เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยของชาติ (วช.) กล่าวถึงการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 ทั่วโลก ว่า ผลการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เป็นที่น่าพอใจ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในอาสาสมัคร และไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง ทำให้นักวิทยาศาสตร์มั่นใจมากขึ้นว่าจะสามารถพัฒนาและผลิตวัคซีนที่ใช้งานได้
สำหรับวัคซีนที่กำลังทดสอบในมนุษย์มีถึง 30 แบบ เข้าสู่การทดสอบระยะที่ 3 ในประชากรจำนวนมาก เพื่อดูผลในการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะได้รับการรับรองเพื่อใช้งานทั่วไป
โดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกคาดว่า ช่วงต้นปี 2564 จะเริ่มมีวัคซีนจำนวนหนึ่งที่พร้อมใช้ในคน แต่ยังมีจำนวนจำกัด หลังจากนั้นจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ เพื่อให้มีวัคซีนจำนวนมากเพียงพอ
ส่วนรูปแบบการใช้งานและราคานั้น ส่วนใหญ่จะเห็นผลว่ามีระดับภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ดังนั้นจึงคาดว่าจะต้องฉีดวัคซีนคนละ 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน
โดยราคาวัคซีน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ตกลงสั่งซื้อวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทไบออนเทค ประเทศเยอรมนี ร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ สหรัฐอเมริกา เป็นการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าหากวัคซีนประสบความสำเร็จ โดยสั่งซื้อวัคซีนจำนวน 100 ล้านเข็ม (สำหรับฉีดในคน 50 ล้านคน) ที่ราคา 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับเข็มละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ มีการประเมินกันว่าวัคซีนโควิด-19 จะราคา 20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 620 บาท ฉีดคนละ 2 เข็ม เท่ากับค่าวัคซีน 1,240 บาท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยการคาดการณ์ราคาวัคซีนออกมา ราคาดังกล่าวใกล้เคียงกับราคาของวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ประเทศไทยมีการดำเนินงานด้านวัคซีนอย่างคู่ขนานกัน 3 แนวทาง คือ
- การพัฒนาวัคซีนในประเทศ
- การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิควัคซีนที่ผ่านการทดสอบแล้วจากต่างประเทศ เพื่อให้ผลิตได้เพียงพอสำหรับคนไทยทั้งประเทศ
- การเตรียมจัดหาวัคซีนจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: