×

อ่านมุมมองแบงก์ชาติ หากโควิด-19 ระบาดรอบสอง ฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวปี 2566 จะออกนโยบายอย่างไร

14.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยจับตาโควิด-19 ระลอกสอง ในสมมติฐานกรณีเลวร้ายที่สุด คาดว่าหากโควิด-19 เกิดการระบาดรอบสองและมีการล็อกดาวน์ รวมถึงผลกระทบต่อระบบการเงิน เช่น การผิดนัดชำระหนี้ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวอีกครั้ง ขณะเดียวกันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2566 ในกรณีนี้เป็นไปได้ที่ GDP ไทยไตรมาส 2/63 จะไม่ใช่จุดต่ำสุดของปีนี้
  • ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมพร้อมมาตรการช่วยเหลือหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น แต่ยังมองว่าไตรมาส 2/63 จะเป็นจุดต่ำสุดของปี และครึ่งปีหลังเป็นทิศทางที่ดีขึ้น

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นความกังวลทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ นำไปสู่คำถามที่ว่าจะเกิดการล็อกดาวน์หรือปิดประเทศหรือไม่ และเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้อย่างไร

 

ธปท. เผย หากโลกระบาดรอบสอง ฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเหมือนก่อนโควิด-19 ในปี 2566

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าปัจจุบันยังคาดการณ์ว่าไตรมาส 2/63 จะเป็นจุดต่ำสุดของปี และเชื่อว่าผลดีจากการคลายล็อกจะส่งผลให้ไตรมาส 3/63 ปรับตัวขึ้นดีกว่าช่วงไตรมาส 2/63 อย่างมีนัยสำคัญ โดยจากสมมติฐานนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ (ก่อนเกิดโควิด-19) ในช่วงปี 2565 

 

“จากสมมติฐานที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ ไทยต้องคุมการระบาดโควิด-19 ได้ และต้องมีวัคซีนเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้เห็นการระบาดรอบสอง แต่ไม่มีการล็อกดาวน์ขนาดใหญ่แล้ว เชื่อว่าจะเห็นเศรษฐกิจยังฟื้นตัว แต่ยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่สูง”

 

แต่ในสมมติฐานกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) คาดว่าหากโควิด-19 เกิดการระบาดรอบสองและมีการล็อกดาวน์ รวมถึงผลกระทบต่อระบบการเงิน เช่น การผิดนัดชำระหนี้ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวอีกครั้ง ขณะเดียวกันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2566  

 

ในกรณีนี้ เป็นไปได้ที่ GDP ไทยไตรมาส 2/63 จะไม่ใช่จุดต่ำสุดของปีนี้



 

*ทางธนาคารแห่งประเทศไทยขอไม่ระบุตัวเลขคาดการณ์ GDP เนื่องจากยังเป็นกรอบประมาณการที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิคแล้ว แต่ในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะหลังจากปี 2009 ที่ผ่านมา มีหลายช่วงเวลาที่เงินเฟ้อทั่วไปลดต่ำกว่า 0% ขณะเดียวกันเงินเฟ้อที่ติดลบในปี 2563 มาจากราคาน้ำมันที่ลดลงมาก โดยคาดว่าปี 2564 จะปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.9% และในช่วง 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ในกรอบเงินเฟ้อ

 

แนวทางการออกนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย และโอกาสที่ดอกเบี้ยนโยบายจะเป็น ‘0’ 

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าช่วงที่ผ่านมานโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยจะแบ่งเป็น 3 เครื่องมือคือ
1. การป้องกันไม่ให้เกิด Panic Crisis เช่น คนกังวลเทขายสินทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงออกนโยบายลดความตื่นตัวเพื่อกลับสู่ระดับปกติ
2. เยียวยาผลกระทบ เช่น การออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan)
3. มาตรการส่งเสริมให้เกิดการปรับตัว เช่น เร่งการปรับโครงสร้างหนี้ให้เข้ากับกระแสเงินสด การรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเพื่อลด Carry Cost ธนาคารพาณิชย์


ดังนั้นหากเกิดการระบาดรอบสอง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีนโยบายมาช่วยเยียวยา แต่ปัจจุบันมองว่าในสถานการณ์ตอนนี้ยังถือว่าเพียงพออยู่แล้ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ในกลุ่ม SMEs ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท (ที่จะครบกำหนดในเดือนตุลาคม 2563) อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์แย่ลงกว่าที่คาด ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีเครื่องมือออกมาเพิ่มเติม เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม  

 

ส่วนตอนนี้ จากประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าไตรมาส 2/63 ไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดยต้นไตรมาส 3 เริ่มเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมา และมองว่าไตรมาส 3-4 ปี 2563 จะฟื้นตัวขึ้น แต่ยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ การจ้างงาน เพราะมีหลายภาคบริการที่กิจกรรมยังไม่กลับมา ส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังมีกำลังการผลิตส่วนเกิน รวมถึงกลุ่มคนจบใหม่อาจจะว่างงาน ดังนั้นในช่วงหลังโควิด-19 การส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานเป็นมาตรการสำคัญอันดับต้นๆ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย 

 

“การทำนโยบาย เราจะชั่งน้ำหนัก เพราะไม่มีอะไรฟรี เราทำโดยคิดถึงอนาคต ถ้ามีการอัดสภาพคล่อง เราต้องดูผลว่าทำให้เกิดอะไร และต้องดูว่าจะมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง”

 

ด้านดอกเบี้ยนโยบาย เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเรื่องดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0% ในความเห็นของตนคิดว่าเกิดขึ้นได้ยาก เพราะตอนนี้เราดูเรื่องการส่งผ่านนโยบายการเงินว่ามีเพียงพอหรือไม่ ซึ่งการลดดอกเบี้ยฯ 3 ครั้งตั้งแต่ต้นปีทำให้เห็นการส่งผ่านที่ดีขึ้นกว่าในอดีต โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการออมในอนาคต 

 

เศรษฐกิจไทยปี 2563 ต้องจับตาความเสี่ยงอะไร

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยมีเรื่องที่ต้องจับตามองและต้องมีนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (Economic Restructuring) ในโลกหลังโควิด-19 ได้แก่ 

  1. มีกลไกการบริหารกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม เช่น สร้างการควบรวมกิจการในสาขาที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการระบาดคลี่คลายลง 
  2. สนับสนุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพและมีโอกาสฟื้นตัวเร็ว 
  3. เร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล 
  4. สนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงาน (Reskill and Upskill) เพื่อรองรับการจ้างงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายและปรับตัวเข้าสู่บริบทใหม่  
  5. เร่งปฏิรูปกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่

  

สุดท้ายคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจข้างต้นควบคู่กับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring) จะช่วยเสริมสร้างให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง และช่วยรักษาระดับศักยภาพการเติบโต (Potential Growth) ให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาเติบโตได้ในระยะต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X