/Douyin เพราะตัวแอปฯ เป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน แค่คนละชื่อเท่านั้น รวมถึงไม่ได้เป็นแค่แอปฯ แชตเหมือน LINE แต่มีความเป็นซูเปอร์แอปฯ เพราะถูกใช้งานทั้งเป็นกระเป๋าเงิน (wePAY) แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลต, แพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์, แพลตฟอร์ม O2O (Online to Offline), แอปฯ อ่านข่าว ฯลฯ เรียกได้ว่ามีอิทธิพลกับผู้ใช้งานจีนค่อนข้างสูง

 

ทำให้บริษัทตะวันตกหลายเจ้าเช่น Nike, Coca-Cola หรือแม้แต่ Walmart ทำตลาดและขายของในจีนผ่านแพลตฟอร์ม WeChat เป็นหลัก ดังนั้นหากคำสั่งแบนมีผลนอกเหนือจากแค่ WeChat ในสหรัฐฯ บริษัทอเมริกันเหล่านี้ก็อาจได้รับผลกระทบไม่น้อย

 

อีกหนึ่งบริษัทสัญชาติอเมริกันที่อาจได้รับผลกระทบหนัก หากการแบนมีผลนอกสหรัฐฯ ด้วยคือ Apple เพราะอาจจะต้องนำแอปฯ WeChat ออกจาก App Store ของตัวเอง (Play Store ของ Google ก็จะโดนด้วย แต่จีนมีอีโคซิสเท็มฝั่งแอนดรอยด์ของตัวเอง เลยไม่น่าจะกระทบมาก) ขณะที่จีนเป็นตลาดสำคัญตลาดหนึ่ง โดย Bloomberg คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจีนของ Apple อาจอยู่ที่ราว 4.4 หมื่นล้านเหรียญ และเนื่องด้วย WeChat เป็นแอปฯ สำคัญของคนจีน หากหายไปจากสโตร์​ ยอดขาย iPhone ในจีนก็น่าจะหายไปไม่น้อยเหมือนกัน

 

ขณะที่ทางฝั่ง Tencent เองไม่ได้ทำธุรกิจในสหรัฐฯ แค่ WeChat เท่านั้น (จริงๆ ตลาด WeChat ในสหรัฐฯ ถือว่าเล็กมากเทียบกับทั่วโลก) แต่ Tencent ลงทุนในหลากหลายธุรกิจในสหรัฐฯ เช่นถือหุ้น 5% ใน Tesla, 12% ใน Snap ผู้พัฒนา Snapchat และลงทุนมูลค่า 300 ล้านเหรียญใน Reddit โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตูดิโอเกมที่เป็นเหมือนหนึ่งในเป้าหมายการลงทุนหลักของ Tencent

 

สตูดิโอเกมสหรัฐฯ ที่ Tencent เข้าไปถือหุ้นก็มี 

 

  • Riot Games สตูดิโอพัฒนาเกมชื่อดังอย่าง League of Legends และ Valorant ที่ Tencent (ถือหุ้น 100%)

 

  • Epic Games ผู้พัฒนาเอนจินเกม Unreal Engine และเกม Fortnite ที่มีจำนวนผู้เล่นไม่ต่ำกว่า 250 ล้านคนทั่วโลก (ถือหุ้น 40%)
  • Activision Blizzard บริษัทแม่ของสตูดิโอ Activision (Call of Duty), Blizzard (World of Warcraft) และ King (Candy Crush) (ถือหุ้น 5%)

 

 

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังคาดด้วยว่ารายได้จากธุรกิจเกมนอกจีนของ Tencent กว่า 1 ใน 4 ยังมาจากสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะมาจาก Riot Games ที่ Tencent เป็นเจ้าของ และมีเกมที่ทำเงินได้มหาศาลอย่าง League of Legends

 

ดังนั้นหากรัฐบาลสหรัฐฯ จะเดินหน้าบีบ Tencent เคสที่อาจจะกระทบมากที่สุดคือการถูกบีบให้ขาย Riot Games เหมือนกับที่ ByteDance โดนกับกรณี TikTok 

 

อย่างไรก็ตามหลังจากการตีความคำสั่งประธานาธิบดี Tencent มองว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลเฉพาะ WeChat ในสหรัฐฯ เท่านั้น ไม่รวมบริการในประเทศอื่น รวมถึงไม่รวมธุรกิจอื่นของ Tencent ในสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งหากพิจารณาจากคำสั่งประธานาธิบดีฉบับดังกล่าวก็ค่อนข้างมีน้ำหนักกับการตีความดังกล่าว แต่ใครจะรู้ว่าหลังจากนี้ ทรัมป์จะงัดลูกเล่นอะไรออกมาจากใต้พรมเพื่อบีบบริษัทจีนอีก

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising