×

อนาคตของอุตสาหกรรมวิ่ง-การแข่งขันกีฬามวลชนไทยหลังวิกฤตโควิด-19 กับโอกาสที่จะตามมาจากการสร้างมาตรฐานใหม่ในวันนี้

17.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • ช่วงปลายปี 2019 นับเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมการจัด Mass Participation Sports โดยเฉพาะงานวิ่งตั้งแต่ระยะสั้นจนถึงมาราธอนเติบโตสูงสุดในไทย โดยมีรายงานว่าในหนึ่งสัปดาห์จะมีงานวิ่งถึง 80-100 งานทั่วประเทศ 
  • จากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมการรวมตัวแบบงานวิ่งต้องระงับลงเป็นกิจกรรมแรกๆ และอาจจะเป็นกิจกรรมท้ายๆ ที่สามารถกลับมาจัดได้อย่างเต็มรูปแบบ 
  • วันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ทาง สสส. ได้ร่วมกับหน่วยงานรัฐ สมาคมกีฬา และผู้จัดงานในการเสวนาหามาตรฐานและมาตรการจัดการแข่งขันที่ปลอดภัย เพื่อนำอุตสาหกรรมกลับสู่การเติบโตอีกครั้ง 
  • อุตสาหกรรมวิ่งไทยมีโอกาสยกระดับมาตรฐานการจัดงานทั้งด้านความปลอดภัยและมาตรฐานระดับพื้นฐานเพื่อสร้างการติบโตสู่ระดับสากล ดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Sport Tourism) ในวันที่โลกกลับคืนสู่สภาวะปกติ 

“เราเป็นสิ่งแรกๆ ที่จะต้องปิดหรือหยุดการทำกิจกรรม และจะเป็นกิจกรรมท้ายๆ ที่สามารถกลับมาดำเนินการได้” 

 

คือคำพูดที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการจัดงาน Mass Participation Sport หรือกีฬามวลชนทั่วโลกกล่าวถึงวิกฤตโควิด-19 เมื่อกิจการหลักของพวกเขาคืองานที่ผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากตั้งแต่ระดับอีลีทจนถึงผู้คนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นงานวิ่งตั้งแต่ระดับฟันรันจนถึงงานวิ่งมาราธอนระดับเวิลด์เมเจอร์ 

 

 

ในวันที่กีฬาที่จัดขึ้นเพื่อการรวมตัวกลายเป็นความเสี่ยงขั้นสูงในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมเกือบทุกชนิดต้องหยุดลง 

 

แต่หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในหลายประเทศเริ่มต้นดีขึ้น โดยเฉพาะประเท​ศไทย ซึ่งไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อที่เกิดขึ้นภายในประเทศมาเป็นเวลาหลายสิบวัน วันนี้งานกีฬาที่เกี่ยวข้องกับ Mass Participation เริ่มต้นกลับมาทำได้ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง 

 

 

โดยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานเสวนา ‘Back to Thailand Running Boom’ ขึ้นที่สำนักงาน โดยมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชนผู้จัดงาน รวมถึงสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือมาตรการจัดการแข่งขันในช่วงเวลาที่หลายอุตสาหกรรมกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคหลังวิกฤตโควิด-19 แบบ New Normal หรือความปกติใหม่ 

 

โดยจากการเข้าร่วมเสวนา THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยถึงความเปลี่ยนแปลง และโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเริ่มต้นกลับมาจัดการแข่งขันกีฬาแบบ Mass Participation ได้ภายในประเทศไทย

 

New Normal ของการจัดงานวิ่งมาราธอน

หลังจากมาตรการทยอยปลดล็อกของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) สุดท้ายกีฬาหลายชนิดก็สามารถกลับมาจัดการแข่งขันได้ 

 

 

ช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการทดลองจัดการแข่งขันวิ่งครั้งใหญ่อย่างน้อยถึง 2 ครั้ง ตั้งแต่การจัดงานเดิน-วิ่งสาธิตวิถีใหม่ ‘The Next Normal of Road & Trail Races’ ที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี และการแข่งขันวิ่ง ‘รัน ระยอง’ ณ สวนศรีเมือง จังหวัดระยอง เพื่อเป็นการทดสอบมาตรการจัดการแข่งขันอย่างปลอดภัยเพื่อเป็นต้นแบบของการจัดงานวิ่งต่อจากนี้ 

 

THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รัฐ จิโรจน์วณิชชากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ผู้จัดงานวิ่งบางแสน 21 ฮาล์ฟมาราธอน รายการเดียวของไทยที่ได้การรับรองจากสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (World Athletics) ในมาตรฐานระดับทอง (Gold Label) และเมืองแรกของเอเชียที่ได้ Label จาก World Athletics รวดเดียว 3 งาน ทั้งบางแสน 21 ฮาล์ฟมาราธอน ได้รับ Gold Label, บางแสน 42 ชลบุรีมาราธอน ได้รับ Bronze Label และบางแสน 10 ได้รับ Bronze Label

 

 

โดยรัฐเผยว่าหลังจากการปลดล็อกของ ศบค. และการทดสอบระบบต่างๆ ของงานวิ่งก่อนหน้านี้ทำให้สามารถกลับมาจัดงานวิ่งได้ แต่ในช่วงแรกได้ขอให้ผู้จัดกิจกรรมต่างๆ จัดทำในจำนวนที่ไม่ใหญ่จนเกินไป 

 

ยกตัวอย่างเช่น เดือนสิงหาคมอาจจะสัก 2,000 คน กันยายนอาจจะไม่เกิน 4,000 คน แล้วตุลาคมอาจจะถึง 6,000 คน แต่ทั้งหมดนี้ต้องดูว่าพื้นที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะว่าพื้นที่ขนาดเล็ก ตัวเลข 2,000-4,000 คนก็ยังไม่สามารถจัดได้ เพราะ ศบค. มีตัวเลขแนะนำมาว่าต้องมีพื้นที่ให้นักวิ่งยืน 5 ตารางเมตรต่อ 1 คน 

 

ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายผู้จัดและวงการวิ่งมาก อีกส่วนหนึ่งก็คือ ศบค. มีคำแนะนำต่างๆ เพิ่มเติมสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการมีผู้คนรวมตัวจำนวนมาก ซึ่งผมเชื่อว่าผู้จัดต่างๆ ก็น้อมรับและปฏิบัติตาม 

 

“อย่างแรกคือการลดความหนาแน่น คือการลดจำนวนผู้เข้าร่วมก็สามารถลดความแออัดได้ แต่ถ้าคนเข้ามาแล้วเราไม่บริหารจัดการ สุดท้ายทุกคนก็ยังยืนอยู่ใกล้ๆ กัน เราจึงต้องรณรงค์ให้มีการเว้นระยะห่างจากกันให้ได้อย่างน้อย 1-5 เมตร หน้ากากผ้าที่เอามาปิดจมูกที่นักวิ่งใช้กันจะเป็นการบังคับให้คุณเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของงาน ถ้าคุณยังไม่ออกวิ่ง คุณต้องใส่ตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนยืนก่อนปล่อยตัวก็ต้องใส่ หลังจากออกตัวไปแล้วสักพักหนึ่งค่อยปลดหน้ากาก 

 

“แต่ว่าเมื่อใดที่จะกลับเข้าไปยังเต็นท์แพทย์หรือจุดบริการที่มีคนหมู่มาก เราก็แนะนำให้ดึงหน้ากากกลับขึ้นมา รวมถึงหลังเข้าเส้นชัย เมื่อหายเหนื่อยแล้วก็ต้องดึงกลับขึ้นมาใส่ก่อนจะเดินออกจากพื้นที่ นี่จะเป็น New Normal ต่างๆ ที่เกิดขึ้น  

 

 

“อีกอย่างที่จะสร้างต้นทุนให้กับวงการวิ่งอย่างมากคือเราต้องจัดเตรียมเจลล้างมือจำนวนมากตามจุดต่างๆ รวมถึงสบู่ในห้องน้ำ เราต้องเตรียมแม่บ้านมาดูแลจุดท่ีมีการสัมผัสร่วม เช็ดทำความสะอาดบ่อยๆ เช่น ลูกบิดห้องน้ำ หรือราวบันได จุดที่นักวิ่งมาสัมผัสร่วมกัน เราก็ต้องเช็ดให้ถี่ขึ้น 

 

“นี่ก็จะเป็นหลายๆ อย่างที่ผู้จัดต้องจัดเตรียม หลายๆ อย่างเป็นสิ่งที่นักวิ่งต้องปรับตัวเพื่อที่จะมาร่วมกิจกรรมแบบใหม่ที่เราเรียกว่า New Normal และ Next Normal” 

 

รัฐได้เผยถึงการเตรียมจัดงานบางแสน มาราธอน ในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายนนี้ว่า ฝ่ายที่จัดเตรียมฉลองการแข่งขันมาราธอนรายการแรกของไทยที่ได้รับการรับรองจาก World Athletics ในระดับ Bronze Label แต่ก็ต้องทำการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เพื่อทำตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด 

 

“อย่างแรกที่เราทำคือวางแผนรับสมัครลดลงครึ่งหนึ่งจาก 16,000 คน เหลือ 8,000 คน เพื่อลดความแออัด 

 

“ครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่เราปล่อยตัวเป็นระลอก โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้าย นักวิ่ง 8,000 คนจะค่อยๆ ไป ทุกๆ 5 นาที 700 คน ทำให้ระหว่างทางไม่เกิดความแออัด 

 

“โจทย์ของการทำงานก็จะมีรายละเอียดต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่เราให้บริการน้ำเป็นแก้วก็ต้องเปลี่ยนเป็นขวดขนาดเล็กเพื่อลดการฟุ้งกระจาย อาหารที่แจกก็ต้องอยู่ในแพ็กที่ปิดสนิทเป็นอย่างดี นี่จะเป็นวิถีใหม่ที่นักวิ่งเจอ 

 

“ส่วนตัวนักวิ่งต้องพกหน้ากากผ้าหรือผ้าโผกหัวไว้ตลอดเวลา เพื่อให้ทุกครั้งที่อยู่ในสถานที่ที่มีคนเยอะก็ต้องหยิบขึ้นมาใ้ช้ หลายๆ อย่างต้องเปลี่ยนไป แต่เชื่อว่าสปิริตของการวิ่งมาราธอนมันจะไม่หายไป และวงการวิ่งไทยตอนนี้ก็ยังให้การตอบรับกิจกรรมวิ่งที่เป็นเอาต์ดอร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างพลังให้กับชีวิตอย่างมากมาย 

 

“อย่างงานบางแสน 42 เราเปิดรับไม่ถึงชั่วโมงก็ขายหมด 8,000 ที่เลย ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่ามีกลุ่มนักวิ่งที่พร้อมที่จะกลับมางานที่มีมาตรฐาน การจัดงานที่ดี และตอบโจทย์สถานการณ์แบบนี้ได้ครับ” 

 

 

ค่าจัดการแข่งขันสูงขึ้น รายได้ลดลง เปรียบเหมือนการวิ่งมาราธอนที่ความเร็วของการวิ่งสปรินต์
หากคุณไม่ได้ฝึกร่างกายและมีระเบียบวินัยเหมือน เอเลียด คิปโชเก ที่เพิ่งทำลายกำแพงมาราธอนด้วยการวิ่งเข้าเส้นชัยภายในเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง คำว่าการวิ่งมาราธอนที่ความเร็วสูงดูเหมือนสิ่งที่เป็นไปได้ยากและไม่ดีต่อสุขภาพทั้งความเสี่ยงระยะสั้นและร่างกายระยะยาวอย่างแน่นอน 

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ การจัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการแข่งขันกีฬาต่างก็ได้รับผลกระทบทั้งจากการต้องเลื่อนการแข่งขัน แข่งแบบปิด ไม่ให้มีผู้เข้าชม และการเพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งทั้งหมดนี้หมายถึงรายได้ที่ลดลงจากการไม่สามารถให้แฟนกีฬาเข้าชมหรือลดจำนวนผู้เข้าร่วมแล้ว ยังหมายถึงค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการเพิ่มมาตรการจัดงาน 

 

สื่อต่างประเทศได้เปรียบเทียบการจัดการแข่งขันกีฬาช่วงนี้ว่าเหมือนกับการวิ่งมาราธอนที่ความเร็วของการแข่งขันสปรินต์ เนื่องจากรายได้ที่ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ผู้จัดงานหลายองค์กรต้องเป็นเหมือนนักวิ่งที่รู้ว่าหนทางการวิ่งต่อยังอีกยาวไกล แต่ก็ต้องลงทุนลงแรงเพิ่มตลอดระยะทางจนกว่าเส้นชัยวิกฤตโควิด-19 นี้จะผ่านพ้นไป 

 

ภายในงานเสวนามีหลายฝ่ายที่ปรึกษาหารือกันถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดงานอีเวนต์ของ Mass Participation Sports ซึ่งต้องมีมาตรฐาน มาตรการรักษาความปลอดภัย รวมถึงต้องสร้างความพึงพอใจให้กับผู้เข้าร่วมในแง่ของราคาการสมัครเข้าร่วมแข่งขันภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเวลานี้ 

 

“เราไม่อยากให้เกิดระลอกสองจากพวกเราอย่างแน่นอน”

 

บุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มูฟ เอเชีย จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงมุมมองการจัดการแข่งขันที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่รายได้ลดลงในช่วงนี้ว่า 

 

การกลับมาอย่างไรมันเป็นประเด็นที่ต้องดูต่อทั้งมาตรการและมาตรฐาน Safety Hygiene ผู้จัดควรจะปฏิบัติอย่างไร เพราะว่าโควิด-19 เป็นตัวกำหนดของการที่เราต้อง Social Distancing 

 

“แต่วันนี้ผู้จัดที่อยู่ในอุตสาหกรรมของ Mass Gathering เราก็รอคอย วันนี้เป็นจุดเริ่มต้น หลังจากที่เขาทดลอง เขามีคู่มือแล้ว เขาเริ่มทำงานแล้วมีจุดบกพร่องอย่างไร จากนี้ไปจึงเรียกว่าเรานับหนึ่ง จากจัด 0 คนไปถึง 1,000 คน จาก 1,000 คนไปถึง 3,000 คน ไปถึง 5,000 คน และจาก 5,000 คนไปถึง 10,000 คน 

 

“แปลว่า QC เราจะเกิดขึ้นได้ไหม วันนี้มันจะเป็นผลว่าเมื่อผู้จัดมีความหวัง จะทำในทิศทางไหนได้บ้าง โดยสรุปผู้จัดต้องเห็นตรงกันว่าถ้าเราทำมาตรฐานเดียวกัน อุตสาหกรรมเราเกิดแน่นอน เพราะเราเป็นผู้ให้บริการ ผู้รับบริการก็ต้องเข้าใจและตกลงตรงกันว่าถ้าเขามา เขาก็ต้องมีวินัย เพราะเรามีวินัยของเราแล้ว 

 

“แปลว่าเราไม่อยากให้เกิดระลอกสองจากพวกเราอย่างแน่นอน ตอนนั้นมันเป็นขั้นตอนของการที่เราพยายามจะทำให้ Back to Thailand Running Boom เพราะวันหนึ่งที่เราจะกลับมาตรงนั้น วันนี้เรายังกลับมาไม่ได้ เพราะสถานการณ์ในวันนี้ 2020 จนถึง 2021 อาจจะยาวถึงไตรมาสที่ 3 อาจจะถึงไตรมาสที่ 4 

 

“นั่นคือคำถามใหญ่ที่เรายังคิดอยู่ แต่เราต้องอยู่ให้ได้ พอปรับเรื่องวิถีใหม่เสร็จแล้วกระบวนการก็เกิด พอเกิดการรวมตัวแล้วก็จะเกิดการแชร์ การแลกเปลี่ยนกัน หรืออาจจะปรับแพลตฟอร์มให้เป็นรูปแบบที่มีมาตรฐานแบบใหม่ 

 

ด้านรัฐเห็นตรงกันว่ามาตรฐานการจัดนั้นต้องไม่ลดลง แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นคือความร่วมมือระหว่างผู้จัด และความเข้าใจกันระหว่างผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรม 

 

 

“อันหนึ่งที่บอกได้เลยคือต้นทุนในการจัดงานเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะว่ามีหลายอย่างที่เราต้องจัดการ มีหลายอย่างที่เราต้องทำเพิ่มขึ้นมาใหม่ แต่ในอีกทางหนึ่งเราต้องรับนักวิ่งน้อยลง และภายใต้เศรษฐกิจแบบนี้ ผู้จัดก็มองหน้ากันว่าถ้าเราเพิ่มค่าสมัครก็ไม่ง่ายเลยที่จะทำให้คนกลับเข้ามา คล้ายๆ กับงูกินหางเลยว่าตกลงจะกลับมาอย่างไร 

 

“แต่มีอีกหนทางหนึ่งที่เราเสนอกันว่าจะเรียกค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์นี้ว่า COVID Surcharge ซึ่งแล้วแต่ว่าบางงานอาจใช้เยอะ บางงานอาจใช้น้อย อาจเพิ่ม 200-300 บาทแล้วแต่งาน ตัวนี้หมายความว่ามันเพิ่มขึ้นจากค่าสมัคร แต่หากสถานการณ์ในปีหน้าดีขึ้น COVID Surcharge ก็จะต้องหายไปด้วย ตรงนี้นักวิ่งก็น่าจะแฮปปี้ว่ามีการขึ้นราคาในลักษณะชั่วคราว ไม่ใช่ถาวร และมีเกณฑ์ชัดเจนว่าเมื่อไรจะไม่ต้องจ่าย ตัวนี้น่าจะช่วยได้ 

 

“รวมถึงผู้จัดต่างๆ ก็พูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนของการจัดลดลงโดยที่มาตรฐานไม่ได้ลดลงตาม ทางหนึ่งคือเราก็มารวมตัวกันพูดคุย มาลองดูว่าการจัดซื้อแบบรวมกลุ่มจะสามารถลดราคาอะไรลงได้บ้าง อีกอย่างคือเรามีทรัพยากรบางอย่างที่ต่างคนต่างมีอยู่ เราก็ทำการปล่อยเช่าข้ามกัน หรือให้ยืมข้ามกัน ซึ่งตัวนี้น่าจะช่วยวงการได้ 

 

“หลังจากที่เราพูดคุยกันหลายๆ ครั้งก็เกิดสมาคมของผู้จัดงานวิ่งขึ้นมาที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งก็นำเรื่องพวกนี้มาพูดคุยหารือซึ่งกันและกัน ซึ่งทำให้เราจะสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปด้วย” 

 

สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย การรวมตัวของผู้จัดงานเพื่ออนาคตที่มีมาตรฐานใหม่ของวงการวิ่ง 

ทั้งบุญเพิ่ม จากมูฟ เอเชีย และรัฐ จากไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น ต่างก็ยอมรับว่าก่อนหน้านี้การจัดงานวิ่งในประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นเป็นอย่างมากจนไปถึงจุดสูงสุดเมื่อช่วงปลายปี 2019 

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหามาตลอดคือการที่ผู้จัดแต่ละงานต่างคนต่างทำมาตรฐานการจัดที่แตกต่างกันในบางครั้ง และขาดความร่วมมือเพื่อส่งเสริมมาตรฐานของการจัดงานที่เป็นหนึ่งเดียวกัน 

 

 

แต่จากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมที่เป็น Mass Gathering พวกเขาจึงหันหน้าเข้าหากันและเริ่มต้นความร่วมมือที่จะทำให้หลายฝ่ายช่วยเหลือกันเพื่อให้เดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

สมาคมที่เราตั้งขึ้นมาชื่อว่า TMPSA สมาคมผู้ประกอบการค้าผู้จัดงานวิ่งไทย” รัฐเผยถึงชื่อทางการของสมาคม 


“เรามีบทบาทสำคัญคือต้องการยกระดับมาตรฐานงานวิ่งของไทยให้ไปอยู่แถวหน้าของเอเชียและแถวหน้าของโลก แต่ในระยะสั้นคือการช่วยเหลือสมาชิกให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ก่อน

 

“ช่วยเหลือกันตั้งแต่ลดต้นทุน ใช้ทรัพยากรร่วมกัน และหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับสมาชิกของสมาคม จัดงานขนาดใหญ่ขึ้นมา และแบ่งกิจกรรมเหล่านี้ให้สมาชิกเข้ามาช่วยเหลือจัดการ รวมถึงดึงงานขนาดใหญ่ระดับโลก ตั้งแต่งานชิงแชมป์เทรลโลก งานชิงแชมป์มาราธอนโลก งานประชุมสัมมนาของ World Athletics เราจะไปยื่นขอว่าประเทศไทยเราพร้อม และพวกเขาต้องการมาประเทศไทยที่ปลอดภัยมากๆ อย่างเรา 

 

 

“ในสถานการณ์นี้ ถ้าเราพร้อมมาก ถ้าโลกกลับมาได้เมื่อไร ประเทศไทยจะเป็นจุดหมายสำคัญของวงการวิ่งและกิจกรรมต่างๆ มากมาย 

 

“นอกจากนั้นสมาคม TMPSA ก็จะมีแนวทางที่จะขยายจำนวนสมาชิกไปยังผู้จัดขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งหมด เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างมาตรฐานงานวิ่งไทยซึ่งจะอิงจากมาตรฐานระดับโลกและเอเชียมาถ่ายทอด เป็นมาตรฐานที่ย่อมเยาสำหรับประเทศไทยที่เราจะทำให้งานวิ่งกลุ่มที่มีมาตรฐานสูงๆ มีมากขึ้น และเชื่อว่าจะทำให้อุตสาหกรรมการวิ่งขยายตัวในอนาคต”

 

 

อนาคตและโอกาสการกลับมาก่อนของวงการวิ่งในประเทศไทย 

โลกหลังโควิด-19 เป็นโลกที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งด้านของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะสร้างให้เกิดสมดุลอำนาจใหม่ในแต่ละอุตสาหกรรม 

 

สำหรับงานวิ่งต่างๆ เอง ในระดับโลกเวลานี้ใช้ชื่อกิจกรรมเหล่านี้ว่า Mass Participation Sports ซึ่งอีเวนต์ใหญ่ของโลกในเวลานี้ยังไม่สามารถเปิดตัวทำกิจกรรมได้อย่างเต็มรูปแบบ 

 

ยกตัวอย่างเช่น ลอนดอน มาราธอน 2020 การแข่งขันมาราธอนระดับเมเจอร์ ที่ล่าสุดยังต้องจัดการแข่งขันแบบอนุญาตให้มีเพียงนักวิ่งอีลีทลงแข่งขันได้ 

 

วันนี้หลังจากไทยสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น หลังจากคลายล็อกดาวน์ขั้นตอนต่างๆ แล้ว โอกาสที่มาถึงในเวลานี้คือการเตรียมพร้อมสร้างมาตรฐานใหม่ รักษามาตรการป้องกันให้การแข่งขัน และกิจกรรม Mass Gathering มีประสิทธิภาพและปลอดภัย 

 

เผื่อโอกาสไว้สำหรับวันที่สถานการณ์โลกกลับคืนสู่ภาวะปกติ และการเดินทางต่างๆ เริ่มกลับมาให้บริการได้ ไทยมีโอกาสที่จะกลายเป็นฮับของการจัดกิจกรรมวิ่ง ปั่นจักรยาน และไตรกีฬาแบบ Mass Gathering ได้ 

 

“แน่นอนครับ โอกาสที่เราจะเชื่อมต่อจากจุดนี้ไปสู่อนาคต หลังจากที่เราสร้างสินค้าของเราให้แข็งแรงแล้ว มีมาตรฐานแล้ว ต่างชาติก็จะมองหาเรา เขาต้องมองหาตลาดต่างประเทศแน่นอน” บุญเพิ่มเสริมถึงโอกาสที่ไทยจะสามารถคว้าโอกาสเริ่มต้นกลับมาเปิดการแข่งขันได้ก่อนรายการสำคัญต่างๆ ทั่วโลก 

 

“จริงๆ ประเทศไทยเรายังไม่มีจุดนี้ หรืออาจจะยังไม่เคยมองถึงจุดนี้ที่เรารวมตัวกันจนเกิดสมาคมหรือกลุ่ม ที่ผ่านมาไม่เป็น Sole Standard แล้ววันนี้เรามี Sole Standard เกิดขึ้น สิ่งที่ว่านี้มันเป็นมาตรฐานที่เราเริ่มต้นจากพื้นฐานการมีสมาคมก่อน 

 

“พอมีจุดนั้น แน่นอนว่าเราก็จะมีการพูดคุยเชื่อมต่อไปโดยมีมาตรฐานรองรับ อีกหน่อยเราอาจจะกลายเป็นฮับก็ได้ เพราะองค์การอนามัยโลกรองรับว่าประเทศไทยมีมาตรฐานสูงเรื่อง Safety Hygeine ในระดับแมส

 

“ศบค. ทำได้ดีมาก เราก็มีความภาคภูมิใจในตรงนั้น เรามีคำว่าศูนย์เกือบ 80 วัน กระบวนการเหล่านี้ผลักดันให้เรายิ่งต้องสร้างมาตรฐานเพื่อตอบโจทย์ มาตรฐานนี้จะตอบโจทย์ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์การจัด ไม่ว่าจะเป็น Label ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิบัตรในตลาดโลก เขาต้องมองเรา สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาก็คืออาจมีความร่วมมือเกิดขึ้นซึ่งกันและกัน 

 

“ประเทศไทยอาจจะเป็นฐานต่อไปในอนาคต วันนี้ Travel Bubble อาจจะยังไม่เกิด แต่แน่นอน เริ่มฐานจากเอเชีย ถ้าเราสามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยมาตรฐานที่เรามี และมาตรฐานของประเทศอื่นนำมาร่วมมือกัน แปลว่าเราสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ต่อด้วยเราสามารถดึงลิขสิทธิ์เข้ามาได้ ตามด้วย Label รองรับมาตรฐาน ยกระดับขึ้นไป 

 

“สิ่งสำคัญที่สุดในวันนี้คือเราต้องสร้างมาตรฐานของตัวเราก่อน ในอดีตไม่มี แต่หลังจากนี้ไปที่เราเกิดสมาคมขึ้นมา TMPSA จะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นโรดโชว์ การประชุมสัมมนา การสร้างความรู้ การถอดบทเรียนความรู้ตั้งแต่ระดับเล็กๆ อย่างหมู่บ้าน มีมาตรฐาน มีแพทย์ มีจุดให้น้ำ มีระบบรองรับ นี่คือสิ่งที่เราวาดฝันไว้บนเป้าหมายว่าเราต้องมีมาตรฐานที่จะทำให้เราขยับไปได้ไกลกว่านี้

 

“ผมคิดว่าถ้าเรารอหลังจากที่เราสร้างมาตรฐานขั้นพื้นฐานได้ พอเปิดประเทศ แน่นอนว่าเขาจะเห็นความมั่นใจในการมาประเทศไทยว่าอย่างน้อยอุตสาหกรรมนี้มีมาตรฐานให้พวกเขาเห็น ซึ่งถือว่าใหม่ที่สุดในไทยและเอเชีย 

 

“ใหม่ที่สุดในไทยและในเอเชีย วันนี้เราไม่ได้มองแค่ไทย แต่มองไปถึงระดับโลกอีก 10 ปีข้างหน้า สุดท้ายมาตรฐานนี้จะเป็นมรดกต่อไป ไม่ใช่สำหรับผู้จัด แต่จะเป็นสำหรับเมืองต่างๆ ในประเทศไทยที่จะแข่งขันกันจัดการแข่งขันเพื่อสร้างมาตรฐานต่อไป แล้วทุกคนจะเห็นประโยชน์ว่า Mass Participation คือการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง สร้างสรรค์ชุมชน สร้างเมืองให้เป็นรูปแบบวัฒนธรรมใหม่” 

 

เกียวโต มาราธอน ถือเป็นหนึ่งในงานมาราธอนชั้นนำระดับท้ายๆ ของปี 2020
ที่จัดขึ้นได้อย่างเต็มรูปแบบในญี่ปุ่น 

ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย 

 

Mass Gathering Sports หรือกีฬามวลชน ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภายในประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

สาเหตุหลักที่กิจกรรมในรูปแบบนี้ได้รับการสนับสนุนเกิดขึ้นจากการสร้างรายได้และการส่งเสริมสุขภาพที่แข็งแรงให้กับผู้คนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากผู้จัดสามารถยกระดับมาตรฐานให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ก็จะสามารถดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชาวต่างชาติเข้ามาร่วมการแข่งขัน และสร้างรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่จัดได้มากขึ้น 

 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ให้ความเห็นผ่านสยามธุรกิจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในบทความหัวข้อ ‘ธุรกิจจัดงานวิ่งปี 63: ฝ่าฝุ่น PM2.5 สร้างมูลค่า 1,700 ล้านบาท’ ระบุว่า 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการยกระดับการจัดงานวิ่งจากประเภททั่วไปไปสู่งานวิ่งระดับชาติตามมาตรฐานสากล น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ธุรกิจรับจัดงานวิ่งที่มีศักยภาพควรจะมุ่งไป เพราะนอกจากการจัดงานดังกล่าวจะสามารถดึงดูดฐานนักวิ่งได้มากขึ้นทั้งนักวิ่งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพในระดับอาเซียนหรือแม้แต่ระดับโลก ผู้จัดงานร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยังมีโอกาสในการสร้างรายได้จากมูลค่าเพิ่มของการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักวิ่งตลอดงาน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและโภชนาการ รวมถึงบริการโรงแรมที่พักและการท่องเที่ยว เนื่องจากหากนักกีฬาต่างชาติวางแผนจะเข้าร่วมงานวิ่งในไทยก็น่าจะใช้เวลาเข้าร่วมกิจกรรมและท่องเที่ยวในประเทศเฉลี่ยราวๆ 5-7 วัน ซึ่งก็จะถือเป็นการจัดอีเวนต์ที่สร้างรายได้เข้าประเทศ สอดคล้องไปกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) ผ่านการวางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการจัดงานอีเวนต์กีฬาระดับโลกต่างๆ ด้วย” 

 

ภายในงาน THE STANDARD Economic Forum มีข้อสรุปตรงกันในหลายอุตสาหกรรมว่า ภายหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป ความปกติที่กลับมาจะไม่ใช่ความปกติที่เป็นอยู่ก่อนวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ได้เกิดการผลักดันด้านของนวัตกรรมต่างๆ จนพฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

 

โดยเฉพาะในช่วงเวลากลับคืนสู่ปกติ ในวันนี้โลกยังไม่ค้นพบวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 การทำธุรกิจของอุตสาหกรรมต่างๆ ถูกผลักดันให้เร่งพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น

 

อุตสาหกรรมการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Mass Participation Sports ก็เช่นเดียวกัน เมื่อพวกเขาเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ต้องหยุดลง และอาจจะกลายเป็นธุรกิจท้ายๆ ที่สามารถกลับมาจัดกิจกรรมได้เต็มรูปแบบ การปรับตัวครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้จึงต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

The Endurance Coalition กลุ่มผู้จัดการแข่งขันกีฬา Mass Participation ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้จัดกว่า 850 ราย ที่ออกมาเรียกร้องให้เกิดการสนับสนุนจากภาครัฐในสหรัฐอเมริกาจากผลกระทบของวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เปิดเผยว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกีฬามวลชนภายในประเทศอาจหายไปถึง 80% ภายในสิ้นปีนี้ 

 

 

“โควิด-19 กำลังทำลายล้างพวกเราโดยไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นงานขนาดเล็กที่จัดที่ใดก็ตาม ความเสี่ยงของไวรัสทำให้งานของพวกต้องถูกระงับอย่างรวดเร็ว” ส่วนหนึ่งของคำแถลงการณ์จาก The Endurance Coalition 

 

“กีฬามวลชน (Mass Participation Sports) สามารถเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญของการช่วยฟื้นตัวเศรษฐกิจ อีเวนต์ของพวกเราสามารถทำให้เกิดการจองที่พัก เติมเต็มร้านอาหารด้วยลูกค้า และระหว่างช่วงปิดฤดูกาลแข่งขันของกีฬาอาชีพ ในช่วงที่ชุมชนต้องการกิจกรรมต่างๆ เราได้ช่วยสร้างความตื่นตัวและสร้างรายได้เข้ามูลนิธิหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ​ 

 

“หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ การแข่งขันในประเทศหลายรายการอาจไม่เกิดขึ้น ในวันที่สถานการณ์ทำให้เราสามารถวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือแข่งขันกันในจำนวนมากอีกครั้ง” 

 

แต่สำหรับวงการ Mass Participation Sports ในไทย ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ New Normal ได้เกิดความร่วมมือรูปแบบใหม่ที่มาในนามของสมาคมผู้จัด หรือ TMPSA 

 

ซึ่งตอนนี้แม้ยังมีจำนวนสมาชิกไม่มากนัก แต่สมาชิกที่มีอยู่ในเวลานี้เป็นผู้เล่นแนวหน้าของวงการ ทั้งผู้จัดงานระดับสากลอย่าไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น ผู้จัดงานบางแสนทั้ง 3 ระยะการแข่งขันที่ได้รับการรับรองจาก World Athletics และมูฟ เอเชีย อีกหนึ่งผู้จัดงานวิ่งชั้นนำของประเทศไทย ทั้งงาน Bangkok Midnight Marathon และ L’Étape Thailand by Tour de France รายการแข่งขันจักรยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งของโลก 

 

บนเวทีเสวนา รัฐจากฝั่งไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น ได้กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญในการร่วมกันยกระดับมาตรฐานการจัดงานวิ่งในประเทศไทยด้วยการส่งเสริมการสร้างบุคลากรที่จะเข้ามาสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรม 

 

ยกตัวอย่างเช่น ผู้วัดระยะทางสำหรับงานวิ่ง จักรยาน หรือแม้กระทั่งไตรกีฬา ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับมาตรฐานสากล บุคลากรด้านนี้มีความจำเป็นอย่างมากในการสร้างมาตรฐานพื้นฐานให้กับการจัดการแข่งขันตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงงานวิ่งมาราธอนที่มีคนเข้าร่วมมากกว่าหมื่นคนขึ้นไป 

 

จากการสนทนากับผู้จัดหลายๆ หน่วยงาน พบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 คือพวกเขาเริ่มมองเห็นปัญหาใหญ่ที่ถูกละเลยตลอดมา คือการที่ผู้จัดต้องมองเห็นมาตรฐานตรงกัน และให้ความร่วมมือในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไปข้างหน้ามากขึ้นกว่าการแข่งขันกันเพียงอย่างเดียว 

 

และเมื่อโอกาสในวันนี้มาถึง สถานการณ์ในประเทศไทยทำให้อุตสาหกรรม Mass Participation Sports เริ่มกลับมาจัดการแข่งขันได้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะสร้างมาตรฐานการจัดการแข่งขันใหม่เพื่อรอวันที่โลกกลับสู่สถานการณ์ปกติแบบ New Normal 

 

เพราะโอกาสในการดึงดูดนักวิ่ง ดึงดูดรายการระดับโลก และการสร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนเมืองเจ้าภาพจะตกเป็นของผู้ที่พร้อมกว่าเสมอ 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X