วันนี้ (19 สิงหาคม) ที่รัฐสภา (เกียกกาย) ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการยื่นญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และกรณีที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เตรียมยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยุบพรรคก้าวไกล ในข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองเเละล้มล้างสถาบันฯ โดยระบุว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ยื่นแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อีก เนื่องจากพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นไว้เเล้ว และในเมื่อรายชื่อครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เเล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ เพียงเเต่เราขอสงวนความเห็นไว้ในสาระสำคัญบางประเด็น และพรรคก้าวไกลจะเข้าร่วมอภิปรายเมื่อญัตตินี้เข้าสู่รัฐสภา ส่วนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่พรรคก้าวไกลจะยื่นต่อไปหลังจากนี้ คือการปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยจะเสนอให้ยกเลิกมาตรา 269-272 ที่เปรียบเสมือนกล่องดวงใจในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร
ชัยธวัชกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกล ก้าวล่วงหรือล้มล้างการปกครอง เราเห็นว่าไม่น่าจะส่งผลดีต่อสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ ประเทศไทยมีบทเรียนมาแล้วตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 ว่าการหยิบยกเอาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาโจมตีกันแบบนี้ ไม่ได้ส่งผลดีอย่างใดเลย ปรากฏการณ์ในวันนี้ได้สะท้อนให้เห็นแล้ว และเรามีความเห็นว่ามีบางฝ่ายบางกลุ่มพยายามยกเรื่องนี้มาเพื่อขัดขวางการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านการตั้ง สสร. รวมถึงต้องการกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง หรือปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องของนักศึกษาประชาชนที่กำลังลุกขึ้นมาทั่วประเทศในขณะนี้ ซึ่งจะยิ่งทำให้การเมืองเดินไปสู่ทางตัน
“พรรคก้าวไกลยังยืนยันว่า ทางออกที่ดีทีสุดคือการตั้ง สสร .เพื่อทำให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน และแสวงหาฉันทามติว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เรายอมรับร่วมกันนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร” ชัยธวัชกล่าว
ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า ส่วนในประเด็นเกี่ยวกับหมวด 1 และหมวด 2 ตนขอย้ำอีกครั้งว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตอนนี้ เพียงการสงวนความเห็นไว้นั้น ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการคือ
- ไม่มีความจำเป็นใดๆ เนื่องจากในส่วนของรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ได้จำกัดไว้เเล้ว กำหนดขอบเขตของการเเก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เเล้วว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงการเปลี่ยนเเปลงรูปแบบของรัฐ คือราชอาณาจักรนั้น จะกระทำมิได้ ดังนั้นเราจึงบอกว่ามันไม่มีความจำเป็น เพราะจะไปสร้างความเข้าใจผิดว่าหมวด 1-2 แก้ไขไม่ได้ ทั้งๆ ที่มีการแก้ไขมาโดยตลอด รวมทั้งตอนที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ด้วย
- การเขียนล็อกไว้ว่าแก้ไขไม่ได้ เราเห็นว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่มีการชุมนุมเรียกร้องของนักศึกษาและประชาชนข้างนอก ซึ่งที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลเรียกร้องให้สังคมมีวุฒิภาวะในการฟังพวกเขา และเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรากังวลว่าการล็อกไว้จะเป็นการไปลดวุฒิภาวะของสังคมในการรับฟังกัน และจะทำให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนเเรง อีกทั้งในส่วนของการตั้ง สสร. เมื่อมีการเลือกตั้งขึ้นมาแล้ว สสร. จะเป็นตัวแทนของหลากหลายความคิด ไม่สามารถที่จะมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผูกขาดว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในแนวทางแบบนี้ได้ทั้งหมด
“เชื่อว่าหาก สสร. ทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่า สสร. เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยเสรี ที่ทุกคนจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ เราจะหาจุดสมดุลได้ เเละเป็นทางออกที่สันติสำหรับการเมืองไทยได้ ในทางกลับกัน ถ้าเราทำให้ สสร. มีกำเเพงให้กับคนอีกจำนวนมาก ว่าไม่ฟังเสียงเเละความคิดเห็นของพวกเขา ไม่ใช่พื้นที่ของพวกเขา พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วม แทนที่ สสร. จะกลายเป็นทางออกก็จะกลายเป็นทางตัน” ชัยธวัชกล่าว
ชัยธวัชกล่าวอีกด้วยว่า กรณีที่มีบุคคลอ้างเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 มาใช้ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเป็นการล้มล้างสถาบันฯ นั้น ตนขออธิบายว่าเรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิด ย้ำอีกครั้ง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมีการตั้ง สสร. ไม่ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง เพียงแต่เสนอแนะว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นั้น ควรจะมีการทำประชามติก่อน ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ให้มี สสร. ขึ้นมา ย่อมไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง และรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้อยู่แล้วว่าหากมีการแก้ไขมาตรา 256 จะต้องมีการทำประชามติก่อนทูลเกล้าฯ หากรัฐสภาพิจารณาผ่าน 3 วาระไปแล้ว ดังนั้นเราก็มองไม่เห็นว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด
ชัยธวัชกล่าวทิ้งท้ายว่า ในวันพรุ่งนี้พรรคก้าวไกลจะมีการหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคก้าวไกลจะเสนอในเรื่องการเเก้ไขมาตรา 269-272 ในการปิดสวิตช์ ส.ว. เพียงแต่ว่าพรรคก้าวไกลมี ส.ส. แค่ 54 เสียง ไม่ถึง 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอเสียงพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย ก่อนจะเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ทันในสมัยประชุมนี้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์