เกิดอะไรขึ้น:
ราคาเนื้อสัตว์ในประเทศยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า หลังรัฐบาลทยอยผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้อุปสงค์เนื้อสัตว์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยราคาหมูในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 10%MoM ราคาไก่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5%MoM (ข้อมูลราคา ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2563)
ขณะที่ราคาหมูในประเทศเวียดนามไตรมาส 2/63 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น 103%YoY แต่ลดลง 5%QoQ เนื่องจากเวียดนามกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) อีกครั้ง ส่งผลให้อุปทานหมูในเวียดนามลดลง และจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งก่อนที่อุปทานจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติ
นอกจากนี้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกเนื้อสัตว์รายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ และบราซิลกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งทำให้มีการปิดโรงงานชั่วคราว และมีแนวโน้มว่าประเทศดังกล่าวจะส่งออกเนื้อสัตว์ได้ลดลง
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มอาหารปรับตัวขึ้นสะท้อนราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดย
- ราคาหุ้น บมจ. ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) เพิ่มขึ้น 10.48%MoM สู่ระดับ 4.64 บาท
- ราคาหุ้น บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เพิ่มขึ้น 4.92%MoM สู่ระดับ บาท
- ราคาหุ้น บมจ. จีเอฟพีที (GFPT) ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 13.00 บาท
ขณะที่ SET Index ลดลง 4.18%MoM สู่ระดับ 1,357.11 จุด เนื่องจากได้รับปัจจัยลบกดดันจากความกังวลด้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศ (ข้อมูลราคา ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 เวลา 12.30 น.)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่า การที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกเนื้อสัตว์รายใหญ่มีแนวโน้มส่งออกได้น้อยลงเนื่องด้วยผลกระทบของโควิด-19 จะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยสามารถส่งออกเนื้อสัตว์ได้มากขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดของ ASF ในเวียดนามจะทำให้เวียดนามต้องนำเข้าหมูเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อหุ้นที่ส่งออกเนื้อหมูเช่นกัน สำหรับด้านราคาเนื้อสัตว์บกในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่นสิ้นไตรมาส 2/63 จะช่วยลดแรงกดดันต่อผลประกอบการไตรมาส 2/63 ได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลือง ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ ต้องติดตามการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของหุ้นกลุ่มอาหารในช่วงต้นเดือนสิงหาคม โดย SCBS คาดว่า ทิศทางกำไรของ CPF จะมีความแน่นอนสูงเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่ม เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากราคาหมูในเวียดนามที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น ซึ่งสามารถช่วยชดเชยผลกระทบจากราคาเนื้อสัตว์ในประเทศที่ลดลงได้
มุมมองระยะยาว:
ต้องติดตามการฟื้นตัวของอุปทานหมูในเวียดนามหากการแพร่ระบาดของ ASF คลี่คลายลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบกดดันต่อทิศทางราคาหมูในประเทศเวียดนาม รวมถึงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกเนื้อสัตว์รายใหญ่อย่างสหรัฐฯ และบราซิล
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล