วานนี้ (7 ก.ค.) คณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า งานวิจัยประเด็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) สามารถแพร่กระจายผ่านทางอากาศได้หรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่อาจเพิกเฉยต่อความเป็นไปได้ดังกล่าว
ศ.เบเนเดตตา อัลเลแกรนซี เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายเทคนิคด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อของ WHO แถลงข่าวในกรุงเจนีวาว่า ในบรรดาการศึกษาสาขาต่างๆ งานวิจัยเกี่ยวกับการแพร่เชื้อทางละอองลอย (Aerosol) หรือทางอากาศ ( Airborn) “กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีหลักฐานบางอย่างปรากฏขึ้น แม้จะยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนก็ตาม”
อัลเลแกรนซีย้ำว่า “ดังนั้นเราจึงยังไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ที่โรคโควิด-19 อาจระบาดผ่านทางอากาศในสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่เฉพาะเจาะจงมากๆ เช่น สถานที่ผู้คนแออัด พื้นที่เป็นลักษณะปิด และมีการระบายอากาศไม่ดี”
อัลเลแกรนซีกล่าวต่อว่า “เราทราบมาว่าหลักฐานที่ว่าโควิด-19 สามารถแพร่ผ่านอากาศได้หรือไม่นั้น กำลังปรากฏเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเหมือนกับการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสและการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ของสาขาอื่นๆ เราจึงต้องเปิดรับหลักฐานเหล่านี้ และทำความเข้าใจความหมายโดยนัย ซึ่งเกี่ยวพันกับวิธีการติดต่อของโรค รวมถึงมาตรการป้องกันไว้ก่อนต่างๆ” พร้อมเสริมว่า “อย่างไรก็ดี เราจำเป็นต้องดำเนินงานเพื่อเก็บรวบรวมหลักฐานและตีความต่อไป”
ด้าน ดร.มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายเทคนิคของโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของ WHO กล่าวว่า WHO ได้ทำงานในประเด็นดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว อีกทั้งได้ร่วมมือกับนักระบาดวิทยา แพทย์ วิศวกร และนักคณิตศาสตร์ที่มีความชำนาญด้านการสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์จำนวนมาก “เพื่อพยายามรวบรวมข้อมูลที่มีเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรคโควิด-19
“เรากำลังจัดทำข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเตรียมเผยแพร่ความคืบหน้าของเราอีกในไม่ช้า ซึ่งจะเป็นการอธิบายคร่าวๆ เกี่ยวกับองค์ความรู้ทุกอย่างที่เรามีในเรื่องนี้” เธอกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ 239 คน ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกที่ระบุว่า โรคโควิด-19 อาจแพร่ผ่านทางอากาศได้ พร้อมกระตุ้นเตือนประชาคมระหว่างประเทศให้บังคับใช้มาตรการควบคุม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายทางอากาศ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว