เกิดอะไรขึ้น:
ในเดือนกรกฎาคมนี้ หุ้นกลุ่มธนาคารจะเริ่มทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/63 ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นกลุ่มแรกๆ ที่จะประกาศผลประกอบการก่อนกลุ่มอื่น โดยเบื้องต้นแนวโน้มกำไรไตรมาส 2/63 ของหุ้นกลุ่มแบงก์ยังคงอ่อนแอตามทิศทางที่เศรษฐกิจที่หดตัวลง เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19
กระทบอย่างไร:
ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารในไตรมาส 2/63 (1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน) ฟื้นตัวเล็กน้อย 8.30% หลังจากที่ปรับตัวลงมาอย่างรุนแรงในไตรมาส 1/63 โดยหุ้นที่ฟื้นตัวแรงที่สุดใน 2/63 นำโดย
- บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) เพิ่มขึ้น 29.63%
- บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เพิ่มขึ้น 20.00%
- บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) เพิ่มขึ้น 14.61%
- บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) เพิ่มขึ้น 9.23%
- บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพิ่มขึ้น 8.35%
- บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพิ่มขึ้น 7.01%
- บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพิ่มขึ้น 8.30%
- บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) เพิ่มขึ้น 4.58%
- บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เพิ่มขึ้น 0.36%
- บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) ลดลง 8.04%
มุมมองระยะสั้น
SCBS คาดว่าทิศทางกำไรสุทธิไตรมาส 2/63 ของกลุ่มธนาคารจะลดลง 30%YoY และลดลง 25%QoQ โดยได้รับปัจจัยกดดันจาก
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่หดตัวลงตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่ก็ได้รับการชดเชยบางส่วนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง และการลดอัตราการนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟู
- การตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 65%YoY และ 13%QoQ ในรูปแบบของ Management Overlay เพื่อสะท้อนแนวโน้ม NPL ที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง
- รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-NII) ไตรมาส 2/63 ลดลง YoY ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงจากการจัดชั้นค่าธรรมเนียม Upfront Fee ในการให้สินเชื่อใหม่เป็นรายได้ดอกเบี้ยที่ทยอยรับรู้ภายใต้มาตรฐานบัญชี TFRS9 หากเทียบเป็น QoQ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะยังคงทรงตัว
ขณะที่ยอดสินเชื่อในช่วง 5 เดือน (มกราคมถึงพฤษภาคม 2563) แม้จะเติบโต 5.2%YoY แต่ก็ไม่สามารถบรรเทา 3 ปัจจัยกดดันดังกล่าวได้ จึงทำให้กำไรสุทธิไตรมาส 2/63 ของกลุ่มธนาคารยังคงมีแนวโน้มอ่อนแอทั้ง YoY และ QoQ
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่าผลประกอบการของกลุ่มธนาคารจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะ U-Shape โดยถูกกดดันจากต้นทุนสินเชื่อ (Credit Cost) ที่เพิ่มขึ้น และ NIM ที่แคบลง ทั้งนี้สินเชื่อภายใต้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกันและมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รวมทั้งสิ้น 6.68 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 34% ของสินเชื่อทั้งหมดในระบบธนาคารพาณิชย์
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อและการกันเงินสำรองสำหรับสินเชื่อกลุ่มดังกล่าวจนถึงเดือนธันวาคม 2565 ซึ่ง SCBS คาดว่าทิศทาง NPL จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในปี 2564 และ 2565 จึงทำให้ธนาคารพาณิชย์จะเร่งตั้งสำรองในระดับสูงต่อไปจนถึงปี 2565 ตามกระบวนการ Management Overlay ด้วยเหตุนี้ SCBS มองว่าแนวโน้มกำไรของกลุ่มธนาคารจะยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 จนกว่าจะถึงปี 2565
ข้อมูลเพิ่มเติม:
สามารถดูพรีวิวผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคารฉบับเต็มได้จาก SCBS Research
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า