วันนี้ (15 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมพิจารณาในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเด็กนักเรียน เรื่องทรงผม ระเบียบการลงโทษ พร้อมทั้งมีการเชิญตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลกระทบมาร่วมตอบข้อซักถามและชี้แจง ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขตต่างๆ ในพื้นที่ที่มีกรณีเกิดขึ้น และตัวแทนจากองค์กรนักเรียนเลว ในฐานะผู้ร้อง
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกกรรมาธิการ ได้กล่าวเปิดวาระว่า ตนขอยืนยันว่าพฤติกรรมที่ผ่านมาของครูบางคน ตั้งแต่การบังคับจับนักเรียนกล้อนผม การเอาสีไปป้าย การแขวนป้ายประจาน จนกระทั่งเมื่อนักเรียนเอาเรื่องมาเปิดโปง ก็ยังมีการใช้วาจาผรุสวาทเปรียบเทียบนักเรียนเป็นโสเภณี ข่มขู่คุกคาม ไล่นักเรียนไปเรียนที่อื่น เรื่องต่างๆ เหล่านี้มีความผิดทั้งทางกฎหมายอาญา ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อีกทั้งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการวิจัยออกมายืนยันได้เลยว่าการลงโทษด้วยวิธีการเหล่านี้จะสามารถสร้างพฤติกรรมของเด็กให้ดีขึ้นได้ เราจึงอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้อำนวยการและครูบางท่านว่าการลงโทษเช่นนี้จะเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กได้
.
วิโรจน์กล่าวต่อว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่ปัญหา แต่ตอนนี้การบังคับใช้คือปัญหา ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้โรงเรียนทุกโรงเรียนทำตามระเบียบ ตนขอยืนยันว่าที่ผ่านมานักเรียนไม่ได้ทำผิดระเบียบ ครูบางท่านต่างหากที่ไม่ยอมทำตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ แล้วยังใช้วิธีการลงโทษที่ระเบียบกระทรวงยืนยันชัดว่าทำไม่ได้ ตนอยากใช้เวทีนี้ในการหารือทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ไม่อยากให้มีการปะทะกันมากไปกว่านี้ ไปดูตอนนี้นักเรียนพร้อมพุ่งชนแล้ว อยากให้ใช้เวทีนี้ในการลดแรงปะทะ ทำให้นักเรียนมีความสุข ครูก็มีความเข้าใจมากขึ้น ร่วมมือกันไม่ให้เขาถูกประทุษร้ายทารุณกรรมในรั้วโรงเรียนแท้ๆ ที่พ่อแม่ส่งลูกมาด้วยหวังว่าจะได้รับความปลอดภัยและไม่ถูกละเมิดสิทธิ จากนั้นวิโรจน์จึงได้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นต่างๆ เหล่านี้ กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. มีนโยบายอย่างไร และจะดำเนินการอย่างไร
ขณะที่ สนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ สพฐ. ได้ชี้แจงโดยระบุว่า ทาง สพฐ. มีทั้งระเบียบและมาตรการ สิ่งที่ท่านได้นำเรียนเรารับทราบและดำเนินการตามกฎหมายทุกอย่าง มีการดำเนินการด้านวินัยกับครูที่กระทำการดังกล่าว เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นขอยืนยันว่า สพฐ. ไม่ได้ปล่อยปละละเลย การกระทำใดที่ไม่ถูกต้อง หากผู้ปกครองไม่กล้าร้องทุกข์ สพฐ. พร้อมจะดำเนินการให้
ส่วน โกวิท คูพะเนียด ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมายการศึกษา สำนักนิติการสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ทางกระทรวงเองขอยืนยันว่าไม่เคยมีนโยบายในการให้ลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง ให้ทำการลงโทษตามระเบียบที่มีเท่านั้น เรื่องทรงผม กระทรวงตระหนักว่าที่ผ่านมามีข้อเสนอว่ากระทรวงควรมีนโยบายเรื่องนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงเป็นกฎกระทรวงศึกษาธิการออกมาในปี 2563 โดยยึดหลักให้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้นักเรียนชายไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ตราบที่ไม่เลยทิวผม ส่วนนักเรียนหญิงถ้าไว้ยาวก็ให้รวบเรียบร้อย โดยมีข้อ 7 ให้สถานศึกษากำหนดระเบียบของตนเองได้ โดยไม่ขัดต่อระเบียบ โดยความเห็นชอบของกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และต้องยึดหลักการมีส่วนร่วมของนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน เรื่องนี้กระทรวงเขียนไว้ชัดเจน
.
โกวิทกล่าวต่อไปอีกว่า หลังจากมีการออกระเบียบนี้มา ได้มีมาตรการเน้นย้ำด้วยการออกหนังสือเวียนไปสองฉบับ ให้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวง ว่าทุกสถานศึกษาต้องไปออกระเบียบให้สอดคล้อง โดยยึดหลักการความเห็นชอบและมีส่วนร่วมของนักเรียน ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงเองมีการชี้แจงว่าหลักการนี้เป็นกรอบ และยังเน้นย้ำว่าในกรณีที่นักเรียนคนใดฝ่าฝืนระเบียบของโรงเรียน หากมีการกำหนดระเบียบขึ้นมาโดยชอบแล้ว ในเบื้องต้นให้นักเรียนได้มีโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจก่อน ยังไม่มีการลงโทษ แต่ถ้ามีการฝ่าฝืนและมีความจำเป็นต้องลงโทษ ก็ขอให้ยึดตามระเบียบเท่านั้น คือว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนพฤติกรรม ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ตามลำดับ นอกเหนือจากนี้ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เราไม่เคยสนับสนุนให้โรงเรียนไปลงโทษนอกเหนือจากระเบียบนี้
.
ด้าน กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ได้ทำการสอบถามว่าที่ผ่านมาทางกระทรวงได้เคยมีการเก็บสถิติหรือไม่ ว่ากรณีที่ครูหรือบุคลากรในสถานศึกษาได้ทำความผิดเช่นนี้มีกี่กรณี ลักษณะการดำเนินการต่างๆ หลักจากร้องเรียนได้ทำอะไรเอาไว้บ้าง มีกรณีใดบ้างที่ถึงขั้นต้องให้ศาลปกครองชี้ขาดในกรณีทำผิดวินัย และบทบาทของเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ในการติดตามครูที่ทำผิด มีบทบาทและทำอย่างไรบ้าง แล้วคุรุสภาเองที่กำกับในแง่จรรยาบรรณวิชาชีพชั้นสูงได้ทำอะไรบ้างในกรณีเช่นนี้ มีกรณีใดบ้างที่ถึงขั้นยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ในกรณีที่บุคลากรทำผิดอย่างรุนแรง
.
ส่วนวิโรจน์ก็ได้ถามต่อไปว่า จากที่ทั้ง สพฐ. และตัวแทนกระทรวงชี้แจงมา แสดงว่าตอนนี้ระเบียบกระทรวงไม่อนุญาตให้ครูลงโทษนักเรียนแบบที่เป็นข่าวแล้ว ใครที่กระทำเช่นนี้เท่ากับว่าขัดคำสั่งกระทรวงใช่หรือไม่ ผู้ปกครอง นักเรียน สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษครูผู้กระทำได้หรือไม่ มีการเชื่อมกับคุรุสภาในการถอดถอนใบประกอบวิชาชีพผู้ที่กระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือรุนแรงหรือไม่ เพราะในประเด็นนี้ ตนได้ปรึกษากับนักกฎหมายมาแล้ว หากมีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้น เด็กนักเรียนสามารถเดินขึ้นโรงพักแจ้งความเอาผิดครูได้ หรือผู้พบเห็นสามารถแจ้งความดำเนินคดีแทนเด็กได้ทันที จึงขอให้ทางตัวแทนของ สพฐ. ยืนยันในข้อนี้ด้วย
ด้านสนิทชี้แจงว่า ในเรื่องข้อมูลสถิติมีสองส่วน ส่วนที่เกิดขึ้นในพื้นที่การศึกษา แล้วพอสั่งการ ดำเนินการไปก็จบ มีการลงโทษตามขั้นตอน ส่วนกรณีที่ร้องเรียนเข้ามาถึงกรรมาธิการ สำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทาง สพฐ. ต้องรายงานภายใน 15 วัน ทำให้มีข้อมูลสถิติอยู่ ส่วนเรื่องร้องเรียนต่างๆ ผู้ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษสามารถทำได้ด้วยตนเองหรือโดยผู้ปกครอง หากผู้ปกครองไม่กล้า ครูก็ต้องช่วยเด็ก ถ้าครูไม่ทำ ผู้บริหารสถานศึกษาต้องทำ ถ้าไม่ทำ เขตพื้นที่การศึกษาก็ต้องดำเนินการ เหตุที่เกิดมานี้ เพราะมีผู้บริหารในบางโรงเรียนปล่อยปละละเลยจริง ทาง สพฐ. ก็ได้ดำเนินการให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด หากพบว่ามีการปล่อยปละละเลยจริง ก็จะดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องทันที เรื่องนี้ สพฐ. จะต้องรายงานด้วยซ้ำว่าจะต้องทำอย่างไร ส่วนกรณีการแจ้งความดำเนินคดีในกรณีที่ครูมีการกระทำความผิดทางอาญา ตามที่วิโรจน์ได้ถามมาว่าสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้หรือไม่ กรณีนี้เด็กหรือผู้ปกครองสามารถขึ้นโรงพักแจ้งความได้ ถูกต้องแล้ว ส่วนกรณีที่ถามถึงการล่วงละเมิดทางเพศเด็กหรือกรณีร้ายแรงอื่นๆ ได้มีการเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพหรือไม่นั้น ทาง สพฐ. ได้ดำเนินการประสานงานกับทางคุรุสภาตลอดมา ซึ่งกรณีที่มีมูลก็มีการสั่งให้พักราชการก่อน และมีการเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพไปหลายกรณีด้วยเช่นกัน
.
ด้าน ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ตัวแทนนักเรียนจากองค์กรนักเรียนเลว ได้ทำการสอบถามในประเด็นต่างๆ เช่น ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการพยายามย้ำว่าระเบียบกระทรวงว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียนที่ออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ตนได้เห็นจริงๆ เป็นแค่ประโยคที่เขียนเอาไว้โดยไม่สามารถคุ้มครองได้จริง แม้ระเบียบจะออกมาร่วมสองเดือนแล้ว แต่ยังคงมีนักเรียนจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่ามีระเบียบนี้อยู่ และมีโรงเรียนจำนวนมากที่ไม่ยอมปฏิบัติตาม หนังสือเวียนก็เป็นเหมือนแค่กระดาษเปล่าที่โรงเรียนไม่ทำตาม มีนักเรียนแจ้งเรื่องเข้ามาที่ตนทุกวันถึงปัญหาดังกล่าว
.
ลภนพัฒน์กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมามาตรการของกระทรวงในการคุ้มครองค่อนข้างหละหลวม ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เพราะมีโรงเรียนจำนวนมากพยายามละเมิดระเบียบนี้ ไม่ทำตาม กระทรวงจะรับประกันได้อย่างไร เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามจากสถานศึกษา นอกจากนี้ระเบียบในข้อ 7 ที่ให้โรงเรียนกำหนดระเบียบเรื่องทรงผมเองได้ก็เป็นปัญหา ทำให้สถานศึกษาออกระเบียบเจาะจงมากกว่าที่กระทรวงกำหนด หลายคนยังสับสนกับคำว่าการออกระเบียบที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ หลายๆ กรณีสถานศึกษาตีความไปเกินกว่าที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ นพคุณ รัฐผไท ส.ส. แบบแบ่งเขต จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ได้ทำการสรุปประเด็นที่พูดคุยในวันนี้ โดยระบุว่า น่าจะมีการเห็นพ้องต้องกันในประเด็นว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการปี 2563 ที่มีปัญหาสำคัญคือในข้อ 7 ที่ทำให้คำสั่งไม่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นการไปเปิดช่องให้เกิดการกำหนดระเบียบที่ไม่เป็นธรรมออกมา ประเด็นคือเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำซากบ่อยครั้ง เป็นประเด็นซ้ำๆ ทั้งๆ ที่ระเบียบก็มี บุคลากรทางการศึกษาไม่เข้าใจระเบียบของกระทรวงเลยอย่างนั้นหรือ และจะทำอย่างไรให้ 3 หมื่นโรงเรียน บุคลากร 4 แสนคนมีความเข้าใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตระหนักเหมือนกัน
นพคุณกล่าวอีกว่า อีกประเด็นคือ การลงโทษบุคลากรทางการศึกษาที่กระทำผิด คิดว่าวงประชุมนี้มีความเห็นไปในทางว่าอยากให้มีความรุนแรงกว่านี้ ในอีกทางหนึ่ง บุคลากรในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการและ สพฐ. 4 แสนกว่าคน คงจะมีจำนวนไม่น้อยที่ตามโลกไม่ทัน อยู่กับวิธีการเก่าๆ กระทรวงต้องช่วยทั้ง 4 แสนคนว่า ทำอย่างไรให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันขึ้นมา ในส่วนของหน่วยงานที่ได้เข้ามาร่วมชี้แจงระบุว่า หลังจากที่ได้รับฟังข้อคิดเห็นและประเด็นจากการประชุมในวันนี้ ทางหน่วยงานจะได้รับเรื่องต่างๆ ไปดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้บริหารระดับสูงต่อไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า