×

‘ขุนทอง’ แชตบอตผู้ช่วยให้การทวงเงินหารค่าอาหารกับเพื่อนเป็นเรื่องง่ายและปลอดภัย [Advertorial]

23.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ขุนทอง คือแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ที่ทาง KBTG และธนาคารกสิกรไทยได้พัฒนาขึ้นมาให้ใช้งานกันบน LINE แพลตฟอร์มแชตแอปพลิเคชันยอดนิยมของคนไทยที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 45 ล้านคน
  • ช่วงเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการระยะแรกๆ ขุนทองมีผู้ใช้งานที่ราว 30,000 รายในระยะเวลา 5 เดือน โดยมียอดประมวลผลมากกว่า 135 ล้านบาท และสามารถช่วยตามบิลได้สำเร็จในสัดส่วนมากถึง 90% ในแค่ 1 วัน 
  • ความตั้งใจของธนาคารกสิกรไทยและ KBTG คือการนำ AI และเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนารูปแบบบริการและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้รู้ใจผู้ใช้บริการในทุกสภาพแวดล้อม ช่วยให้การทำธุรกรรมไร้รอยต่อทุกที่ทุกเวลา

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าการทวงเงินคนใกล้ชิด หารค่าอาหารกับเพื่อนไม่ลงตัว (บางเมนูในมื้อนั้นๆ ไม่ได้กินด้วย แต่ก็ต้องหารค่าใช้จ่ายเท่ากัน) จะกลายเป็นปัญหาหนักใจยอดฮิตที่คนส่วนมากต้องประสบพบเจอ ถึงขนาดที่บางรายแตกหักความสัมพันธ์ ผิดใจกันเพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ หรือความเกรงใจมาแล้วก็มี

 

และเพราะตัวเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้อยู่บ่อยๆ วิน-วรกฤษ เหล่าวิทวัส ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรมขั้นสูง (Advanced Innovation Product Manager) ของบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG จึงเกิดแนวคิดที่อยากนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้เพนพอยต์ที่เกิดขึ้น

 

ทั้งหมดจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่การพัฒนา ‘ขุนทอง’ (@KhunThong) แชตบอตเหรัญญิกผู้ช่วยประจำกลุ่ม LINE ที่จะทำให้การตามทวงเงินเพื่อน หารบิลค่าอาหาร ทริปท่องเที่ยว หรือแม้แต่ค่าสมาชิกบ้าน Netflix กลายเป็นเรื่องที่ง่าย ไม่สร้างความลำบากใจให้กับเราอีกต่อไป

 

 

ขุนทองคืออะไร ช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้นจริงไหม 

ขุนทองคือแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ที่ทาง KBTG และธนาคารกสิกรไทยได้พัฒนาขึ้นมาให้ใช้งานกันบน LINE แพลตฟอร์มแชตแอปพลิเคชันยอดนิยมของคนไทยที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 45 ล้านคน 

 

จุดขายของเจ้าขุนทองคือการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการคำนวณ ตามทวงค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะค่าอาหาร ทริปท่องเที่ยว เงินกองกลาง หรือค่าบริการในกลุ่ม Subscription เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ช่วยให้เกิดประสบการณ์ในการทำธุรกรรมแบบไร้รอยต่อ ง่าย ไม่วุ่นวาย และไร้ความกังวล

 

ก่อนอื่น เมื่อเราต้องการจะใช้งานขุนทองจะต้องเพิ่มเพื่อนผ่าน LINE โดยแอด @KhunThong และเมื่อต้องการจะหารค่าใช้จ่ายต่างๆ กับเพื่อนก็เพียงแค่เชิญเจ้า AI นกขุนทองตัวนี้เข้ามาอยู่ในแชตกลุ่มที่มีเพื่อนๆ อยู่ด้วย แล้วเรียกใช้โดยการป้อนคำสั่ง ‘#สร้างบิล’ จากนั้นขุนทองจะให้เราใส่รายละเอียดค่าใช้จ่ายที่ต้องการหารกับเพื่อน พร้อมเลือกว่าเพื่อนในกลุ่ม LINE นั้นๆ มีใครบ้างที่เราต้องการจะหารค่าใช้จ่ายด้วย

 

วิน-วรกฤษ เหล่าวิทวัส ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรมขั้นสูง (Advanced Innovation Product Manager) ของบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป

 

เมื่อป้อนรายละเอียดข้อมูลค่าใช้จ่ายจนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ขุนทองจะคำนวณให้เสร็จสรรพเลยว่าเพื่อนในกลุ่มต้องจ่ายเงินคนละเท่าไร พร้อมจัดอันดับคนที่จ่ายเงินคืนเร็วที่สุด 3 อันดับแรก เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เพื่อนๆ ในกลุ่มคืนเงินเจ้าหนี้ให้เร็วที่สุด

 

ฝั่งของคนที่ต้องจ่ายเงินคืนก็สามารถผูกบัญชีกับธนาคารกสิกรไทยหรือจ่ายด้วย Mobile Banking ธนาคารอื่นๆ และอัพ e-Slip ที่มี QR Code ได้ทันที เพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรมหรือการคืนเงินให้ง่ายขึ้น

 

ส่วนกรณีที่ต้องการแยกค่าใช้จ่ายแบบ ‘หารไม่เท่า’ สำหรับกรณีที่สมาชิกบางคนในกลุ่มไม่ได้กินอาหารบางเมนูด้วย ก็สามารถเลือกคำสั่ง ‘ถ่ายรูปใบเสร็จ’ เพื่อให้ขุนทองใช้ฟีเจอร์ OCR แปลรูปภาพเป็นตัวหนังสือ โดยที่เจ้าหนี้สามารถเลือกได้ว่าเมนูไหนเป็นของใคร สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มต้องจ่ายเงินเท่าใด

 

และในทุกๆ ครั้งที่มีคนกดโอนเงินทำธุรกรรมสำเร็จ ขุนทองก็จะสรุปให้ด้วยว่ามีใครบ้างที่โอนเงินแล้ว หรือเมื่อต้องการเช็กว่าใครบ้างที่ยังไม่ได้จ่ายเงิน ก็แค่ป้อนคำสั่ง ‘#ทวงเงิน’ เพียงเท่านี้ ขุนทองก็จะอัปเดตข้อมูลให้แบบเรียลไทม์เลยว่ามีใครที่ยังค้างชำระบิลในครั้งนั้นๆ อยู่ 

 

โดยในทุกๆ ช่วง 10 โมงเช้าของวัน ขุนทองก็จะสรุปให้อีกด้วยว่ามีใครในกลุ่มของเราที่ยังติดหนี้ ไม่ยอมชำระเงิน

 

 

แต่ข้อจำกัดที่เราพบจากการมีโอกาสได้ลองใช้งานด้วยตัวเองมีอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือในตอนนี้ขุนทองยังสร้างบิลได้แค่รายการเดียวอยู่ หมายความว่าในกรณีที่เพื่อนอีกคนเป็นเจ้าหนี้ในมื้ออาหารมื้ออื่นๆ ก็จะไม่สามารถสร้างรายการการชำระที่สองซ้อนขึ้นมาได้

 

ส่วนอีกข้อคือ ‘การยกเลิกบิล’ ที่ต้องใช้เวลาในการคลำหาการป้อนคำสั่งอยู่นานพอสมควร (ต้องป้อนคำสั่งว่า ‘ยกเลิกบิล’) ซึ่งวิธีใช้งานขุนทองให้ง่ายและลื่นไหลที่สุดยังคงต้องศึกษาข้อมูลจากแอ็กเคานต์ส่วนตัวขุนทอง เพื่อให้รู้วิธีการเรียกใช้คำสั่งต่างๆ ให้ครอบคลุมอยู่ดี

 

แต่โดยรวมแล้วผู้เขียนพบว่าการใช้ขุนทองช่วยให้การตามทวงเงินและเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ กับเพื่อนๆ ในกลุ่มเป็นเรื่องที่ง่าย คล่องตัว และสะดวกเอามากๆ ทั้งยังไม่ต้องเกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วน ไม่สบายใจ เกรงใจในการเรียกเก็บเงินกับเพื่อนๆ อีกด้วย ซึ่งเราเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าขุนทองจะฉลาดขึ้นแน่นอน หลังจากที่มันถูกเรียกใช้งานบ่อยจนถูกพัฒนาและเชี่ยวชาญกว่าเดิม

 

 

“We eat our own dog food” ปรัชญาพัฒนาขุนทองและนวัตกรรมการเงินฉบับ KBTG

อย่างที่ทราบกันว่าขุนทองเป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นจากไอเดียของ วรกฤษ เหล่าวิทวัส ซึ่งในที่นี้ก็คือคนของ KBTG หรือกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป เพื่อพัฒนาโซลูชันขึ้นมาตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนจำนวนมาก โดยเริ่มรันโครงมาตั้งแต่ยังเป็น Hackathon ในบริษัท

 

ก่อนจะพัฒนาต่อเนื่องจนเป็นรูปเป็นร่าง ทดลองใช้งานกับพนักงานในบริษัทจำนวนกว่า 1,200 คนครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อปิดจุดอ่อน หาช่องโหว่ พัฒนาขุนทองให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานเรียกเก็บเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ในช่วงเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการระยะแรกๆ ขุนทองมีผู้ใช้งานที่ราว 30,000 รายในระยะเวลา 5 เดือน โดยมียอดประมวลผลมากกว่า 135 ล้านบาท (Annualized Value) และสามารถช่วยตามบิลได้สำเร็จในสัดส่วนมากถึง 90% ภายในแค่ 1 วัน สะท้อนให้เห็นว่าการมีขุนทองช่วยให้การทวงเงินประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

 

ประโยคเด็ดที่ เรืองโรจน์ พูนผล ประธานบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป มักจะกล่าวในงานแถลงข่าวนวัตกรรมใหม่ๆ คือ “We eat our own dog food” หรือที่เป็นสำนวนว่า พวกเขาจะทดลองกินอาหารสุนัขที่ตัวเองผลิตด้วยตัวเอง เพื่อทดสอบคุณภาพให้ดีในทุกๆ ครั้งก่อนจะเปิดตัวในตลาดอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ที่ยืนยันว่าพวกเขาใส่ใจในทุกๆ ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมด้วยตัวเองอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา

 

ส่วนความกังวลเรื่อง ‘ความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัว’ เรืองโรจน์และวรกฤษยืนยันว่าเป็นประเด็นที่พวกเขาให้น้ำหนักความสำคัญไม่แพ้กัน โดยใช้มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดเหมือนกับที่กสิกรไทยใช้ ซึ่งขุนทองจะออกมาเฉพาะตอนที่เรียกใช้งานเก็บเงินเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีการอ่านข้อมูลแชตส่วนตัวผู้ใช้ในช่วงเวลาอื่นๆ แน่นอน (ในกรณีที่ไม่ใช้งานแล้วก็สามารถนำขุนทองออกจากกลุ่มได้)

 

“สำหรับแชตบอตปกติ เมื่อมีการนำเขาเข้ามาอยู่ในแชตกลุ่ม โมเดลปกติทั่วๆ ไปของแชตบอตตัวอื่นๆ ก็จะอ่านข้อมูลทั้งหมด แต่สำหรับขุนทอง เรามีการกั้นส่วนการทำงานของมันเอาไว้ ถ้าไม่เรียกใช้ ขุนทองก็จะไม่เข้ามาเห็นข้อมูลอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อกังวลแรกของทางธนาคารแห่งประเทศไทยในการให้บริการขุนทอง ดังนั้นจึงมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลได้เลย” วรกฤษกล่าว

 

ทั้งนี้เป้าหมายภายในปี 2563 KBTG และกสิกรไทยได้ตั้งเป้าว่าจะต้องมีผู้ใช้งานขุนทองเพิ่มที่ 6 แสนรายให้ได้ และคาดหวังว่าขุนทองจะช่วยให้เกิดการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นที่ 30-50% (ปัจจุบันผู้ใช้งานหนึ่งคนจะมียอดการทำธุรกรรมบน K PLUS เฉลี่ย 30 ครั้งต่อเดือน) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญท่ีทำให้ K PLUS มียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 15 ล้านรายตามเป้าหมายในปีนี้ได้ (ผู้ใช้งานในปัจจุบันอยู่ที่ 13 ล้านราย) 

 

“เรามองทุกช่วงเวลาในปัจจุบันมีค่ามากๆ (หลังเกิดโควิด-19 คนมีโอกาสใช้เวลาร่วมกันน้อยลง) วันนี้ขุนทองจึงจะก้าวเข้ามาเป็นผู้ช่วยให้ผู้ใช้งานมีช่วงเวลาดีๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการหารบิลหรือทวงเงินอีกต่อไป การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมีคุณค่ามากๆ ดังนั้นเทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้นมาก็จะเข้ามาช่วยแก้เพนพอยต์ในเรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

 

“ภาพที่จะเห็นต่อจากนี้ของธนาคารกสิกรไทยและ KBTG คือการนำ AI เข้ามาพัฒนารูปแบบบริการและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้รู้ใจผู้ใช้บริการในทุกสภาพแวดล้อม นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ธนาคารอยู่ในทุกๆ ที่ ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนไม่ขาดตกบกพร่อง และทำให้การทำธุรกรรมไร้รอยต่อมากกว่าที่เคย” เรืองโรจน์กล่าวทิ้งท้าย

 

สำหรับผู้ที่สนใจใช้งานขุนทองสามารถเพิ่มเพื่อนใน LINE ได้ที่ https://lin.ee/bxjDVWR หรือ https://www.kasikornbank.com/th/personal/Digital-banking/Pages/khun-thong.aspx

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X