“หากมียาที่ทำให้คุณได้รับพลังเหนือมนุษย์ภายในเวลา 5 นาที คุณจะใช้ทำอะไร”
ประโยคที่แสดงให้เห็นถึงคอนเซปต์สำคัญจาก Project Power ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่เรื่องล่าสุดจาก Netflix ที่พยายามสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ที่แตกต่างจากภาพยนตร์แนวเดียวกันได้อย่างน่าสนใจ
Project Power ได้ เฮนรี จูสต์ และ เอเรียล ชูลแมน เจ้าของผลงาน Paranormal Activity ภาคที่ 3 และ 4 ร่วมด้วย แมตต์สัน ทอมลิน หนึ่งในทีมเขียนบทจากภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่สุดดาร์กเรื่องใหม่จากฝั่ง DC อย่าง The Batman มารับหน้าที่สร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้
แม้ว่าเรื่องราวของ Project Power อาจมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่หากมองในภาพรวมทั้งหมดแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่อีกหนึ่งเรื่องที่สร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ดูแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ให้กับผู้ชมได้ดีทีเดียว
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อกลุ่มค้ายาปริศนากลุ่มหนึ่งได้ปรากฏตัวขึ้น ณ เมืองนิวออร์ลีนส์ และออกจำหน่าย ‘Power’ ยาเถื่อนที่มอบพลังเหนือมนุษย์ให้กับผู้ใช้เป็นเวลา 5 นาที เป็นเหตุให้เกิดคดีร้ายแรงจากเหล่าผู้ใช้ยาชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้ แฟรงก์ (โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์) นายตำรวจแห่งเมืองนิวออร์ลีนส์ ได้ตัดสินใจร่วมมือกับ โรบิน (โดมินิก ฟิชแบ็ก) เด็กสาวผู้เป็นหนึ่งในคนขาย Power ออกตามล่ากลุ่มค้ายาปริศนาในครั้งนี้ไปพร้อมกับ อาร์ต (เจมี ฟ็อกซ์) อดีตนายทหารฝีมือเยี่ยม ถูกกลุ่มค้ายาปริศนาลักพาตัวลูกสาวของตัวเองไป
หนึ่งในปัญหาเรื่องที่เรารู้สึกได้อย่างชัดเจนในระหว่างที่รับชมคือ เส้นเรื่องที่ดูเรียบง่ายเกินไป จนทำให้เราสามารถเดาแนวทางและเรื่องราวได้ไม่ยากนัก ซึ่งส่งผลให้เมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงจุดคลายปมสำคัญ ไม่สามารถทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างที่ควรจะเป็น
รวมถึงฉากแอ็กชันบางฉากที่ผู้กำกับเลือกใช้มุมกล้องที่เหวี่ยงไปมาจนเกินไป ทำให้เรารู้สึกมึนงง และไม่รู้ว่าจะโฟกัสกับสถานการณ์ไหนก่อนดี ส่วนฉากแอ็กชันที่ทำออกมาได้ดีมากๆ ก็มักเป็นฉากที่สั้นและกระชับ ซึ่งทำให้เรารู้สึกเสียดายพอสมควรที่ไม่ได้เห็นฉากแอ็กชันสนุกๆ ที่ตัวละครหลักของเรื่องต้องเผชิญหน้ากับเหล่าผู้ใช้ยา Power อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่านี้
แต่อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่า แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่เพราะเนื้อเรื่องที่เรียบง่าย ทำให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวของ Project Power ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลในการกระทำของกลุ่มค้ายาปริศนาและต้นกำเนิดของยา Power ที่ไม่ได้สลับซับซ้อนจนเกินไป
โจทย์ยากของ Project Power อยู่ที่การตีโจทย์พลังพิเศษที่มีความคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่หลายๆ เรื่องให้มีความแตกต่าง ซึ่งพวกเขาก็สามารถสร้างสรรค์ต้นกำเนิดและเงื่อนไขของ Power อย่างมนุษย์เพลิง มนุษย์ล่องหน ฯลฯ ที่แม้จะเคยเห็นมาบ้าง แต่ก็ดีไซน์ออกมาได้มีเอกลักษณ์และน่าสนใจ
นอกจากนี้ Project Power ยังสอดแทรกมุกตลกเล็กๆ น้อยๆ ตามแบบฉบับของภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่เอาไว้อย่างพอเหมาะ ช่วยเข้ามาเสริมให้เนื้อเรื่องที่เรียบง่ายมีสีสันมากยิ่งขึ้น
รวมถึงเคมีที่เข้ากันของ 3 นักแสดงนำ อย่าง เจมี ฟ็อกซ์ (Ray, Django Unchained), โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์ (Inception) และ โดมินิก ฟิชแบ็ก (Night Comes On) ที่ช่วยกันรับส่งมุกตลกกันของโรบินและแฟรงก์ รวมถึงฉากดราม่าระหว่างอาร์ตและโรบิน ต่างเป็นส่วนผสมที่สร้างสีสันและความสนุกสนานให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะการตอกย้ำคำถามสำคัญที่ว่า ถ้ามี ‘พลัง’ พิเศษขึ้นมา คุณจะเอาไปใช้มันทำอะไร ซึ่งหลายๆ ตัวอย่างจากภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาอยู่ตลอดว่า ‘พลัง’ หรือ ‘อำนาจ’ นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า ‘คนใช้’ จะนำไปสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ หรือเอาไปใช้เพื่อ ‘ทำลาย’ เท่านั้นเอง
ภาพประกอบโดย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล