หากมองย้อนกลับไปในการประกวด Miss Universe 2017 ที่แฟนนางงามชาวไทยทั้งประเทศต่างฝากความหวังมงกุฎที่ 3 ไว้กับ มารีญา พูลเลิศลาภ Miss Universe Thailand 2017 ตัวแทนสาวไทยที่พกดีกรีการศึกษาระดับปริญญาโทจากสวีเดน และนางแบบมืออาชีพ พร้อมกับการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดีเยี่ยม จนมีการคาดว่าเธออาจจะคว้ามงกุฎนางงามจักรวาลในปีนั้น แต่เมื่อถึงรอบตอบคำถาม 5 คนสุดท้าย โดยเธอได้คำถามที่ว่า
“อะไรคือการเคลื่อนไหวทางสังคมที่คุณคิดว่าสำคัญที่สุดในคนรุ่นคุณ”
(What do you think has been the most important social movement of your generation and why?)
และหลังจากที่เธอตอบคำถามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เกิดข้อกังขาบางอย่างว่าเธอเข้าใจเรื่องการเคลื่อนไหวในสังคมของผู้คนในยุคของเธอมากน้อยเพียงใด บ้างก็ว่าเธอยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว หรือคำตอบของเธอนั้นยังไม่จำเพาะเจาะจงถึงการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น #MeToo #LoveWins หรือ Arab Spring เป็นต้น ซึ่งการตอบของมารีญาในวันนั้นดูจะสร้างกระแสให้คนไทยพูดถึง ‘Social Movement’ กันเป็นวงกว้างในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นแฟนนางงามไปจนถึงนักวิชาการและสื่อมวลชน
มารีญา รอบตอบคำถาม Miss Universe 2017
(คลิปโดย MU Thailand)
ทว่า 2 ปีให้หลังที่มารีญาตอบคำถามบนเวทีด้วยเนื้อหาสาระที่ว่า “ฉันคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดเท่าที่ผ่านมานั่นก็คือการที่โลกเรามีประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคของเราแน่นอน นั่นก็คือ ‘ตัวของคนหนุ่มสาวเอง’ พวกเขานี่ล่ะคืออนาคต คนหนุ่มสาวเหล่านี้คือกลุ่มคนที่เราต้องลงทุนฟูมฟัก เพราะพวกเขาจะเป็นคนที่คอยดูแลโลกใบนี้ที่เราอาศัยกันอยู่ต่อไป” ก็กลับมามีกระแสอีกครั้งบนโลกออนไลน์ เพราะเธอได้พิสูจน์คำตอบที่ได้ให้ไว้วันนั้นผ่านอินสตาแกรมในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนและนักศึกษา กับข้อความที่ว่า ‘ภูมิใจนักศึกษาไทย’ ทำให้คนที่ได้อ่านข้อความนี้ต่างก็เสียงแตกกันเป็นกลุ่มต่างๆ ภาพและคลิปการตอบคำถามของเธอในครั้งนั้นถูกนำกลับมารีโพสต์ใหม่ เสียงของมารีญาในวันนั้นที่ปรากฏในวันนี้ดูเหมือนจะ ‘ไม่ธรรมดา’ อีกต่อไป
ในยุคหนึ่ง การแสดงจุดยืนทางการเมืองของ ‘นางงาม’ นั้นมักถูกมองว่าต้องทำตัวให้เป็นกลางและไม่ควรมีปากมีเสียงในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับบริบทของสังคมไทย แต่ในสหรัฐอเมริกาที่วัฒนธรรมการประกวดนางงามได้รับความนิยม กลับเปิดโอกาสให้นางงามได้วิพากษ์ประเด็นทางการเมืองบนเวทีได้อย่างเสรี เช่น เวทีประกวด Miss USA หรือ Miss America นั้น คำถามรอบตัดสินมักจะชงให้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและการเมืองอยู่เสมอ เช่น การดำรงตำแหน่งของบุคคลทางการเมือง หรือปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างเรื่องการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
https://www.youtube.com/watch?v=VvkNO1i7qMk&feature=youtu.be&t=1660
การตอบคำถามและแสดงความคิดเห็นรอบ 15 คนสุดท้ายบนเวที Miss America 2019
(คลิปโดย abc4utah)
วัฒนธรรมการประกวดนางงามถือเป็นวัฒนธรรมมวลชน (Pop Culture) ที่เติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเมื่อเกิดประเด็นทางการเมืองระดับประเทศ นางงามต่างก็ใช้ตัวเองเป็นกระบอกเสียงเพื่อสะท้อนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เช่น เปีย อะลอนโซ วูร์ซบาค หรือแคทรีโอนา เกรย์ สองมิสยูนิเวิร์สจากดินแดนพันเกาะอย่างฟิลิปปินส์ที่เคยแสดงความเห็นในประเด็นการออกกฎหมายต่อต้านและปราบปรามการก่อการร้ายที่รุนแรงของประธานาธิบดีดูเตร์เต (Anti-Terror Bill) โดยเปีย อะลอนโซ วูร์ซบาค Miss Universe 2015 ได้ทวีตข้อความแสดงจุดยืนทางการเมืองของตนเองว่า “ในสมัยก่อนเธอมักจะเลี่ยงการกล่าวถึงประเด็นแบบนี้ เนื่องจากยังไม่มีความรู้และความเข้าใจที่มากพอ แต่ถึงตอนนี้เธอให้ความสนใจกับประเด็นทางการเมืองในประเทศเป็นอย่างมาก เพราะเธออยากได้เสียงและสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตัวเองกลับคืนมา (I need my voice back.)”
I’ll be honest, I never really liked commenting about politics simply cos I felt like I didnt know enough. I wasnt confident enough to speak up… I also was never really a fan of tweeting (Im barely online here) but I realized that I need my voice back…and I need to use it.
— Pia Alonzo Wurtzbach (@PiaWurtzbach) June 3, 2020
เปีย อะลอนโซ วูร์ซบาค Miss Universe 2016 จากฟิลิปปินส์ แสดงจุดยืนเกี่ยวกับการให้ความเห็นทางการเมืองของตนเองผ่านทวิตเตอร์ @PiaWurtzbach
ในขณะที่ Miss Universe 2018 อย่างแคทรีโอนา เกรย์ ก็เคยโพสต์อินสตาแกรมเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยส่วนหนึ่งของข้อความได้ระบุว่า “มีหลายสิ่งมากมายเหลือเกินที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้และในประเทศของเรา และฉันก็รู้ดีว่าเราหลายคนก็อยากจะเบือนหน้าหนีประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เพียงเพราะมันอาจมากเกินจะรับได้ แต่ก็อย่าปล่อยให้นี่เป็นเหตุผลให้เราต้องเงียบปากและทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เราจำต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในประเด็นเหล่านี้ เพราะเสียงของพวกเราทุกคนมีความสำคัญ”
แคทรีโอนา เกรย์ Miss Universe 2018 จากฟิลิปปินส์ แสดงความคิดเห็นผ่านอินสตาแกรม @catriona_gray
นอกจากเอเชียแล้ว ฝั่งลาตินอเมริกาก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน หากแต่ครั้งหนึ่งในการประกวด Miss Venezuela ผู้ฝึกซ้อมการพูดในที่สาธารณะได้บอกให้ผู้เข้าร่วมการประกวดพูดและวางตัวให้เป็นกลางทางการเมือง แต่นั่นอาจจะเป็นมิติที่เก่าไป เพราะในบางประเทศกลับเปิดพื้นที่สาธารณะให้นางงามได้นำเสนอปัญหาในสังคมที่กำลังเกิดขึ้น เช่น การประกวด Miss Peru 2017 ที่ให้ผู้เข้าประกวดกล่าวแนะนำชื่อตนเองและเมืองต้นสังกัด พร้อมตัวเลขสถิติความรุนแรงในเมืองของตนเองแทนตัวเลขสัดส่วนทองคำของเรือนร่างพวกเธอ
ส่วนหนึ่งของการแนะนำตัวผู้เข้าประกวด Miss Peru 2017
(คลิปโดย BBC News)
หากมองย้อนกลับไปในวันที่มารีญาและนางงามอีกหลายคนยังไม่ได้ตระหนักรู้ถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมในมิติทางการเมือง ซึ่งอาจเป็นเพราะกลัวผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาจากกลุ่มผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้กำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน นางงามคือผู้หญิงที่ต้องมีเสียงเป็นของตัวเอง และเมื่อได้รับตำแหน่งและกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในด้านต่างๆ (Empowered Women) ก็จะต้องส่งพลังทั้งกายและใจให้คนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งหลายๆ คนก็อาจจะคิดว่านี่เป็นการทำการตลาด ภาพลักษณ์ หรือการต่อยอดจากการเป็นนางงามก็ไม่ผิด แต่ขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนลำโพงหรือกระบอกเสียงให้คนในสังคมมองเห็นและอภิปรายถึงประเด็นทางสังคมที่นางงามได้สื่อออกไป แต่จะออกมาในรูปแบบไหนนั้น นางงามเองเป็นผู้เลือกและเน้นย้ำให้ชัดขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มารีญาก็ได้ออกมาสื่อผ่านถ้อยคำในพื้นที่อินสตาแกรมส่วนตัวถึงจุดยืนทางการเมืองของเธออีกครั้งถึงกลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ ว่าขอให้ทุกคนนั้นปลอดภัย หากใครไม่สบายขอให้อยู่กับบ้านก่อน และหากออกมาก็ขอให้สวมหน้ากากอนามัย และอยากที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุม แม้ว่าจะไม่สามารถไปได้ พร้อมแฮชแท็ก #Thailand #Change #PeacefulProtest
มารีญาโพสต์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านอินสตาแกรม @marialynnehren
ล่าสุด (23 กรกฎาคม) มารีญาก็ได้ออกมาขอบคุณผู้ที่ติดตามและให้การสนับสนุนในจุดยืนของเธอผ่านอินสตาแกรม พร้อมกันนั้นเธอยังทำให้เห็นถึงวุฒิภาวะของการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ และมุ่งเน้นให้ทุกคนรู้เท่าทันโลกทุนนิยมโดยการไม่ใช้สินค้าใดๆ ที่ตนเป็นพรีเซนเตอร์เพียงเพราะอยากจะปกป้องตนจากการโจมตีของผู้เห็นต่าง แถมยังเชื้อเชิญให้บุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์หรือประเด็นต่างๆ ให้มากขึ้นภายใต้การเคารพกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่พลเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตยพึงกระทำ ทั้งยังทิ้งท้ายด้วยความหวังที่ว่าคนที่เห็นต่างและตัวเธอเองจะมีโอกาสพูดคุยและอภิปรายร่วมกันบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามารีญามีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และเปิดกว้างทางความคิด ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นความงดงามอีกแง่มุมหนึ่งของนางงามในโลกสมัยใหม่ที่มิได้เป็นเพียงพรีเซนเตอร์ที่สวมมงกุฎและสายสะพายเพื่อออกงานและขายสินค้าให้กับกองประกวดหรือสปอนเซอร์เพียงอย่างเดียว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์