ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา มีคนพูดถึงคำว่า Decoupling กันมาก ซึ่งหมายถึงแนวคิดการแยกเศรษฐกิจหรือห่วงโซ่การผลิตออกจากอีกประเทศหนึ่งอย่างสิ้นเชิง เพื่อลดการพึ่งพาประเทศนั้นๆ ในแง่การใช้เป็นฐานการผลิต รวมถึงฐานการนำเข้าหรือซัพพลายเออร์วัตถุดิบและส่วนประกอบ เพื่อลดผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั้งระบบในยามที่อะไรๆ ก็มีความไม่แน่นอนสูง จากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ
ล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงแนวคิดนี้อีกครั้ง โดยย้ำว่าการแยกเศรษฐกิจและซัพพลายเชนออกจากจีนเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เขาพิจารณา ซึ่งหากทำได้จะเป็นการจัดระเบียบเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ทรัมป์กล่าวในทวิตเตอร์ว่า สหรัฐฯ รักษาหนึ่งในออปชันทางนโยบายเอาไว้ นั่นคือการแยกเศรษฐกิจออกจากจีนอย่างสิ้นเชิง
ท่าทีของทรัมป์ขัดแย้งกับ โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งรับหน้าที่หัวหน้าคณะเจรจากับจีนในช่วงที่เกิดสงครามการค้า โดยเมื่อวันพุธ (17 มิถุนายน) ไลต์ไฮเซอร์ได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่า เขาไม่คิดว่าการแยกเศรษฐกิจจากจีนอย่างสิ้นเชิงจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ถึงแม้เขาต้องการนำซัพพลายเชนกลับมาสหรัฐฯ ก็ตาม
ประเด็นการแยกเศรษฐกิจออกจากกันเข้ามาอยู่ในวงจรการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในช่วงที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ตกต่ำลงจากสงครามการค้า ตามมาด้วยวิกฤตโควิด-19 ที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนรับมือกับโรคระบาดอย่างไม่โปร่งใส จนส่งผลให้ไวรัสลุกลามไปทั่วโลก นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังกังวลว่าโครงการ 5G ของบริษัท Huawei จะสร้างประตูหลังบ้านให้รัฐบาลจีนสามารถเจาะเข้าสู่ระบบการสื่อสารของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัญหาความมั่นคงแห่งชาติ
แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนว่า การแยกเศรษฐกิจและห่วงโซ่การผลิตออกจากกันจะสร้างอุปสรรคทางการค้าขนาดใหญ่ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นชนวนสู่สงครามเย็นทางเศรษฐกิจ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: