วันนี้ (20 กรกฎาคม) กรมสุขภาพจิตเตรียมส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) ประกอบด้วย ศูนย์สุขภาพจิตที่ 6 และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่เยียวยาจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ประสบเหตุความรุนแรงจากวัยรุ่นก่อเหตุทะเลาะวิวาทและไล่ทำร้ายกันในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเมืองสมุทรปู่เจ้าฯ จังหวัดสมุทรปราการ และแนะนำผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนสามารถใช้เหตุการณ์นี้ในการสอนให้เข้าใจถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมและผลกระทบที่เกิดขึ้น
โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าสำหรับเหตุการณ์วัยรุ่นทะเลาะวิวาทกันในโรงพยาบาลนี้เป็นเหตุการณ์ที่เริ่มเกิดบ่อยมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือขวัญกำลังใจในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้ รวมถึงอาจส่งผลต่อผู้มาใช้บริการด้านสาธารณสุขอีกด้วย
ทางกรมสุขภาพจิตจะดำเนินงานอย่างเร่งด่วนผ่านการทำงานของทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทในพื้นที่ โดยจะมีการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น คัดกรองความเครียด มีการให้คำปรึกษาสุขภาพจิต การพูดคุยให้กำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรงและโดยอ้อม เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถดูแลสุขภาพจิตตัวเองได้หลังจากเกิดเหตุการณ์ ตลอดจนมีแนวทางการส่งต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตให้เข้ารับการรักษาเฉพาะทางจิตเวช หากพบกลุ่มเสี่ยงที่มีผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรมจะให้มีการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือพยาบาลจิตเวชโดยตรง ซึ่งจะมีแผนการดูแลเฉพาะกลุ่มเสี่ยงนี้โดยการเฝ้าระวังดูแลปัญหาสุขภาพจิต และส่งต่อการรักษาให้หน่วยที่รับผิดชอบต่อไป
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่าความรุนแรงทั้งทางกาย วาจา และจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครหรือที่ใดในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่อย่างโรงพยาบาลซึ่งมีผู้ที่กำลังมีความทุกข์ทางกายและทางจิตมารับความช่วยเหลือ เป็นสถานที่ด้านมนุษยธรรมของประชาชนที่ควรปราศจากความรุนแรงในทุกระดับ
ทั้งนี้แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการปรับระดับรักษาความปลอดภัยที่มากขึ้นในหลายๆ สถานพยาบาลจากบทเรียนในเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายๆ ครั้ง แต่จิตสำนึกของสังคมก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการลดความรุนแรงในโรงพยาบาลให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง
โดยสิ่งสำคัญที่พ่อแม่และผู้ปกครองควรแนะนำและสอนบุตรหลานต่อเหตุการณ์แบบนี้คือการสร้างจิตสำนึกเรื่องการต่อต้านการใช้ความรุนแรง และไม่ทำให้เห็นว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งที่บ้านและโรงเรียนจะต้องเป็นจุดเริ่มต้นและปลูกฝังเด็กในเรื่องของความรุนแรงและการทำร้ายกันทั้งอารมณ์ จิตใจ และร่างกาย ในวัยเด็กหากถูกใช้ความรุนแรงบ่อยๆ จะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่นในอนาคต ส่วนเด็กที่เริ่มใช้ความรุนแรง เมื่อทำบ่อยครั้งจนกลายเป็นความเคยชินจะพัฒนาเป็นความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาลหรืออาชญากรได้
ดังนั้นสังคมจึงต้องช่วยกันใส่ใจ เร่งสร้างวัฒนธรรมไร้ความรุนแรงในสังคมทั้งที่บ้านและในที่สาธารณะ เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่เกิดขึ้นจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว หากผู้ปกครองท่านใดเริ่มเห็นบุตรหลานมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงมากขึ้น สามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์