วันนี้ (1 กรกฎาคม) น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ช่วงหนึ่งว่า ฐานะทางการคลังของรัฐบาลมีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลาย รัฐบาลกู้เองโดยตรงและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้งสิ้น 6.98 ล้านล้านบาท คิดเป็น 43.8% ของ GDP น่าเป็นห่วงว่าถ้าการประมาณการรายได้ผิดและไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า นั่นหมายความปีงบประมาณต่อไปเหลือให้กู้ได้ไม่เกิน 60% ของ GDP จะเต็มเพดานและจะไม่สามารถกู้เงินมาพัฒนาเศรษฐกิจได้อีก ซึ่งจากสถิติก็เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำไว้กว่าที่ประเมินมา 6 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2557 ถึงตอนนี้แปลว่าประชาชนขาดกำลังซื้อ จึงทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้น้อยลง แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มตกต่ำมาตั้งแต่การยึดอำนาจ เฉลี่ยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2562 รวม 5 ปี ชำระหนี้เงินต้นไปจำนวน 220,875 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วชำระคืนต้นเงินกู้ประมาณปีละ 44,000 ล้านบาท หากรวมหนี้ที่กู้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณรวม 2.791 ล้านล้านบาท จะต้องใช้เวลาชำระคืนถึง 64 ปี ยังไม่นับรวมหนี้เงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงิน 1.1 ล้านล้านบาท หรือหนี้ที่จะต้องกู้ในปีงบประมาณ 2565 ถ้ายังสามารถกู้ได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเกือบ 100 ปีจึงจะชำระหมด ตอนนี้รัฐบาลจะก่อหนี้ได้ไม่เกิน 2.4 ล้านล้านบาทที่เป็นยอดเต็มเพดานการก่อหนี้เมื่อรวมเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงิน และที่ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 จึงเหลือวงเงินที่จะก่อหนี้ได้ภายในปี 2564 อีกประมาณ 7.5 แสนล้านบาท และหากมีเหตุอันไม่คาดฝันเกิดขึ้นจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะสูงจนกู้เงินไม่ได้อีก
ดังนั้นวันนี้นายกรัฐมนตรีจึงกลายเป็นผู้นำของไทยที่กลายเป็น ‘บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้’ ซึ่งหากอนาคตหนี้เต็มเพดานและรัฐบาลก่อหนี้ไม่ได้อีกจะเป็นปัญหากับการพัฒนาประเทศ ตอนนี้ประชาชนไม่มีรายได้ แต่หนี้สูง โจทย์คือรัฐบาลจะเพิ่มกำลังซื้อในประเทศได้อย่างไร การเยียวยาที่จะจบในเดือนนี้ก็ยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลงอีก ตัวเลขคนตกงานจะพุ่งขึ้นเป็น 7-10 ล้านคน รัฐบาลได้เตรียมอะไรไว้แล้วบ้างนอกจากการขยายพระราชกำหนดฉุกเฉิน แต่สิ่งที่น่าผิดหวังคือการจัดทำงบประมาณในปีนี้กลับไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความจำเป็นตอนนี้ แถมยังมีข้อมูลหลายส่วนที่ส่อไปในทางทุจริต รัฐบาลกลายเป็นพ่อค้าหาบเร่ขายงบประมาณให้กลุ่มทุน
ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอบว่าการจัดงบประมาณเป็นการวางโครงการไว้ในอนาคต เพราะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน ยังไม่เพียงพอ และเตรียมสำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนาคต ทั้งนี้ตนพูดแล้วก็ทำ ไม่เหมือนหลายรัฐบาลที่ผ่านมาที่ไม่เคยทำแบบนี้ได้ ตนเห็นว่าทุกคนมีผลกระทบ อาจจะมีการลดค่าแรงไปบ้าง แต่ข้อสำคัญคือภาคเอกชนจ้างงานต่อ ส่วนการจัดเก็บงบประมาณไม่พอเพียง เนื่องจากบางปีมีการประมูลของ กสทช. หรือบางปีประชาชนเดือดร้อน ก็จะเก็บไม่ได้เท่าที่ตั้งไว้ แต่ตอนนี้กำลังใช้ระบบออนไลน์มาตรวจสอบการจัดเก็บภาษีเพื่อความชัดเจนมากขึ้น ช่วงนี้เป็นช่วงของการพื้นฟูและการส่งต่อ แต่ต้องใช้เวลา การแจกเงินก็ไม่ใช่แจกเพื่อการเมืองคือหว่านให้ทุกคน แต่ต้องเลือกกลุ่มให้ถึงคนที่เดือดร้อนจริงๆ ส่วนการใช้หนี้สาธารณะ หลายประเทศมีหนี้จำนวนมาก แต่มีหน่วยงานสำหรับการใช้หนี้อยู่แล้ว หลายข้อเสนอบอกว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารโลก ส่งเสริมการเกษตร แต่ต้องคิดถึงอุปสงค์และอุปทาน ต้องคิดถึงการลดต้นทุนด้วย ไม่ใช่ผลิตมากๆ แล้วต้นทุนสูงก็ไปสู้เขาไม่ได้ ทำอะไรต้องคิดให้ครบทั้งวงจร นี่คือสิ่งที่ยากและทำมาหลายปีแล้วก็ทำไม่ได้
ส่วนการตั้งฉายา พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่าเราเคยเป็นทหารเหมือนกันน่าจะเข้าใจดี ท่านตั้งฉายามา ผมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพราะก็ไม่อยากตั้งฉายาท่าน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์