เมียนมา คือประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารมาอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนท้ายที่สุดปลายปี ค.ศ. 2015 อำนาจการปกครองประเทศเมียนมาได้ถูกเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารมาสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากพรรค National League for Democracy (NLD) ที่นำโดย ออง ซาน ซู จี กวาดชัยชนะไปอย่างท่วมท้น
แต่เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของเมียนมานั้นยังคงขรุขระแม้ทหารจะไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ตาม อำนาจของทหารที่ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 2008 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยเมียนมา ทหารยังมีอำนาจการตัดสินใจในกิจการพลเรือนบางส่วน ทั้งผ่านสมาชิกวุฒิสภาและตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญๆ
แต่นอกจากอุปสรรคข้างต้นแล้ว พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 หรือสมัยที่ทหารยังอยู่ในอำนาจนั้นถูกกลุ่มนักศึกษา อาจารย์ และภาคประชาสังคมมองว่าเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยเช่นกัน เพราะรัฐบาลทหารใช้อำนาจเบ็ดเสร็จควบคุมเนื้อหาวิชาและหลักสูตร ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าหลักสูตรการศึกษาของรัฐบาลละเลยวัฒนธรรมและภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ รวมถึงจำกัดสิทธิเสรีภาพการก่อตั้งองค์กรนักศึกษาอย่างเป็นอิสระ
ถึงแม้วันนี้เมียนมามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาแล้วปีเศษ แต่ พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ยังคงถูกบังคับใช้แม้เนื้อหาบางส่วนจะถูกปรับเปลี่ยนแล้วก็ตาม THE STANDARD ได้พูดคุยกับ Lin Htet Naing ผู้ก่อตั้งสหพันธ์นักศึกษาเมียนมา และเป็นสามีของ Phyoe Phyoe Aung นักกิจกรรม ผู้ที่ออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ทั้งสองถูกรัฐบาลทหารจับกุมในปี ค.ศ. 2015 ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมาและเลือกพัฒนาสังคมเมียนมาผ่านการศึกษา เพื่อสะท้อนอีกเสียงของคนรุ่นใหม่ในเมียนมาต่ออนาคตของประเทศพวกเขา
เพราะ ‘การศึกษา’ คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสังคมประชาธิปไตย
อนาคตของชาติที่ถูกควบคุมความคิดผ่าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
ผ่านไปแล้วกว่าปีเศษที่เมียนมาได้เปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารมาสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่กลุ่มนักศึกษา อาจารย์ และภาคประชาสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลทหารพยายามจำกัดเสรีภาพของนักศึกษาผ่าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังคงถูกบังคับใช้จนถึงทุกวันนี้
เนื้อหาใจความสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ที่เป็นชนวนให้นักศึกษาออกมาเดินขบวนประท้วงในปี ค.ศ. 2015 มี 3 ประเด็น คือ
1. รัฐบาลเมียนมาไม่ยอมให้ภาคการศึกษาอย่างครูและอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายการศึกษา ซึ่งขาดการรับฟังเสียงของประชาชน
2. พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ไม่ให้ความสำคัญต่อภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในเมียนมา ทั้งๆ ที่เมียนมาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์
3. พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ไม่ให้อิสระนักศึกษาในการก่อตั้งองค์กรนักศึกษา โดยรายงานของ Asia Foundation ระบุว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังสะท้อนอำนาจของรัฐบาลเมียนมาที่รวมการตัดสินใจไว้ที่ศูนย์กลาง (Centralisation) ซึ่ง Lin Htet Naing ผู้ก่อตั้งสหพันธ์นักศึกษาเมียนมามองว่า อำนาจของรัฐบาลที่ไม่กระจายอำนาจนั้นไม่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย
“เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากที่สุด นโยบายการศึกษาที่มีลักษณะกระจายอำนาจไปยังหลายกลุ่มจึงเหมาะสมกับเมียนมามากที่สุด และจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่เมียนมาเผชิญมาเป็นเวลานาน การกระจายอำนาจให้เหมาะสมจะสร้างสันติภาพในเมียนมาได้”
หากเรามองว่า ‘ประชาธิปไตย’ ไม่ใช่สิ่งที่จะมีได้ชั่วข้ามคืน แต่ต้องอาศัยเวลาในการงอกเงย ‘การศึกษา’ คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สังคมเกิดปัญญาและทำให้สังคมประชาธิปไตยแข็งแรง Lin Htet Naing จึงมองว่า นี่คือสาเหตุที่รัฐบาลทหารต้องการควบคุมทิศทางการศึกษา เพราะสิ่งนี้หมายถึงการควบคุมอนาคตของชาติผ่านการป้อนข้อมูลในโรงเรียน โดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเมือง
“เผด็จการทหารต้องการควบคุมทุกภาคส่วน เพราะต้องการให้อำนาจยังอยู่ในมือพวกเขา พวกเขาจึงพยายามล้างสมองคนรุ่นใหม่อย่างเป็นระบบผ่านนโยบายการศึกษาอย่างเช่น สิ่งที่เราเรียนในห้องเรียน หรือการรวมตัวของนักศึกษา และนี่คือสาเหตุว่าทำไมพวกเขาจึงต้องมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ที่ทำให้พวกเขาควบคุมกฎหมายเกี่ยวกับระบบการศึกษาได้เบ็ดเสร็จ และการศึกษาคือส่วนสำคัญที่จะทำให้ทหารสามารถควมคุมประเทศได้ง่ายขึ้น ประชาชนจะถูกปลูกฝังว่านักการเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นคนไม่ดี และหลักสูตรการศึกษาของเราไม่ได้สร้างให้คนมีทักษะการคิดวิเคราะห์มากพอที่จะทำให้พวกเขาตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกสอนในโรงเรียน ประชาชนส่วนใหญ่ของเมียนมาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอีกด้านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ รัฐบาลทหารยังคงเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อผ่านหลักสูตรการศึกษา”
ประชาชนส่วนใหญ่ของเมียนมาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอีกด้านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ รัฐบาลทหารยังคงเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อผ่านหลักสูตรการศึกษา
รัฐบาล NLD ไม่กล้าเปลี่ยนอะไรเต็มที่ เพราะนโยบายปรองดองกับทหาร
ในสมัยหาเสียงเลือกตั้งพรรค NLD ออง ซาน ซู จี เคยให้คำมั่นไว้ว่า หากพรรคของเธอชนะ เธอจะเปลี่ยน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้เพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับภาคประชาชนมากขึ้น รวมถึงให้คุณค่ากับภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ จึงทำให้ภาคการศึกษาตั้งความหวังว่า เมื่อพรรค NLD เข้ามาสู่อำนาจนั้น รัฐบาลจะรื้อระบบการศึกษาที่ระบุอยู่ในพ.ร.บ.ฉบับนี้
อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2016 กระทรวงศึกษาธิการของเมียนมามีทีท่าว่าจะใช้ระบบการศึกษานี้ต่อไป และแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่รัฐบาล NLD เตรียมทำนั้นถูกกลุ่มนักศึกษาวิจารณ์ว่า ขาดการมีส่วนร่วมของอาจารย์และนักศึกษาอย่างที่รัฐบาลทหารเคยทำ ซึ่ง Lin Htet Naing ชี้ว่า แม้เมียนมาจะเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 2008 ที่อำนาจของทหารยังแทรกแซงอยู่ในการเมืองนั้น ทำให้รัฐบาลของพรรค NLD ไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้มาก
“สิ่งเหล่านี้ทำให้พรรค NLD เชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษานั้นเป็นเรื่องยากเกินไปที่จะเปลี่ยนในตอนนี้ นอกจากนี้พรรค NLD ยังยึดนโยบายปรองดองกับทหาร จึงทำให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงที่จะโต้แย้งกับทหารเพื่อพยายามแก้ปัญหาหลักๆ ก่อน อย่างเช่น การสร้างสันติภาพในเมียนมา”
การศึกษาคือปัจจัยสำคัญที่สร้างสังคมประชาธิปไตย
ทั้ง Lin Htet Naing และ Phyoe Phyoe Aung คือนักกิจกรรมที่ผ่านการต่อสู้กับรัฐบาลทหารมาอย่างโหดร้าย Lin Htet Naing เข้าร่วมการปฏิวัติในปี ค.ศ. 2007 และถูกรัฐบาลทหารจับกุมในปี ค.ศ. 2008 เป็นระยะเวลา 3 ปี 4 เดือน ก่อนที่จะมาเข้าร่วมขบวนต่อต้าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติอีกครั้งในปี ค.ศ. 2015 ร่วมกับ Phyoe Phyoe Aung และทั้งคู่ถูกจับกุมอีกครั้งในปีเดียวกัน
Lin Htet Naing เปิดเผยว่า “ประสบการณ์การถูกจับกุมนั้นโหดร้ายมาก อย่างไรก็ตามการเป็นนักโทษทางการเมืองภายใต้รัฐบาลทหารกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นต่างกัน นักศึกษาเพียงต้องการเสรีภาพทางการศึกษา สิทธิในการก่อตั้งองค์กรนักศึกษา และแม้ว่าพวกเราจะพยายามเรียกร้องสิ่งนี้ผ่านการพูดคุย แต่รัฐบาลทหารไม่ได้ทำให้การพูดคุยนั้นง่ายขึ้น พวกเขาปฏิเสธข้อเรียกร้องของเรา พวกเราจึงต้องตัดสินใจออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และท้ายที่สุดรัฐบาลทหารเลือกที่จะใช้วิธีรุนแรง ปราบปราม และจับกุมพวกเรา”
ปัจจุบันนี้ Lin Htet Naing ไม่ได้ทำงานอยู่ในสหพันธ์นักศึกษาเมียนมาแล้ว แต่เขาทำงานด้านการศึกษาต่อด้วยการก่อตั้ง The Wings Capacity Building School โครงการการศึกษาที่สนับสนุนการศึกษาทางเลือกให้กับเยาวชนในเมียนมา เพราะเขาเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยสร้างสันติภาพและสังคมประชาธิปไตย
“ประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาต่ำ ประชาธิปไตยไม่สามารถงอกเงยได้ การศึกษาควรถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่สร้างวัฒนธรรมแห่งประชาธิปไตยให้กับประชาชน”
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับปัญหาที่ใกล้เคียงกัน ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง Lin Htet Naing จึงมองว่า การพยายามต่อสู้กับความไม่ถูกต้องไม่จำเป็นจะต้องจำกัดอยู่แค่ภายในชาติ แต่สามารถร่วมมือกันได้ระหว่างคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคนี้เพื่อสะท้อนปัญหาซึ่งกันและกัน
“ปัญหาในเมียนมาก็กระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านของเราด้วยเช่นกัน ผมคิดว่าความร่วมมือกับคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคนี้จะช่วยทำให้ประเทศเราสามารถเดินไปสู่ประชาธิปไตยได้ประสบความสำเร็จ เพราะเรายังมีอุปสรรคที่ขัดขวางประชาธิปไตยอย่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 2008 การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ รวมถึงการพูดคุยระหว่างคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคนี้จะช่วยทำให้เราต่อสู้กับความไม่ถูกต้องได้เข้มแข็งขึ้น พวกเราจะมีความรู้มากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยพาประเทศในภูมิภาคนี้ก้าวผ่านสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้”
ในยุคสมัยใหม่ที่เส้นพรมแดนดูจะจางลงเรื่อยๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ก็เช่นกัน
การต่อสู้กับความไม่ถูกต้องสามารถถูกส่งต่อ แลกเปลี่ยน และสะท้อนเสียงซึ่งกันและกันได้ จนอาจทำให้เสียงที่คอยตั้งคำถามและตรวจสอบอำนาจในสังคมไปถึงจุดที่เข้มแข็งและหนักแน่นมากพอ
อ้างอิง:
– Zobrist, Brook, Patrick McCormick (December 2013). “Preliminary Assessment of Decentralization in Education”. The Asia Foundation. Retrieved 13 March 2015.
– www.goo.gl/0yigiJ
– www.goo.gl/YaqkjR