หนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ 239 คน จาก 32 ประเทศ ร่วมส่งจดหมายเปิดผนึกถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) ขอให้ปรับแก้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 หลังพบหลักฐานว่าอนุภาคขนาดเล็กของไวรัสที่ลอยในอากาศสามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ได้
โดยที่ผ่านมา WHO ระบุว่า โรคโควิด-19 นั้น โดยหลักแล้วสามารถระบาดได้จากบุคคลหนึ่งสู่บุคคลหนึ่ง ผ่านทางละอองฝอยที่ออกมาจากจมูกหรือปากของผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการไอ จาม หรือพูด
ขณะที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระบุในจดหมายเปิดผนึกที่เตรียมเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ช่วงสัปดาห์นี้ แสดงให้เห็นหลักฐานว่าอนุภาคขนาดเล็กของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้นสามารถแพร่กระจายผ่านทางละอองฝอยที่เกิดจากการไอ จาม หรือละอองฝอยขนาดเล็กมากๆ ที่เราหายใจออกมาทางจมูก ซึ่งสามารถลอยไปตามอากาศได้ไกลตามขนาดห้อง และก่อให้เกิดการติดเชื้อได้เพียงแค่สูดหายใจเข้าไป
รายงานของ The New York Times ยังระบุว่า กรณีการระบาดแบบกลุ่มที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังการเปิดสถานประกอบธุรกิจต่างๆ เช่น บาร์ ร้านอาหาร ตลาด กาสิโน หรือสำนักงานต่างๆ เป็นสิ่งยืนยันถึงข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์มากมายระบุไว้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาว่า ไวรัสโคโรนา 2019 นั้นลอยค้างอยู่ในอากาศในพื้นที่ปิดหรือพื้นที่ในร่มได้นานกว่า และทำให้ผู้ที่เข้าใกล้นั้นติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ในการอัปเดตข้อมูลการติดโควิด-19 ล่าสุดของ WHO ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทางอากาศนั้น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการทำหัตถการทางการแพทย์ ที่ก่อให้เกิด Aerosol หรือละอองขนาดเล็กในอากาศ ซึ่งเป็นละอองฝอยที่มีขนาดเล็กมากกว่า 5 ไมครอน และในกรณีดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ระบบระบายอากาศที่เหมาะสม รวมถึงหน้ากากอนามัยชนิด N95 ขึ้นไปเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ด้านผู้เชี่ยวชาญของ WHO ก็ตั้งข้อสังเกตถึงความน่าเชื่อถือในหลักฐานเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านทางอากาศ โดยยืนยันว่ามีความเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราได้ระบุไปหลายครั้งว่าเราพิจารณาถึงการแพร่กระจายทางอากาศว่ามีความเป็นไปได้ แต่แน่นอนว่ายังไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม” ดร.เบเนเดตตา อัลเลแกรนซี เจ้าหน้าที่เทคนิคป้องกันและควบคุมการติดเชื้อของ WHO กล่าว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: