×

Kodak กำลังเจอตอ! เมื่อภารกิจคัมแบ็กใน ‘ธุรกิจเภสัชกรรม’ (อาจ) ไม่ง่ายเหมือนกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ

โดย THE STANDARD TEAM
10.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ธุรกิจเภสัชกรรมของ Kodak กำลังส่อเค้าไม่ราบรื่น หลังจากมีข้อครหามากมายเกี่ยวกับดีลเงินกู้และมูลค่าหุ้น Kodak ที่พุ่งขึ้นผิดปกติ ล่าสุดบริษัทการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (DFC) เผยว่า ได้ชะลอการทำข้อตกลงกับ Kodak ออกไป ในโครงการที่ Kodak อาสาผลิตยาสำหรับใช้ต่อสู้กับไวรัสโคโรนา ต้นเหตุของโรคโควิด-19
  • ท่าทีของ DFC เกิดขึ้นในขณะที่ SEC หรือสำนักงาน ก.ล.ต. ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ประกาศว่ากำลังตรวจสอบ Kodak ในข้อหาการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลวงในหรืออินไซเดอร์ ในช่วงที่มีการเปิดเผยข้อตกลงเงินกู้ 
  • ภาวะนี้สะท้อนว่าภารกิจคัมแบ็กในธุรกิจเภสัชกรรมของ Kodak ไม่ใช่เรื่องง่าย เส้นทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะยังมีหลายปัจจัยที่อาจทำให้ Kodak ไม่สามารถกดชัตเตอร์จนได้ ‘ภาพที่สมบูรณ์แบบ’ เหมือนที่เคยทำได้ในธุรกิจฟิล์มและกล้องถ่ายภาพ และธุรกิจเภสัชกรรมอาจเป็นพื้นที่แสงน้อยที่ทำให้ภาพถ่ายของ Kodak ไม่เพอร์เฟกต์อย่างที่หวัง

ย้อนไปเมื่อ 28 กรกฎาคม 2020 หน่วยงานสหรัฐฯ อย่าง DFC หรือ U.S. International Development Finance Corporation จรดปากกาลงนามข้อตกลงที่จะทำให้บริษัท Eastman Kodak ได้รับเงินทุน 765 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท ในการผลิตส่วนผสมของยาที่สามารถช่วยต่อสู้กับโควิด-19 

 

การประกาศนี้ทำให้หุ้นของ Kodak พุ่งทะยานหลายเท่าตัว เพราะนักลงทุนตื่นเต้นกับภาพอนาคตสดใสที่ Kodak อาจจะคัมแบ็กสู่ตลาดได้อีกครั้ง 

 

แต่ดีลนี้กำลังถูกระงับ โดย DFC ทวีตข้อมูลเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2020 โดยบอกชัดเจนว่ากำลังชะลอข้อตกลงดังกล่าวเพื่อเปิดทางให้หน่วยงานกำกับดูแลตรวจสอบกิจกรรมการซื้อขายที่ส่งให้หุ้นของ Kodak พุ่งสูงขึ้น จากข่าวการประกาศดีลในช่วงแรกแบบเต็มที่

 

DFC ทวีตชัดเจนว่า “จะไม่ดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม” จนกว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้จะถูกตรวจสอบจนชัดเจน แม้จะไม่มีการเอ่ยชื่อหน่วยงาน แต่สื่ออเมริกันก็โยงข่าวนี้เข้ากับการสอบสวนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ SEC (Securities and Exchange Commission) ซึ่งกำลังเน้นตรวจสอบวิธีที่ Kodak ใช้เปิดเผยดีลกับรัฐบาลอเมริกัน 

 

โดยรายงานของ Wall Street Journal เมื่อวันอังคารที่ 4 สิงหาคม ระบุว่า การสอบสวนอยู่ในขั้นเริ่มต้น และอาจไม่มีข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดก็ได้

 

 

ข่าวหลุดทำหุ้นพุ่ง

เหตุที่ทำให้ Kodak ถูกสอบเข้มคือ จากที่เคยเป็นที่รู้จักในนามแบรนด์ผลิตฟิล์มกล้องถ่ายรูป แต่ข่าวดีลนี้ทำให้ Kodak ซึ่งซื้อขายหุ้นอยู่ที่ 2.62 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม (วันที่มีการประกาศดีล) กลับมีราคาซื้อขายแตะ 60 ดอลลาร์ภายใน 2 วัน 

 

โดยคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นกว่า 530% ในช่วง 5 วันหลังการประกาศดีล จนล่าสุดหุ้นปิดที่ 14.88 ดอลลาร์ เมื่อวันศุกร์ (7 สิงหาคม) หลังจากลดลง 7.6% ในช่วงเซสชันการซื้อขาย

 

ความผิดปกติคือ Kodak ดันปล่อยข่าวให้ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นในโรเชสเตอร์ นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม จากนั้นจึงติดต่อขอให้สื่อหลายแห่งลบข่าวทิ้ง หลังจากที่เริ่มมีการหยิบเรื่องนี้มารายงานในวงกว้าง กลายเป็นประเด็นให้ ส.ว. เอลิซาเบธ วอร์เรน จากแมสซาชูเซตส์ และอีกหลายคนร่วมตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลวงในที่เกี่ยวข้องกับการประกาศดีล

 

สิ่งที่โลกรู้คือ การตรวจสอบ Kodak อาจทำให้ดีลที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ล่าช้าออกไป หากไม่มีกระบวนการขัดขวางดีลข้อตกลง แต่สิ่งที่โลกไม่รู้คือ หน่วยงานสหรัฐฯ จะตรวจสอบสถานะ Kodak แบบต่อเนื่องเกี่ยวกับการขอสินเชื่อ 

 

หรือจะเลือกตัดสิทธิ์ไม่อนุมัติโดยไม่สนใจว่าผลการสอบสวนของ SEC และรัฐสภาอเมริกันจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันก็ไม่แน่นอนว่าการตรวจสอบ Kodak ในช่วงก่อนหน้านี้จะพอเพียงต่อการล้างมลทินหรือไม่ เหล่านี้เป็นคำถามที่ยังไม่มีใครตอบได้

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลหรือเงื่อนไขการตรวจสอบ ทุกฝ่ายต่างยืนยันว่าจะดำเนินการตามขอบเขตของกฎหมาย โดยเฉพาะการตรวจสอบสถานะเครดิตในโครงการขอสินเชื่อที่กำลังดำเนินการอยู่อย่างเข้มข้น

 

 

จับผิด Kodak

แม้โฆษก Kodak และ DFC จะปฏิเสธไม่ให้ความเห็นกับความโกลาหลที่เกิดขึ้น แต่สื่ออเมริกันมองว่า การใช้ภาษาที่รุนแรงผ่านทวีตของ DFC เป็นสิ่งที่น่าสังเกต แสดงว่า Kodak มีข้อหาใหญ่ที่ต้องอธิบายให้ดี 

 

โดยเฉพาะการที่ Kodak ให้สิทธิ์ในการซื้อหุ้น (Stock Option) ในวันก่อนการประกาศ แถมยังซื้อหุ้นตัวเองในขณะที่กำลังเจรจาเงินกู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

 

Kodak แก้ต่างว่าทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ การเสนอ Stock Option และการซื้อหุ้นตัวเองนั้นเป็นงานรูทีนที่ทำกันเป็นกิจวัตรมาตลอด โดย Stock Option เกี่ยวข้องกับการปันผลรายปี ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการภายใน และการซื้อหุ้น 46,737 หุ้นของซีอีโออย่าง ‘จิม คอนติเนนซา’ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ล้วนเป็นหุ้นที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญได้จนกว่าจะลาออกจากบริษัท 

 

ทั้งหมดนี้ทำให้ Kodak แย้งว่า ซีอีโอของ Kodak ลงทุนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอใน Kodak อยู่แล้ว และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ด้านกฎระเบียบสำหรับกิจกรรมการลงทุนนับตั้งแต่ร่วมงานกับ Kodak ในตำแหน่งประธานบริหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 

 

เบ็ดเสร็จแล้วซีอีโอคนล่าสุดซื้อหุ้นของ Kodak ไปแล้วจำนวน 650,000 หุ้น โดยเป็นการทยอยซื้อก่อนหน้าช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า ฝ่ายบริหารของรัฐบาลสหรัฐฯ จะพิจารณาประเด็นคำถามเกี่ยวกับข้อตกลงนี้ และให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ทรัมป์ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า “ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง” กับข้อตกลงที่เกิดขึ้น เบื้องต้นเชื่อว่าแนวคิดของดีลเป็นเรื่องดี แต่ก็จะดำเนินการศึกษาให้ลึกซึ้งขึ้น เพื่อหาคำตอบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจะแจ้งให้ทุกฝ่ายทราบโดยเร็ว ก่อนจะยืนยันอีกครั้งว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดกับดีลที่เกิดขึ้น

 

 

ปรากฏว่า ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านพาณิชย์ของทรัมป์ทวีตว่า ดราม่าที่ Kodak เผชิญกับข้อกล่าวหาในช่วงตลอดสัปดาห์นั้นเป็นเรื่องน่าผิดหวังมาก แม้จะบอกว่า DFC ดำเนินการอย่างถูกต้องแล้ว แต่ที่ปรึกษาของรัฐบาลอเมริกันก็ย้ำว่าทำเนียบขาวต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่า เพื่อนำกระบวนการผลิตยา ‘กลับสู่บ้านเกิด’ หลังจากสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาวัตถุดิบการผลิตยาจากต่างประเทศมานานหลายปี

 

จากธุรกิจภาพสู่สังเวียนเภสัช  

หุ้นของ Kodak นั้นฉวัดเฉวียนเหลือเกินในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นช่วงเวลาทองในรอบ 140 ปีของการก่อตั้ง Eastman Kodak Company ผลงานสำคัญของ Kodak คือการทำให้การถ่ายภาพเป็นเรื่องง่ายที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ 

 

แต่เมื่อ Kodak ไม่สามารถเพิ่มทุนเพื่อพัฒนาสินค้ากลุ่มระบบถ่ายภาพดิจิทัลได้ในช่วงยุค 1970 ยักษ์ใหญ่อย่าง Kodak จึงยื่นเรื่องล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการในปี 2012

 

ตั้งแต่นั้นมา Kodak หันไปทุ่มเทคิดค้นเพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ให้ตัวเอง โดยเน้นหนักเรื่องการพัฒนาสินค้ากลุ่มเคมีขั้นสูง ท่ามกลางพนักงาน 1,300 คนในพื้นที่โรเชสเตอร์ ซีอีโอของ Kodak อย่างคอนติเนนซาเรียกธุรกิจเคมีภัณฑ์ของบริษัทว่าเป็น “The heart of who we are.” หรือหัวใจหลักของตัวตน Kodak ทีเดียว

 

คอนติเนนซาย้ำว่า การที่ Kodak เข้ามาอยู่ในธุรกิจเคมีภัณฑ์ถือเป็นโอกาสที่บริษัทจะขยายตัว ประเด็นนี้สอดคล้องกับที่ แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กยืนยันว่า ภาครัฐจะเน้นฟื้นฟูบทบาทของ Kodak ในฐานะนวัตกรนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ซึ่งจะเป็นพลังที่น่าเกรงขามของสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมเคมีทั่วโลก

 

 

นอกจากด้านเคมีภัณฑ์ ก้าวที่กล้าของ Kodak หลังจากตัดสินใจออกจากธุรกิจกล้องดิจิทัลในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 ยังมีการลงนามข้อตกลงกับผู้นำในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ด้วยฐานะผู้ผลิตฟิล์มรายใหญ่เพียงรายเดียวที่เหลืออยู่ โดยภาพยนตร์เรื่อง Tenet ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของ Warner Bros. ซึ่งมีกำหนดจะออกฉายในปลายปีนี้ ก็ถ่ายทำด้วยฟิล์ม Kodak 65 มม.

 

รวมถึงปี 2018 ที่ Kodak ประกาศแผนการเปิดตัว ‘สกุลเงินดิจิทัลที่มีรูปถ่ายเป็นศูนย์กลาง’ ระบบนี้ถูกเรียกว่า KODAKCoin เป็นกระแสร้อนที่ทำให้หุ้นของ Kodak พุ่งขึ้น 125% หลังจากการประกาศ แม้ขณะนี้จะยังไม่เห็นผลงานที่ชัดเจนก็ตาม

 

สำหรับปี 2020 เจ้าพ่ออย่าง Kodak จะต้องรอดูว่าภารกิจคัมแบ็กบนธุรกิจเภสัชจะออกหัวหรือก้อย ซึ่งไม่ว่าอย่างไรงานนี้ไม่ง่ายเหมือนการกดชัตเตอร์ธรรมดาแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X