×

สภาพัฒน์ชี้แจงข่าวตัดเงินเพิ่มพิเศษ อสม. ช่วงโควิด-19 ยันคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เสนอตามมติ ครม. 15 เม.ย. 63

27.07.2020
  • LOADING...

ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ตามที่ได้มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ กรณีสภาพัฒน์ พิจารณาตัดเงินช่วยเหลืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จาก 19 เดือน เหลือ 7 เดือน ทางสภาพัฒน์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ขอเรียนข้อเท็จจริง ดังนี้ 

 

  1. จากโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (แผนงานหรือโครงการที่ 1) ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ มีกรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ 45,000 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุขเสนอโครงการใต้แผนนี้รวมประมาณ 51,985 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมถึงโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงินไม่เกิน 10,019.9255 ล้านบาท ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษคนละ 500 บาทต่อเดือน ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข จำนวน 1,054,729 คน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – กันยายน 2564

 

  1. ทั้งนี้ การกลั่นกรองความเหมาะสมของโครงการที่เสนอขอเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ นั้นจะมีกลไกคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ มีทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกร่วมกันพิจารณาฯ โครงการ เช่น ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก สำหรับกรณีโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ในชุมชน กรอบวงเงินไม่เกิน 10,019.9255 ล้านบาทนั้น

 

คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า อสม. เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานด้วยความเสียสละมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ขณะนี้ อสม. ได้ค่าตอบแทน 1,000 บาทต่อเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขที่ขอให้มีเงินเพิ่มพิเศษอีก


500 บาทต่อเดือน สำหรับ อสม. จึงมีความเหมาะสมที่ควรปรับเพิ่มให้ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาระยะเวลาในการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้จ่ายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – กันยายน 2564 (19 เดือน) ทางคณะกรรมการฯ ได้พิจารณา

 

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 เรื่องการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขรองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดโควิด-19 เห็นชอบให้บุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ได้รับเงินเพิ่มเติมพิเศษรายเดือน และหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0408.5/ว102 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19

 

ซึ่งกำหนดอัตราการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และระยะเวลาสิ้นสุดการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษระยะแรกดังกล่าวไว้ที่เดือนกันยายน 2563

 

คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้จึงมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เห็นควรให้ความเห็นชอบโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย และค่าเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (แผนงานหรือโครงการที่ 1) เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษคนละ 500 บาทต่อเดือน ให้แก่ อสม. และ อสส. รวมจำนวนไม่เกิน 1,054,729 คนต่อเดือน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – กันยายน 2563 กรอบวงเงินไม่เกิน 3,622.3195 ล้านบาท เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 และหนังสือเวียนของกระทรวงการคลังที่กำหนดให้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษถึงเดือนกันยายน 2563

 

ทั้งนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงของการระบาดมากขึ้น ก็ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำเสนอเหตุผลความจำเป็น เพื่อขยายเวลาการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาพรวมต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X