ในช่วงต้นของวิกฤตโควิด-19 สิงคโปร์ได้รับคำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างดีเยี่ยม แต่เมื่อย่างเข้าสู่เดือนเมษายน สถานการณ์บนเกาะสิงคโปร์พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งพรวดขึ้นจากยอดรวมที่ต่ำกว่า 1,000 คนก่อนสิ้นสุดเดือนมีนาคมไปอยู่ที่กว่า 16,000 คนในสิ้นเดือนถัดมา โดยจุดพลิกผันของสถานการณ์เกิดขึ้นเมื่อพบการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และเมื่อสืบเสาะหาสาเหตุที่ทำให้การแพร่เชื้อระหว่างแรงงานข้ามชาติเป็นไปเหมือนไฟลามทุ่ง ทางการสิงคโปร์ก็ได้ข้อสรุปว่าไม่ใช่เพราะอะไรอื่นไกลที่ไหน แต่เป็นเพราะสิ่งใกล้ตัวอย่างสภาพของหอพักคนงานเองที่มักมีแรงงานอาศัยรวมกันอย่างแออัดจนไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ง่าย และยังมีสุขอนามัยที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
การมาของโควิด-19 จึงเท่ากับเป็นการเปิดโปงปัญหาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติในสิงคโปร์ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมายาวนาน แม้พวกเขาจะมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสิงคโปร์อย่างมหาศาลก็ตาม
ยอดผู้ติดโควิด-19 บนเกาะเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ล่าสุดได้พุ่งทะลุ 50,000 รายไปแล้ว ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานข้ามชาติในหอพักเป็นสัดส่วนสูงถึงเกือบร้อยละ 95 หอพักแรงงานข้ามชาติหลายแห่งในสิงคโปร์ได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อันตรายมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน แรงงานตามหอพักทั้งหมดกว่า 323,000 คนต้องกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงพร้อมกับถูกสั่งกักบริเวณในพื้นที่หออย่างเข้มงวด แม้มาตรการนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อจากหอพักออกไปแพร่ระบาดในชุมชน แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ทั้งที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส พวกเขาต้องหยุดงาน ขาดรายได้ และยังมีสภาพจิตใจย่ำแย่ลงทุกวัน
ด้วยค่าแรงที่เข้าขั้นสูง สิงคโปร์จึงถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของแรงงานจากหลากหลายชาติ รวมถึงแรงงานสัญชาติไทย และแน่นอนว่าในวิกฤตโควิด-19 พี่น้องแรงงานไทยจำนวนหนึ่งก็จำต้องร่วมชะตากรรมกับแรงงานชาติอื่นๆ และบางส่วนก็ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย อุดมลักษณ์ มอลย์ กรรมการสมาคมไทยสิงคโปร์ ได้บอกเล่าถึงชีวิตในภาพรวมของพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์ผู้ได้รับผลกระทบจากที่ได้มีโอกาสพูดคุยให้ฟังว่า พวกเขาอาศัยอยู่อย่างแออัดในหอพักมายาวนาน ปกติแล้วห้องหนึ่งจะนอนกันอยู่ประมาณ 10-15 คน ส่วนห้องน้ำก็ใช้ร่วมกันหลายคน
ขณะที่เรื่องความสะอาดในห้องพักก็เป็นปัญหาใหญ่ แรงงานไทยมักจะบ่นเรื่องที่เพื่อนแรงงานร่วมห้องไม่ค่อยจะรักษาความสะอาด อุดมลักษณ์เล่าต่อว่าแรงงานไทยในหอพักมีความวิตกกังวลสูงโดยเฉพาะในช่วงต้นของการระบาด ด้วยสาเหตุหลักเป็นเพราะการขาดความเข้าใจในโรคโควิด-19
ในช่วงระบาดใหม่ๆ หลายคนคิดว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย บวกกับพอได้เห็นเพื่อนแรงงานล้มป่วยไปทีละคน เห็นรถพยาบาลวิ่งเข้าออกจากหอ แรงงานไทยก็ยิ่งหวาดวิตก บ่อยครั้งที่พวกเขากังวลเมื่อเห็นแรงงานชาติอื่นๆ ในหอพักดูจะไม่ค่อยระมัดระวังเท่าที่ควร แต่ความวิตกกังวลของเหล่าแรงงานไทยนี้ก็ค่อยๆ คลายลงไปหลังเห็นว่าเพื่อนแรงงานหลายคนได้รับการรักษาจนหายและรับรู้ว่าอัตราการเสียชีวิตในสิงคโปร์ต่ำมาก แต่ถึงอย่างนั้นการที่พวกเขาถูกกักตัวอยู่แต่ในหอมานานถึง 3-4 เดือน ก็ยิ่งทวีความเครียดของพวกเขาขึ้นเรื่อยๆ ที่แย่กว่านั้นคือแรงงานไทยเหล่านี้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะต้องถูกกักตัว ไม่ได้ทำงาน และไม่ได้ใช้ชีวิตปกติอย่างที่เคยไปอีกนานแค่ไหน
นอกจากความเครียดจากการถูกกักตัว อุดมลักษณ์ยังพูดถึงความลำบากอีกหลายประการที่แรงงานไทยตามหอพักในสิงคโปร์กำลังเผชิญ อย่างเช่นการได้รับเงินเดือนที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนเคยเพราะต้องหยุดงาน แม้ทางการจะมีมาตรการจ่ายเงินชดเชยให้พวกเขาผ่านทางนายจ้าง แต่เงินก้อนนี้ก็ถูกนายจ้างหักไปเป็นค่าอาหารและสวัสดิการอื่นๆ ก่อนที่จะส่งถึงมือแรงงาน ขณะที่การโอนเงินกลับไปให้ครอบครัวที่ไทยก็ทำได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปสถาบันการเงินด้วยตัวเองได้อีกต่อไป
นอกจากนี้เรื่องพื้นฐานอย่างอาหารการกินก็เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากแรงงานไทยหลายคนต้องทานแต่อาหารที่ทางการจัดหาให้ ซึ่งมักเป็นอาหารจีนหรืออินเดียที่ไม่คุ้นชินคนไทยติดต่อกันนานหลายเดือน อีกปัญหาใหญ่สำหรับแรงงานไทยก็คืออุปสรรคทางภาษาที่ทำให้แรงงานไม่สามารถสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือหรือสอบถามเรื่องต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ได้เหมือนอย่างแรงงานชาติอื่นๆ และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญก็คือแรงงานไทยที่ถูกกักตัวนั้นไม่สามารถเดินทางกลับไทยได้ เพราะยังคงติดสถานะเฝ้าระวังจึงยังไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ หลายคนมีธุระเร่งด่วนอย่างเช่นมีญาติพี่น้องป่วยหนักหรือเสียชีวิต แต่การเดินเรื่องกับทางการสิงคโปร์ก็เป็นไปอย่างล่าช้า
อุดมลักษณ์กล่าวอีกว่าระดับความยากลำบากที่แรงงานไทยแต่ละคนต้องเจอจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นประเภทของหอพัก หรือการดูแลของนายจ้าง นอกจากนี้แรงงานไทยแต่ละคนก็อาจเจอปัญหาส่วนตัวในรายละเอียดยิบย่อยที่ต่างกันออกไป เพื่อที่จะได้เข้าใจหัวอกแรงงานไทยในสิงคโปร์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ผู้เขียนจึงสอบถามประสบการณ์ตรงจากแรงงานไทย 2 ท่านที่เจอสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งคู่เต็มใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวในช่วงยากลำบากนี้ให้ฟัง เพราะอยากให้พี่น้องคนไทยได้รู้ว่าพวกเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง
นายเอ (นามสมมติ) แรงงานก่อสร้าง อายุ 49 ปี
นายเอสิ้นสุดสัญญากับนายจ้างในสิงคโปร์ไปแล้วเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และได้เดินทางกลับถึงจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของเขาเมื่อไม่นานมานี้ แต่ก่อนกลับมายังประเทศไทย นายเอก็ผ่านความยากลำบากในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในกลุ่มแรงงานข้ามชาติมาตลอด 3 เดือนเต็ม และที่สำคัญนายเอติดโควิด-19 จากหอพักของเขาในสิงคโปร์ด้วย นายเอเต็มใจถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งหมดให้ฟัง แต่เขาขอไม่ให้เปิดเผยชื่อ-นามสกุลจริง เพราะเขากังวลว่าสิ่งที่เขาบอกเล่าอาจมีผลกระทบถึงตัวเองและนายจ้างเก่า
นายเอเดินทางไปทำงานที่สิงคโปร์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2542 โดยทำงานให้กับนายจ้างล่าสุด ซึ่งเป็นบริษัทด้านการก่อสร้างมาทั้งหมด 5 ปี หอพักที่นายจ้างเขาจัดหาให้อยู่นอกตัวเมืองสิงคโปร์ในย่าน Tai Seng เขาบอกว่าความแออัดคับแคบในหอพักที่พูดกันในข่าวนั้นเป็นเรื่องจริง เขาเริ่มเล่าจากห้องนอนของเขาว่าสภาพค่อนข้างเก่า มีพื้นที่เพียงประมาณ 25 ตารางเมตร แต่ถูกจัดให้นอนรวมกันสูงสุดถึง 14 คน เขาคำนวณมาให้เสร็จสรรพว่าห้องเขามีพื้นที่ต่อคนเฉลี่ยแค่เกือบๆ 2 ตารางเมตรเท่านั้น ในห้องมีทั้งแรงงานที่เป็นคนไทยและชาติอื่นๆ อยู่ร่วมกัน โดยที่นายเอได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าห้อง ส่วนห้องน้ำ นายเอเล่าว่าแต่ละห้องมีห้องน้ำในตัว แต่ก็แปลว่าห้องน้ำห้องเดียวใช้รวมกันถึง 14 คน อันที่จริงในช่วงก่อนหน้าที่จะมีโควิด-19 เขาไม่เคยรู้สึกว่าสภาพความเป็นอยู่แบบนี้จะเป็นปัญหาอะไร จนกระทั่งการระบาดของโควิด-19 มาถึง
หอพักที่นายเออาศัยอยู่ถูกสั่งล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนพร้อมกับอีกหลายๆ หอตามคำสั่งของรัฐบาลหลังจากที่เริ่มพบการระบาดในหอพักแรงงานหลายแห่ง นายเอพร้อมกับแรงงานอีกหลายพันคนในหอพักถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในห้องตัวเองเท่านั้น แต่ด้วยจำนวนแรงงานที่อยู่ในห้องเดียวกันตอนนั้นถึง 13-14 คน นายเอบอกว่าการเว้นระยะห่างเป็นไปไม่ได้เลย ภายในห้องยังมีเพียงหน้าต่างบานเล็กๆ บานเดียวที่ช่วยระบายอากาศเท่านั้น จนน่ากังวลว่าจะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค แรงงานในหอพักนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปเดินยืดเส้นยืดสายหรือออกกำลังกายนอกห้องเลย นายเอบอกว่าในแต่ละวัน เขาทำได้แค่กินๆ นอนๆ ออกกำลังเล็กน้อยในห้อง และดูหนังผ่านซิมอินเทอร์เน็ตที่รัฐบาลแจกให้กับแรงงานต่างชาติไว้ใช้ในช่วงล็อกดาวน์ แน่นอนว่าเมื่อถูกกักตัว นายเอและแรงงานคนอื่นๆ ก็ต้องหยุดงานไปโดยปริยาย นายเอบอกว่าจากที่เคยออกไปทำงานมาตลอด พอมาถูกสั่งให้อยู่แต่ในห้องแคบๆ นานเป็นเดือน เขาและเพื่อนแรงงานรู้สึกอึดอัด เครียดสะสม จนบางคนที่ไม่เคยป่วยเลยก็เริ่มป่วย เพราะพอหยุดงานนานๆ เข้า ร่างกายก็เริ่มอ่อนแอลง บวกกับสุขอนามัยของห้องที่ไม่สู้ดีนัก
ปกติแล้วนายเอมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,600-1,700 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 36,800-39,100 บาท) แต่เมื่อไม่ได้ทำงาน เขาจึงไม่ได้เงินเดือน อย่างไรก็ตามรัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายให้เงินชดเชยกับนายจ้างที่ได้รับผลกระทบเดือนละ 750 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 17,250 บาท) ต่อหัวลูกจ้าง เมื่อนายจ้างหักค่าเช่าห้องและสวัสดิการต่างๆ ของลูกจ้างออกจากเงินก้อนนี้ไปแล้ว จึงได้ส่งผ่านเงินที่เหลือมาถึงนายเอเดือนละ 430 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 9,890 บาท) นี่เป็นปัญหาที่แรงงานไทยหลายคนเจออย่างที่อุดมลักษณ์ได้กล่าวถึง นายเอบอกด้วยว่าแรงงานบางคนก็ได้น้อยกว่านี้มาก บางคนก็ไม่ได้เลย
ถึงจะได้รายรับน้อยกว่าเดิมมาก แต่นายเอบอกว่าอย่างน้อยก็ยังดี เพราะช่วงถูกกักตัว ไม่มีอะไรให้เขาต้องใช้เงินมากมายอยู่แล้ว ข้าวของเครื่องใช้ก็มีนายจ้างช่วยหาให้ ส่วนอาหารการกินนั้นทางการสิงคโปร์ก็ดูแล แต่ปัญหาสำหรับนายเอและแรงงานไทยคนอื่นๆ ก็คืออาหารที่จัดมาให้กลับไม่ค่อยถูกปาก ส่วนใหญ่ได้กินอาหารจีน และเกือบทุกมื้อเป็นอาหารพวกเนื้อไก่ ไม่มีเนื้อสัตว์อื่น เพื่อนแรงงานไทยของเขาบางคนเป็นเกาต์ก็กินไม่ได้เลย แม้จะแจ้งกับเจ้าหน้าที่ไปหลายรอบแล้วก็ตาม บางมื้อก็มีแค่หมั่นโถวให้กินเท่านั้น นายเอบอกว่าอาหารคือปัญหาใหญ่มากสำหรับแรงงานไทยที่นั่น
ความลำบากอีกหลายอย่างที่นายเอต้องเจอก็ยังคงสอดคล้องกับคำบอกเล่าของอุดมลักษณ์ อย่างเช่นเรื่องการส่งเงินกลับบ้าน นายเอบอกว่าปกติแล้วเขาจะเข้าตัวเมืองไปทำเรื่องส่งเงินที่สถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้า Golden Mile ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของคนไทยในสิงคโปร์ แต่เมื่อออกจากหอไม่ได้ เขาจึงออกไปส่งเงินเองไม่ได้ แต่ต้องทำเรื่องผ่านกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ ซึ่งเขาบ่นให้ฟังว่าเดินเรื่องช้ามาก กว่าจะส่งเงินถึงครอบครัวในไทยใช้เวลาถึง 3 อาทิตย์ จากเดิมที่ใช้เพียงแค่ 10-15 นาที นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความลำบากในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางการ นายเอบอกว่าเขาและแรงงานไทยหลายคนไม่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ ขณะที่ทางการมักจะสื่อสารกับแรงงานต่างชาติด้วย 4 ภาษาหลักคืออังกฤษ จีน มลายู และทมิฬเท่านั้น เขาบ่นว่าถ้ามีภาษาไทยก็คงจะดีกว่านี้
ก่อนหน้าวันที่ 7 เมษายนซึ่งเป็นวันเริ่มล็อกดาวน์หอไม่นาน นายเอเจอเหตุการณ์ที่ทำเอางงเป็นไก่ตาแตก เขาเล่าว่ามีแรงงานชาวจีนคนหนึ่งเพิ่งกลับมาจากอู่ฮั่น เมืองแรกที่พบการแพร่กระจายของโควิด-19 เป็นวงกว้าง แต่ที่น่าประหลาดใจคือแรงงานคนนี้ไม่ถูกกักตัวหลังเดินทางมาถึงสิงคโปร์ ไม่ได้รับการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าหอ และยังถูกจัดให้มานอนในห้องนอนที่นายเอพักอยู่ จนนายเอตัดสินใจร้องเรียนเจ้าของหอพัก ทำให้แรงงานจีนคนนั้นถูกย้ายไปพักชั้นอื่น แต่เพียงแค่ 5 วันก็กลับมาที่ห้องเดียวกับนายเอเหมือนเดิม ซึ่งนายเอก็ไม่เข้าใจเหตุผล เหตุการณ์นี้ทำให้นายเอเริ่มเห็นจุดบอดของการควบคุมโรคของรัฐบาลสิงคโปร์ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตนายเอที่นั่นด้วย
เรื่องราวบานปลายขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม หลังจากที่แรงงานจีนคนนั้นเริ่มมีไข้ เจ็บคอ เจ็บหน้าอก นายเอแจ้งทีมแพทย์ให้ส่งตัวแรงงานคนดังกล่าวไปโรงพยาบาลด้วยตัวเอง ต่อมาเพียงไม่กี่วัน แรงงานหลายคนในห้องพักเริ่มแสดงอาการรวมถึงนายเอเองด้วย แต่แรงงานบางคนรวมถึงแรงงานไทยส่วนหนึ่งกลับกลัว ไม่ยอมไปแจ้งขอตรวจโรคและยังคงอยู่ในห้องพักต่อไปจนถึงทุกวันนี้ ตรงนี้ทำให้นายเอแคลงใจถึงประสิทธิภาพการสอบสวนโรคของทางการสิงคโปร์ เพราะตามหลักแล้วทุกคนในห้องนั้นถือว่าเข้าข่ายต้องสงสัยและควรจะต้องถูกจับตรวจทั้งหมด ส่วนตัวนายเอตัดสินใจแจ้งทีมแพทย์ของหอเพื่อขอให้ตัวเองรับการตรวจ เขาได้เข้าตรวจหาเชื้อในวันที่ 18 พฤษภาคม ระหว่างรอผลเขาถูกย้ายไปกักในห้องอื่นของหอพักเดียวกัน ทีแรกเขาเข้าใจว่าเขาจะถูกกักแบบเดี่ยวๆ แต่เขาก็ต้องมาประหลาดใจอีกเมื่อรู้ว่าห้องนอนที่เขาย้ายไปกักตัวระหว่างรอฟังผลนั้นมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อกักรวมกันกับเขาอยู่อีก 7 คน โดยที่ไม่รู้เลยว่าใครมีเชื้อหรือปลอดเชื้อ นายเอพูดอีกว่าห้องนั้นดูสกปรกมากเหมือนไม่ได้รับการทำความสะอาดมานาน และไม่น่าเป็นห้องที่เอื้อต่อการกักตัวเพื่อควบคุมโรค นายเอได้นอนอยู่ในห้องนี้ 2 คืนก่อนที่จะถูกส่งไปที่โรงพยาบาลในวันที่ 21 พฤษภาคม พร้อมกับรับรู้ผลในวันนั้นว่าเขาติดเชื้อโควิด-19
หลังรู้ผลแล้ว นายเอไม่ได้รู้สึกตื่นตระหนกอะไรมากนักเพราะได้ทำใจมาแล้วในระดับหนึ่ง และอาการของเขาก็ไม่ได้มีอะไรรุนแรงน่ากังวลมาก เขาเล่าว่าระหว่างอยู่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่แพทย์ให้เพียงยาแก้ปวดหัวและยาอมแก้เจ็บคอรักษาตามอาการเพียงเท่านั้น ถัดมาวันที่ 25 พฤษภาคม เขาได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล ทั้งที่ตัวเขายังไม่ได้รับแจ้งแบบชัดเจนว่าเขายังมีเชื้ออยู่หรือเปล่า แต่นายเอก็ยังไม่ได้เป็นอิสระในทันที เขาถูกย้ายไปกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ แต่นายเอก็ถูกย้ายสถานที่กักตัวถึง 4 ครั้งในช่วงเวลาเพียงเดือนเศษๆ และมักเป็นการย้ายแบบกะทันหัน ในบางที่เขาก็ยังคงถูกกักรวมกับแรงงานคนอื่นๆ อีกถึง 10 คน แต่เขาบอกว่าอย่างน้อยแต่ละที่ที่เขาถูกย้ายไปจัดว่ามีสภาพใช้ได้ ดีกว่าหอพักที่เขาเคยอยู่ และยังได้รับอนุญาตให้ออกไปยืดเส้นยืดสาย ออกกำลังกายข้างนอกอาคารได้บ้าง แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็มองว่าการที่เขาต้องย้ายไปย้ายมาบ่อยมันแสดงถึงการดำเนินงานของทางการสิงคโปร์ที่ค่อนข้างสับสน แทนที่จะกำหนดให้อยู่สถานที่เดียวไปเลย
ระหว่างอยู่ในสถานกักตัว นายเอก็ได้สิ้นสุดสัญญากับนายจ้างลงในวันที่ 25 มิถุนายน เมื่อเขาไม่มีสถานะเป็นแรงงานแล้ว เขาจึงพยายามเดินเรื่องขอเดินทางกลับไทย แต่ก็ยังติดที่ว่าทางกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ยังไม่ปลดสถานะเฝ้าระวังของเขา นั่นแปลว่าเขายังต้องถูกกักตัวต่อไปและยังบินกลับไทยไม่ได้ อีกทั้งไม่มีการแจ้งเลยว่าเขาจะต้องถูกกักตัวไปอีกนานแค่ไหน นายเอต้องติดต่อกับสถานทูตไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ช่วยประสานงานกับกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ให้แก้ไขสถานะของเขา เขาบอกว่าการดำเนินงานของทางการสิงคโปร์เป็นไปอย่างล่าช้า เขาติดต่อหลายหน่วยงานจนหัวหมุนพร้อมรอลุ้นผลอยู่เป็นอาทิตย์ ขณะที่เจ้าตัวก็อยากกลับบ้านใจจะขาด จนในที่สุดเขาก็ถูกปล่อยจากการกักตัวและได้กลับไทยโดยสวัสดิภาพเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
นายเอบอกว่าจนถึงตอนนี้ หอพักแรงงานที่เขาจากมาก็ยังคงถูกกำหนดเป็นพื้นที่อันตรายอยู่ ในขณะที่ตัวเขากำลังโล่งใจที่ได้กลับภูมิลำเนาไปหาครอบครัวอย่างปลอดภัย เพื่อนแรงงานของเขาหลายคนรวมถึงคนไทยในหอนั้นยังคงถูกกักตัวอยู่ในหอพักเป็นระยะเวลาย่างเข้า 4 เดือนแล้ว
ประสิทธิ์ อินทรี พนักงานดูแลสโตร์ของบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง อายุ 51 ปี
ประสิทธิ์ อินทรี เป็นชาวนครพนม เริ่มเข้าไปทำงานในสิงคโปร์ครั้งแรกในปี 2538 โดยทำงานกับนายจ้างบริษัทล่าสุดมาได้ 8-9 ปีแล้ว ประสิทธิ์ก็เป็นแรงงานไทยอีกคนที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ระบาดในหอพักแรงงานสิงคโปร์ แต่เรื่องราวของเขาไม่ได้หนักหนาสาหัสมากเหมือนกับเรื่องของนายเอ อย่างหนึ่งคือเขาโชคดีที่ไม่ติดโควิด-19 และอีกอย่างเขาบอกว่าเป็นเพราะหอพักและนายจ้างของเขาอาจจะถือได้ว่าดีกว่าของใครหลายคน
ประสิทธิ์เล่าว่าอันที่จริงเขาไม่ค่อยได้อยู่หอพักที่นายจ้างจัดไว้ให้เท่าไร ส่วนใหญ่เขานอนแถวบริเวณที่ทำงานเพื่อประหยัดเวลาการเดินทาง แต่เมื่อรัฐบาลสั่งการในวันที่ 5 เมษายนให้แรงงานต่างชาติทุกคนต้องอยู่ในที่พักที่ได้ลงทะเบียนไว้แต่แรกเท่านั้น ประสิทธิ์จึงต้องกลับไปที่หอพักภายในวันที่ 7 เมษายนพร้อมกับถูกกักบริเวณอยู่ภายในหอ ประสิทธิ์บอกว่าหอพักของเขาอยู่ทางฝั่งตะวันตกเกือบสุดของเกาะสิงคโปร์ สภาพของหอพักเขาไม่ได้แย่มากนัก คล้ายๆ กับแฟลตจัดสรรของรัฐบาลที่เห็นได้ทั่วไปในสิงคโปร์ แต่เขาก็ยอมรับว่าหอของเขามีแรงงานอยู่ค่อนข้างหนาแน่นเดินสวนกันไปมา ส่วนในห้องนอนของประสิทธิ์มีแรงงานพักอยู่ 10 คน แต่ก็ค่อยๆ ทยอยออกไปยังสถานที่ใหม่ที่รัฐจัดให้หลังจากเข้ารับการตรวจเชื้อ ประสิทธิ์ยืนยันว่าแรงงานจะได้รับตรวจเชื้อทุกคน เพียงแต่ใครได้ช้าได้เร็วเท่านั้น เขาเข้าใจว่าเป็นเพราะแรงงานข้ามชาติมีจำนวนเยอะมาก ทางการสิงคโปร์จึงไม่สามารถตรวจครบทุกคนได้ในระยะเวลาสั้นๆ สถานการณ์ถึงได้กินเวลานานขนาดนี้
ประสิทธิ์เพิ่งทราบผลตรวจเชื้อเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่าไม่ติดเชื้อ จึงถูกย้ายออกจากหอพักไปกักตัวที่โรงแรมแห่งหนึ่งในย่าน Katong นั่นแปลว่าก่อนที่เขาจะถูกย้ายไปโรงแรม เขาได้ถูกกักตัวให้อยู่แต่ในหอพักแรงงานมาถึงกว่า 3 เดือน เขาเล่าย้อนไปถึงช่วงเวลาที่ถูกกักบริเวณว่าในช่วง 14 วันแรก ทางการค่อนข้างเข้มงวด ไม่ให้แรงงานออกจากห้องพักเลย แต่หลังจากนั้นแรงงานก็เริ่มได้รับอนุญาตให้ออกมาเดินยืดเส้นยืดสายด้านล่างอาคารบ้าง ซึ่งยังดีกว่าบางหอพักที่สั่งให้แรงงานอยู่แต่ในห้อง ส่วนเรื่องอาหาร เขาก็มีปัญหาคล้ายกับแรงงานไทยคนอื่นๆ คืออาหารที่ทางการจัดให้แต่ละมื้อไม่ค่อยจะถูกปาก แต่ยังดีที่ว่าเจ้าหน้าที่ที่หอของเขายังอนุญาตให้แรงงานสั่งซื้อของจากข้างนอกเข้ามาได้ นอกจากนี้ในหอยังมีห้องครัวให้เขาทำอาหารเองได้ โดยเขามักจะทำกับข้าวกินควบคู่ไปกับอาหารกล่องของทางการเพื่อแก้เลี่ยน
ถึงแม้จะต้องหยุดงานไปหลายเดือน แต่ประสิทธิ์ยังโชคดีที่นายจ้างจ่ายเงินเดือนให้เต็มจำนวน อย่างไรก็ตามตัวเขายอมรับว่าพอไม่ได้ทำงานนานๆ เขาและเพื่อนแรงงานก็รู้สึกเบื่อๆ หลายคนรู้สึกเครียดและเริ่มป่วย ส่วนตัวประสิทธิ์ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงนี้ไปกับการเล่นมือถือ ทำกับข้าวบ้างแก้เบื่อ และที่สำคัญเขาใช้โอกาสในช่วงเวลานี้ผันตัวเป็นยูทูเบอร์ โดยใช้ช่อง YouTube ของตัวเองในชื่อ Prasit Insee โพสต์คลิปวิดีโอบอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง และอัปเดตข่าวสารสถานการณ์โควิด-19 ในสิงคโปร์เป็นประจำ นอกจากการทำคลิปจะช่วยคลายความเบื่อหน่ายให้เขาได้บ้างแล้ว เขาบอกว่าเขายังทำเพื่อให้เพื่อนแรงงานไทยที่สิงคโปร์ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพราะข่าวลือก็มีเยอะ และอยากให้พี่น้องคนไทยคนอื่นๆ ได้รับรู้ถึงความลำบากของชีวิตแรงงานไทยในต่างแดน อย่างไรก็ตามประสิทธิ์กังวลอยู่เล็กน้อยกับการทำคลิปว่าจะมีผลต่อใบอนุญาตทำงานของเขาหรือเปล่า เพราะที่จริงแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ต้องการให้เผยแพร่ภาพภายในหอพักเท่าไรนัก ด้วยความกลัวว่าสาธารณชนข้างนอกจะเห็นภาพลบ
วันที่ 2 สิงหาคมนี้คือกำหนดการที่ประสิทธิ์จะได้รับการปล่อยตัวจากการถูกกักในโรงแรมเพื่อเฝ้าดูอาการหลังออกจากหอพัก เขาตั้งหน้าตั้งตารอวันนั้นเพื่อที่จะได้กลับไปทำงาน ประสิทธิ์สรุปถึงการจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลสิงคโปร์ว่าโดยรวมมาตรการต่างๆ ก็ถือว่าโอเคสำหรับเขา เขาเข้าใจดีว่าด้วยสถานการณ์ที่วิกฤตขนาดนี้ เขาทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากต้องยอมรับและทำตามคำสั่งของทางการสิงคโปร์ เขาบอกว่าอย่างน้อยการถูกกักตัวนานเป็นเดือนก็ยังปลอดภัยกว่าปล่อยให้เขาออกไปไหนมาไหนก็ได้จนอาจไปเสี่ยงติดเชื้อในชุมชน หรือปล่อยให้แรงงานเอาเชื้อออกไปแพร่ข้างนอกจนลุกลามบานปลายเข้าไปอีก ประสิทธิ์บอกอีกว่ามีแรงงานไทยหลายคนบ่นถึงมาตรการของรัฐที่สับสนและสร้างความลำบากให้พวกเขา แต่ประสิทธิ์เองก็เข้าใจ เพราะเพื่อนแรงงานไทยเหล่านั้นเจอสถานการณ์ที่แย่กว่าเขาหลายเท่า เขาสรุปว่าแรงงานไทยแต่ละคนจะรู้สึกอย่างไรต่อสถานการณ์และการทำงานของรัฐบาลสิงคโปร์ ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ของแต่ละคนแย่ขนาดไหน ส่วนตัวเขาเอง เขาคิดว่ายังโชคดีกว่าหลายคนมาก
คนไทยอยู่ที่ไหนก็ช่วยเหลือกัน
ในช่วงเวลานี้ที่แรงงานไทยในสิงคโปร์เจอกับความยากลำบากอันหนักหนาสาหัสที่สุด สมาคมไทยสิงคโปร์ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่คอยให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยให้คำปรึกษา หรือช่วยแปลเอกสาร ช่วยประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ บ้างตามที่แรงงานไทยได้ร้องขอ และภารกิจที่นับว่าโดดเด่นมากของสมาคมไทยสิงคโปร์ก็คือการส่งมอบอาหารไทยให้กับแรงงานไทย และช่วงหลังก็ได้ขยายครอบคลุมไปถึงยารักษาโรค และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ โดยทางสมาคมได้รับบริจาคมาจากคนหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นคนไทยทั้งในสิงคโปร์และนอกสิงคโปร์ รวมถึงชาวต่างชาติด้วย ส่วนการส่งมอบสิ่งของนั้นจะส่งให้กับแรงงานที่แจ้งความประสงค์ไปยังสมาคมเท่านั้น เนื่องจากสมาคมไม่อาจทราบได้ว่าแรงงานไทยมีใครบ้าง อยู่ที่ไหนกันบ้าง และยังติดข้อจำกัดของกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ที่กำหนดให้การส่งของต้องระบุชื่อและหมายเลขห้องผู้รับให้ชัดเจน ที่ผ่านมามีแรงงานไทยแจ้งขออาหารและสิ่งของต่างๆ เข้ามาต่อเนื่อง ส่วนสมาคมไทยดำเนินการส่งมอบของอย่างขยันขันแข็งกันมาตลอด จนถึงตอนนี้ทางสมาคมได้ส่งมอบของไปให้แรงงานไทยแล้วเกือบ 3,000 คนจากเกือบ 200 หอพัก
อุดมลักษณ์บอกว่าการส่งมอบสิ่งของที่ได้รับจากการบริจาคของคนหลายกลุ่มให้กับพี่น้องแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ ทำให้พวกเขารู้สึกซาบซึ้งใจ พวกเขาได้รับรู้ว่ายังไม่ถูกทอดทิ้งและมีธารน้ำใจหลั่งไหลมาให้พวกเขาจากทั่วทุกที่ เหมือนเป็นอีกหนึ่งหยาดน้ำชโลมใจในห้วงเวลาที่พวกเขากำลังเผชิญวิกฤตที่สาหัสที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต นอกจากนี้แรงงานไทยในสิงคโปร์ยังออกมาให้กำลังใจกันเองอยู่หลายโอกาส โดย Facebook ของสมาคมไทยสิงคโปร์ก็ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ได้เห็นคลิปของแรงงานไทยออกมาพูดส่งแรงใจให้เพื่อนแรงงานไทยร่วมฟันฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน
อนาคตแรงงานไทยในสิงคโปร์จะไปทางไหน?
กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์คาดว่าแรงงานต่างชาติในหอพักจะได้รับการตรวจเชื้อครบทั้งหมดภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะทำให้พวกเขาแทบทั้งหมดจะได้กลับไปทำงานได้อีกในไม่ช้า ขณะนี้ทางการสิงคโปร์ได้ทยอยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติรวมถึงแรงงานไทยออกจากการกักตัวพร้อมกลับไปทำงานได้หลายคนแล้ว อย่างไรก็ตามพวกเขาจะยังไม่ได้ใช้ชีวิตปกติเสียทีเดียว อุดมลักษณ์บอกว่าแรงงานต่างชาติเหล่านี้ได้ถูกจำกัดให้เดินทางไปมาระหว่างหอพักกับที่ทำงานเท่านั้น โดยเดินทางด้วยรถรับส่งที่ทางนายจ้างจัดให้เท่านั้น และไม่สามารถออกนอกเส้นทางได้โดยเด็ดขาด แต่ถึงจะเข้มงวดกวดขันขนาดนั้น อุดมลักษณ์ได้กางข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์ของเดือนนี้ให้ดูพร้อมชี้ว่า ยอดผู้ติดเชื้อในหอพักแรงงานดูจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกนับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม ซึ่งบ่งบอกว่าการระบาดระลอกใหม่ในหอพักกำลังเกิดขึ้น อุดมลักษณ์ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้างยังคงทำได้ยาก และรถรับส่งไปกลับระหว่างหอพักกับที่ทำงานก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เพราะนายจ้างไม่ได้จัดเว้นระยะห่างที่นั่งบนรถ ด้วยความกลัวว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจ้างรถมารับส่งคนงานเพิ่ม
ถึงแม้รัฐบาลสิงคโปร์จะมีนโยบายให้ความดูแลแรงงานต่างชาติดีขึ้น อย่างเช่นการทยอยสร้างหอพักแรงงานใหม่ที่ช่วยลดความแออัดและคำนึงถึงสุขอนามัยมากขึ้น แต่อุดมลักษณ์ให้ความเห็นว่า เรายังไม่อาจมั่นใจได้นักว่าแรงงานข้ามชาติรวมถึงแรงงานไทยในสิงคโปร์จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหลังจากนี้ เพราะยังคงต้องรอดูเงื่อนไขโดยละเอียดว่าภาระค่าใช้จ่ายในการสร้างสวัสดิการแก่แรงงานที่ดีขึ้นจะไปตกอยู่ที่ใคร หากตกที่นายจ้าง ก็ต้องอย่าลืมว่านายจ้างตอนนี้กำลังสาหัสจากปัญหาเศรษฐกิจ และจะทำให้พวกเขาเลือกผลักภาระต้นทุนเหล่านั้นไปที่แรงงานข้ามชาติเองก็ได้ ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องดีสำหรับแรงงาน ทางออกหนึ่งคือรัฐบาลอาจต้องยื่นมือเข้ามาช่วยแบกภาระ แต่อยู่ที่ว่าจะช่วยหรือไม่ ช่วยขนาดไหน และจะช่วยนานเท่าไร
นับจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น แรงงานไทยก็มีมุมมองต่ออนาคตของตัวเองในสิงคโปร์แตกต่างกันไปต่างๆ นานา บางคนถึงแม้จะอยากกลับไทย แต่ก็ไม่มั่นใจว่ากลับมาแล้วจะยังได้รายได้สูงเท่าที่สิงคโปร์หรือไม่ อย่างเช่นประสิทธิ์ที่บอกว่าจำเป็นต้องอยู่สิงคโปร์ต่อ เพราะยังต้องส่งเสียลูกที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัย 2 คน ส่วนแรงงานไทยบางคนก็ได้รับการร้องขอจากนายจ้างให้อยู่ต่อ เพราะการทำงานของหลายบริษัทในสิงคโปร์ยังต้องพึ่งแรงงานต่างชาติอยู่มาก ขณะเดียวกันแรงงานไทยจำนวนหนึ่งก็เลือกที่จะเดินทางกลับไทย แรงงานไทยเหล่านี้ได้พูดกับอุดมลักษณ์ว่าพวกเขาได้เรียนรู้ในระหว่างถูกกักตัวอย่างทนทุกข์ทรมานว่า บางทีการกลับไปอยู่บ้านแบบพอเพียงและได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัวน่าจะดีกว่า ถึงแม้อาจจะได้รายได้ไม่สูงเท่าเดิมก็ตาม บางส่วนก็มองว่าทุกวันนี้ค่าแรงในไทยก็ไม่น้อยกว่าสิงคโปร์มากขนาดนั้นแล้ว
ชายนามสมมติว่านายเอที่ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ก็เป็นคนหนึ่งที่ตัดสินใจเดินทางกลับไทยหลังผ่านมรสุม เขายังไม่แน่ใจในอนาคตตัวเองนัก แต่ก็คิดไว้เบื้องต้นว่าจะหางานทำในไทย และเมื่อถูกถามว่าถ้ากลับไปสิงคโปร์ได้ จะกลับไปอีกหรือไม่ ถึงเขาจะทำงานในสิงคโปร์มาเกือบ 20 ปี แต่เขาก็ได้ตอบคำถามนี้สั้นๆ ว่า “ผมไม่กลับไปแล้ว เข็ดแล้ว”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์