วันนี้ (18 สิงหาคม) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
- อนุมัติและรับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะตามมติที่ประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 โดยมีการปรับแผนที่สำคัญ ดังนี้
- ปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (Revenue Shortfall) ในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 214,093.92 ล้านบาท
- นำรายการหนี้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ออกจากแผนฯ เนื่องจากได้พ้นสถานภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้หนี้เงินกู้ของ THAI ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย
- การปรับกรอบและวงเงินของการบริหารหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุน FIDF)
ทั้งนี้ การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะข้างต้น ส่งผลให้วงเงินตามแผนเดิมมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
- แผนการก่อหนี้ใหม่ปรับเพิ่มสุทธิ 158,521.85 ล้านบาท จากเดิม 1,497,498.55 ล้านบาท เป็น 1,656,020.40 ล้านบาท
- แผนการบริหารหนี้เดิมปรับลด 67,267.64 ล้านบาท จากเดิม 1,035,777.74 ล้านบาท เป็น 968,510.10 ล้านบาท
- แผนการชำระหนี้ปรับลด 22,329.31 ล้านบาท จากเดิม 389,373.21 ล้านบาท เป็น 367,043.90 ล้านบาท
- อนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (Revenue Shortfall) ในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 214,093.92 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2563 โดยการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินตาม พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และสอดคล้องกับ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องรักษาระดับเงินคงคลังไว้ในระดับที่จําเป็น เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอสําหรับการเบิกจ่ายเพื่อการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งการกู้เงินเพิ่มเติมดังกล่าวจะส่งผลให้รัฐบาลมีระดับเงินคงคลังเพียงพอรองรับการเบิกจ่ายของหน่วยงาน
การปรับปรุงแผนฯ ข้างต้นส่งผลให้ประมาณการยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีจำนวน 8.21 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ระดับ 51.64% ซึ่งไม่เกิน 60% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล