เมื่อวานนี้ (31 กรกฎาคม) Facebook Thai Dental Council ซึ่งเป็นของทันตแพทยสภา ได้เผยแพร่ข้อมูลที่ระบุว่า ทพ.เผด็จ ตั้งงามสกุล อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายสำนักเกี่ยวกับโคเคนในงานทันตกรรมว่า ในประวัติศาสตร์ของการใช้ยาชาทางทันตกรรม เคยมีการนำมาใช้ในปี ค.ศ. 1859 หรือกว่า 150 ปีที่แล้ว โดยเป็นการสกัดสารโคเคนจากใบโคคา
หลังจากนั้นพบว่าโคเคนมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์กับคนไข้ ทั้งมีผลต่อระบบจิตและประสาท ความดันโลหิตและระบบหัวใจ จึงทำให้เลิกใช้โคเคน และมีการพัฒนายาชากลุ่มอื่นขึ้นมาใช้แทนตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งในปัจจุบันยาชาที่ใช้ส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มเอไมด์ ได้แก่ ลิโดเคน เมพิวาเคน และอาติเคน ซึ่งโครงสร้างโมเลกุลแตกต่างจากโคเคน ในบทเรียนของนิสิต นักศึกษาทันตแพทย์ มีสอนเรื่องโคเคนทางทันตกรรม แต่เป็นการสอนเพียงเพื่อให้รู้จักที่มาที่ไปของยาชาเท่านั้น
ในต่างประเทศก็เคยมีกรณีคล้ายๆ กันคือ ผู้ต้องหารายหนึ่งถูกตำรวจจับกุมและตรวจพบสารโคเคนในร่างกาย ผู้ต้องหาอ้างว่าเป็นลิโดเคนจากยาชาที่หมอฟันฉีดให้ นักวิทยาศาสตร์จึงได้ทำการวิจัยเพื่อหาข้อเท็จจริงพบว่า โครงสร้างของลิโดเคนแตกต่างจากโคเคนมาก และได้ตรวจหาสารโคเคนจากคนไข้ที่ได้รับยาชา ซึ่งไม่สามารถตรวจพบโคเคนในกระแสเลือดของคนไข้เลย
โดยทันตแพทย์ผู้ที่ทำฟันให้ ‘บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา’ ได้ติดต่อมายัง ทพ.สัณห์ชัย จิรชาญชัย กรรมการทันตแพทยสภาแล้ว โดยได้ให้ข้อมูลกับทันตแพทยสภาว่า ได้ทำฟันให้บอสวันที่ 29 สิงหาคม ก่อนเกิดเหตุ 5 วัน เป็นการรักษาเหงือก โดยมีการฉีดยาชาเมพิวาเคนให้ ซึ่งเป็นยาชากลุ่มเดียวกับลิโดเคน ร่วมกับจ่ายยาอะม็อกซี่ซิลลินให้เท่านั้น เบื้องต้นทันตแพทย์ท่านนั้นแจ้งว่ายังไม่สะดวกเปิดเผยตัวตน แต่พร้อมเข้าพบ กมธ. กฎหมายฯ เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: