×

เงินไม่พอจริงหรือ? ที่มาเหล้า Gin ของพระราชวังบักกิงแฮม อธิบายได้ด้วยวิถีราชวงศ์ยุโรป

โดย THE STANDARD TEAM
23.07.2020
  • LOADING...
เหล้า Gin ของพระราชวังบักกิงแฮม

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • การเปิดตัวเหล้าจินของพระราชวังบักกิงแฮมถูกสื่อต่างชาติตีข่าวว่า เป็นเพราะรายรับจากนักท่องเที่ยวที่เข้าชมพระราชวังมีจำนวนน้อยลงในช่วงโควิด-19 จึงต้องหารายได้ใหม่ๆ
  • แม้ข้อมูลนี้จะมีมูล แต่การเปิดตัวสินค้าที่ระลึกใหม่ในนามราชวงศ์นั้นอาจเป็นเรื่องปกติ เพราะสมาชิกราชวงศ์ยุโรปหลายพระองค์สามารถแบ่งเวลาทำงานหาเงิน ควบคู่ไปกับการปฏิบัติกรณียกิจได้อย่างลงตัว 
  • ไม่เพียงลิกเตนสไตน์ โมนาโก เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร แต่สถาบันกษัตริย์ในอีกหลายประเทศก็พยายามลงทุนหารายได้เพื่อหล่อเลี้ยงราชวงศ์ตามปกติ ขณะที่สมาชิกราชวงศ์บางรายก็พยายามหาอิสระเพื่อทำธุรกิจที่ตัวเองสนใจเป็นพิเศษ

ราชวงศ์อังกฤษตกเป็นเป้าสายตาของชาวโลกทันที เมื่อ Royal Collection Trust ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของสำนักพระราชวัง ได้เปิดตัวเหล้าจินของตัวเอง เพื่อจำหน่ายในร้านค้าภายในพระราชวังตั้งแต่วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม 2020

 

จุดเด่นของเหล้าอยู่ที่การใช้พันธุ์ไม้ในสวนของพระราชวัง ทำให้สื่อตีข่าวว่าเป็นเหล้าที่หมักบ่มด้วยพืชพันธุ์จากสวนหลังบ้านของควีนเอลิซาเบธที่ 2 โดยอ้างว่า ที่มาของการเปิดตัวเหล้าจินนี้มาจากการเก็บรายได้จากบรรดานักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมพระราชวังได้น้อยลง เพราะสถานการณ์โควิด-19 

 

การเปิดตัวนี้เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากมีรายงานว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมพระราชวังบักกิงแฮมนั้นหดหาย ทำให้รายได้ของราชวงศ์ลดลงไปกว่า 18 ล้านปอนด์ หรือราว 723 ล้านบาท โดยหนังสือพิมพ์ The Sun ระบุว่า พระราชวังมีข้อเสนอให้พนักงาน 250 คน อาสาลาออกโดยสมัครใจด้วย

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

เหล้า Gin ของพระราชวังบักกิงแฮม

 

โดยก่อนหน้านี้รายรับจากการท่องเที่ยวในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นเป็น 2,310 ล้านปอนด์ในเดือนธันวาคม 2019 จาก 1,940 ล้านปอนด์ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน และลดลงอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

เหล้าจินที่พระราชวังอังกฤษตั้งราคาขาย 40 ปอนด์ (ราว 1,600 บาท) จึงถูกมองว่าจะสามารถช่วยหนุนการเงินของราชวงศ์แดนผู้ดีได้ แม้ทางราชวังจะระบุว่า ผลกำไรทั้งหมดจากการขายจินจะโอนไปที่ Royal Collection Trust ซึ่งไม่ได้เป็นสมบัติส่วนพระองค์ในสมเด็จพระราชินีเท่านั้น โดยจะนำรายได้ไปดูแลและอนุรักษ์คลังงานศิลปะหลวงของสหราชอาณาจักรต่อไป

 

ประเด็นคือการวางจำหน่ายเหล้าที่ระลึกของราชวงศ์อังกฤษนั้นอาจเป็นเรื่องปกติในสายตาของคนยุโรป เพราะสมาชิกราชวงศ์ในหลายประเทศล้วนไม่ได้ปฏิบัติกรณียกิจเพื่อชาติเท่านั้น แต่มีการทำธุรกิจและลงทุนเพื่อบริหารทรัพย์สินควบคู่ไปด้วย

 

ลิกเตนสไตน์

เจ้าชายฮานส์อดัมที่ 2 แห่งราชวงศ์ลิกเตนสไตน์ นั้นได้รับการจัดอันดับให้เป็นเจ้าชายที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 2 ของยุโรป ทรัพย์สินมาจากธุรกิจธนาคาร LGT Group ซึ่งพระองค์เป็นเจ้าของ และการลงทุนผ่านมูลนิธิเจ้าชายแห่งลิกเตนสไตน์ (Prince of Liechtenstein Foundation) ซึ่งปักหลักในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การเกษตร และโรงกลั่นเหล้าองุ่น

 

โมนาโก

ราชวงศ์โมนาโกไม่เผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของราชวงศ์มากนัก แต่เน้นไปที่ธุรกิจสะสมของโบราณ ทั้งรถและแสตมป์ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล รวมถึงการถือหุ้นในรีสอร์ตหรูอย่าง Societe des Bain de Mer ในเมืองมอนติคาร์โล

 

เนเธอร์แลนด์

กษัตริย์ชาวดัตช์ พระราชาวิลเล็ม-อเล็กซานเดอร์ นั้นทรงงานเต็มเวลาในฐานะกษัตริย์ของประเทศก็จริง แต่ก็ยังหาเวลาขับเครื่องบินเจ็ตให้ KLM Royal Dutch Airlines เพื่อใช้เวลาในห้องนักบินให้มากพอที่จะรักษาใบอนุญาตขับเครื่องบินของพระองค์

 

ราชวงศ์เนเธอร์แลนด์มีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการลงทุน โดยถือหุ้นในบริษัทเชลล์ (Shell Oil)  

 

เหล้า Gin ของพระราชวังบักกิงแฮม

 

สำหรับพระราชินีแม็กซิมา ซึ่งเป็นชาวอาร์เจนตินาโดยกำเนิดนั้น แม้จะมีกรณียกิจมากมาย แต่ยังทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนพิเศษของเลขาธิการ UN ในสมัชชาการเงิน เพื่อโปรโมตโครงการไมโครเครดิตและโครงการด้านการเงินอื่นๆ ทั่วโลก

 

ขณะที่เจ้าชายเบิร์นฮาร์ด ผู้เป็นพระอัยกา (ตา) ของ พระราชาวิลเล็ม-อเล็กซานเดอร์ นั้นเคยตกเป็นจำเลยในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องบิน โดยผู้บริหารบริษัทผลิตเครื่องบินล็อกฮีดชื่อ เอ. คาร์ล โคต์เชียน ได้แจ้งกับวุฒิสภาสหรัฐฯ ในปี 1976 ว่าเจ้าชายได้รับเงินในช่วงต้นทศวรรษ 1960 เพื่อส่งเสริมการขายของบริษัทในเนเธอร์แลนด์ราว 4-6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่พบหลักฐานการมอบเงินที่แน่ชัด

 

สวีเดน

เมื่อ คริสโตเฟอร์ โอ’นีล แต่งงานกับ เจ้าหญิงแมเดลีนแห่งสวีเดน ในปี 2013 หนุ่มอังกฤษลูกครึ่งอเมริกันก็ปฏิเสธที่จะรับฐานันดรศักดิ์ระดับสูงในราชวงศ์ เพื่อที่จะยังคงได้ทำงานต่อในฐานะนักการเงิน

 

เหล้า Gin ของพระราชวังบักกิงแฮม

เจ้าหญิงแมเดลีน 

 

เจ้าหญิงแมเดลีนทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กสุดใน กษัตริย์กุสตาฟ และ พระราชินีซิลเวีย ซึ่งทำงานร่วมกับมูลนิธิที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทั้งเจ้าหญิงและโอ’นีลจะปรากฏตัวพร้อมกับพระราชวงศ์ในโอกาสสำคัญ โดยบุตร 3 คนของครอบครัว ล้วนยังคงเป็นสมาชิกในราชวงศ์ แม้จะย้ายไปพำนักที่ฟลอริดาก็ตาม

 

สเปน

สมาชิกราชวงศ์ของสเปนมีงานกิตติมศักดิ์จำนวนมาก แต่มีเพียง เจ้าหญิงคริสตินา และสามี ที่ถูกจำคุกในขณะนี้เท่านั้นที่รับรู้กันว่ามีบทบาทในภาคเอกชน

 

เจ้าหญิงคริสตินา ทำงานให้กับมูลนิธิธนาคาร Caixa ของสเปน และทรัสต์ Aga Khan แต่สามีของเจ้าหญิงคือ อินากิ เออร์ดังการิน พี่เขยของ กษัตริย์เฟลิเปที่ 6 ถูกตัดสินจำคุกในปี 2016 ข้อหาใช้สถาบันยักยอกเงินในกองทุนสาธารณะมูลค่ากว่า 6 ล้านยูโร

 

ศาลพบว่า เออร์ดังการินและหุ้นส่วนธุรกิจของเขาใช้ประโยชน์จากสถานะดยุก เพื่อรับสัญญาสาธารณะเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬา ในระหว่างนั้นเจ้าหญิงคริสตินาและเออร์ดังการินต่างถูกริบฐานะสมาชิกราชวงศ์ 

 

โดยคริสตินาได้รับการปล่อยตัวโดยไร้ความผิดทางอาญา เป็นอีกเหตุการณ์ที่ทำลายภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์สเปน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับความนับถือมาก ขณะที่การสอบสวนในเวลานั้นใกล้เคียงกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนชัดเจนมากในสเปน

 

เหล้า Gin ของพระราชวังบักกิงแฮม

เจ้าหญิงคริสตินา และสามี อินากิ เออร์ดังการิน

 

สหราชอาณาจักร

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระราชโอรสองค์เล็กในควีนเอลิซาเบธที่ 2 เคยเปิดตัวบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อ Ardent ในปี 1993 แต่ก็ประสบความล้มเหลวในปี 2011 หลังจากเผยแพร่ผลงานนานหลายปี โดยหลายเรื่องเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์และประวัติศาสตร์

 

พระชายาของพระองค์อย่าง โซฟี เคาน์เตสแห่งเวสเซกซ์ ก็พยายามก่อร่างบริษัทด้านการประชาสัมพันธ์ของตัวเอง หลังจากเข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดในปี 1999 แต่ปัจจุบันทั้งคู่ต่างพักบทบาททางธุรกิจ แล้วหันมาให้ความสนใจการปฏิบัติกรณียกิจของราชวงศ์แบบเต็มเวลา

 

เบลเยียม

เจ้าชายลอเรนต์ พระอนุชาใน กษัตริย์ฟิลิปป์แห่งเบลเยียม นั้นไม่ได้ฝักใฝ่ในธุรกิจ แต่เลือกรับตำแหน่งทางการทูตจีน ก่อนหน้านี้เจ้าชายเคยตัดพ้อผ่านจดหมายที่เขียนขึ้นในปี 2018 ว่าตั้งแต่วัยเยาว์ พระองค์ต้องรับใช้พี่ชาย ครอบครัว และประเทศ จนไม่สามารถทำงานได้ตามที่ต้องการ 

 

ปรากฏว่า จดหมายฉบับนี้ไม่มีผล และสภาผู้แทนราษฎรแห่งเบลเยียมลงดาบตัดงบประจำปีของเจ้าชาย จากที่เคยได้รับประมาณ 300,000 ยูโร ลงไป 46,000 ยูโร หลังจากที่เจ้าชายปรากฏตัวด้วยฐานะทูตจีนในเครื่องแบบทหารโดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐบาล 

 

นอร์เวย์

เจ้าหญิงมาธาร์ หลุยส์ เจ้าหญิงองค์โตของ กษัตริย์ฮารัลด์ รัชทายาทอันดับที่ 4 ประกาศถอนตัวจากราชวงศ์ในปี 2002 เพื่อแต่งงานกับ อาริ เบห์น นักเขียนชาวนอร์เวย์ โดยให้เหตุผลว่าเธอต้องการอิสระในการดำเนินธุรกิจทางวัฒนธรรมและศิลปะ รวมถึงการปรากฏตัวทางโทรทัศน์และในโรงภาพยนตร์

 

14 ปีผ่านไป การแต่งงานครั้งนั้นจบด้วยการหย่าร้าง เจ้าหญิงกับ ดูเร็ก เวอร์เรตต์ คนรู้ใจชาวอเมริกันคนใหม่ของเจ้าหญิงได้จัดงานสัมมนาชื่อ ‘The Princess and the Shaman’ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนเจ้าหญิงต้องขอโทษและบอกว่าจะทิ้งฐานันดรและตำแหน่งเจ้าหญิง เพื่อให้สามารถทำงานได้ปกติในอนาคต

 

ที่สุดแล้วเหล้าจินของพระราชวังบักกิงแฮมก็เป็นอีกตัวอย่างแสนปกติ ที่ทำให้ราชวงศ์อังกฤษสามารถมิกซ์ชีวิตส่วนตัวเข้ากับการปฏิบัติกรณียกิจให้ประเทศต่อไปได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X