“Feliz Aniversário!!! Muita saúde e paz! Fica com Deus!”
“สุขสันต์วันเกิด!!! ขอให้มีสุขภาพแข็งแรงและพบเจอแต่สันติภาพ!”
วันเกิดปี 2015 ของผม นับเป็นปีที่ผมได้รับคำอวยพรวันเกิดจากคนที่ผมไม่เคยคาดคิดมาก่อน และเจ้าของคำอวยพรนั้นคือ คลอวิส เฟร์นานเดซ หรือที่รู้จักในนาม Gaúcho da Copa ลุงผู้ถือถ้วยฟุตบอลโลกจำลองติดตามเชียร์ทีมชาติบราซิลไปกว่า 60 ประเทศทั่วโลก
ภาพที่หลายคนคุ้นเคยคือภาพของเขาในฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล เมื่อเยอรมนีสามารถเอาชนะเจ้าภาพในบ้านไปได้ถึง 7-1 ในรอบรองชนะเลิศ ก่อนที่กล้องจะจับภาพไปที่ลุงชาวบราซิลที่แสดงสีหน้าเศร้าพร้อมกับกอดถ้วยรางวัลจำลองที่เขาหวังจะได้เห็นทีมชาติบราซิลชูถ้วยในสนามมาราคานา หลังรอบชิงชนะเลิศในปีนั้น
ข่าวของ Gaúcho da Copa จบลงในฐานะหนึ่งในไฮไลต์ของการแข่งขัน เป็นภาพสะท้อนความรู้สึกของเจ้าภาพที่พลาดแชมป์ในบ้านไปอย่างน่าเสียดาย พร้อมกับความเจ็บปวดที่โดนเยอรมนีถล่มถึง 7 ประตูในเกมเดียว
หลังจากฟุตบอลโลกรูดม่านลง ช่วงปลายปี 2014 ผมได้ทราบข่าวว่าจะมีโอกาสได้เดินทางไปทำข่าวโอลิมปิกที่รีโอเดจาเนโรในปี 2016 เป็นเวลา 1 ปี ผมจึงเริ่มต้นทำการบ้านในด้านต่างๆ ตั้งแต่ปี 2015
หลังค้นคว้าข้อมูล ผมจึงได้พบเจอกับชื่อจริงของ Gaúcho da Copa ว่าเขาคือ คลอวิส เฟร์นานเดซ แฟนบอลตัวยงของทีมชาติบราซิล ซึ่งได้มีโอกาสตามเชียร์ทีมชาติบราซิลมาแล้วกว่า 150 เกมใน 60 ประเทศทั่วโลก
“ผมจำศึกฟุตบอลโลก 1970 ที่เม็กซิโกได้ ผมได้ดูเกมบราซิลจากทางบ้าน แพสชันของผมเริ่มต้นแต่ตอนนั้น” คือส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ที่เฟร์นานเดซให้ไว้กับ FIFA TV ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014
“จากความรู้สึกในวันนั้น ผมได้สัญญากับตัวเองว่าผมจะไปฟุตบอลโลก และวันหนึ่งผมจะได้ตามดูบราซิลในรอบชิงชนะเลิศของฟุตบอลโลก
“ความฝันนั้นกลายเป็นจริงเมื่อปี 1990 ทุกความชอบที่ผมเก็บสะสมมาถูกปลดปล่อยในครั้งนั้น นั่นคือประสบการณ์บอลโลกครั้งแรกของผม และผมได้พกมันติดตัวมาตลอดชีวิต”
ฟุตบอลโลกปี 1990 และ 2002 คือปีที่ความฝันของเขากลายเป็นจริงในการตามเชียร์ฟุตบอลทีมชาติบราซิลจนได้แชมป์โลกในทั้ง 2 ปี แต่มาถึงปี 2014 ซึ่งฟุตบอลโลกโคจรมาถึงบ้านเกิดของเขา เขาจึงตั้งความหวังใหม่อีกครั้ง
“ผมคือนักเตะคนที่ 12 คุณมั่นใจได้เลยว่าผมคือคนนั้น ผมคือคนที่เชียร์ ผมคือคนที่ตะโกน ผมคือคนที่ให้คำมั่นสัญญา และในฐานะนักเตะคนที่ 12 ผมอยากพูดแค่อย่างเดียวคือ คาฟู ผมจะทำลายสถิติของคุณ ถ้าคุณลงเล่นให้กับทีมชาติทั้งหมด 150 เกม ผมก็ลงเล่นไปแล้วทั้งหมด 146 เกม และเรามีอีก 7 เกมให้เล่นในฟุตบอลโลกปี 2014 รวมถึงนัดชิงชนะเลิศในมาราคานา คุณมั่นใจได้เลยว่าผมจะจบทัวร์นาเมนต์ในฐานะนักเตะที่ลงสนามมากที่สุด”
หลังจากที่ฟุตบอลโลก 2014 ผ่านพ้นไป เฟร์นานเดซก็ได้ทำลายสถิตินั้นจริงๆ ด้วยการตามเชียร์ทีมชาติบราซิลทั้งหมด 6 นัดจนถึงรอบรองชนะเลิศ และหากนับว่าเขาเป็นผู้เล่นคนที่ 12 เขาก็ลงเล่นไปทั้งหมดแล้ว 152 เกมตลอดอาชีพนักเตะคนที่ 12 ของเขา
เมื่อเราตัดสินใจแอด Facebook เขาไปเมื่อปลายปี 2014 เพื่อโอกาสติดต่อไปพบเจอเขาในปี 2016 ที่โอลิมปิก เฟร์นานเดซก็ทักทายผมกลับมาทันที แต่ปัญหาระหว่างเราสองคนคือผมพูดภาษาไทยและอังกฤษ ในขณะที่เฟร์นานเดซพูดแต่ภาษาโปรตุเกสเท่านั้น
วันนั้นจึงเป็นวันที่เราต้องพึ่งเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Google Translate ก้าวข้ามกำแพงภาษา หลังจากที่เราใช้ Facebook ทำลายกำแพงระยะทางลงได้แล้ว
———-
Clóvis Fernandes
“ขอต้อนรับเข้าสู่ครอบครัวของ Gauchos”
(Bem-vindos à família gaúchos na copa movidos a chimarrão com a erva mate Gaúcha da Serra!!)
———–
ก่อนที่ผมจะตัดสินใจตอบกลับไปผ่านการแปลด้วย Google Translate โดยไม่มั่นใจนักว่าจะแปลได้ถูกต้องไหม
———–
“สวัสดี ผมเป็นนักข่าวกีฬาจากประเทศไทย เราติดตามเรื่องราวของคุณในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2014 ตอนนี้คุณกำลังทำอะไรอยู่ คุณทำอะไรอยู่”
(Olá eu sou um jornalista esportivo da Tailândia, tem vindo a seguir a sua história durante a Copa do Mundo de 2014. como você está fazendo agora? o que está rolando?)
————
หลังจากนั้นผมได้เห็นภาพที่ผมไม่คิดว่าจะได้เห็น นั่นคือ
“ผมอยู่มิวนิก ผมมาออกรายการทีวีที่เยอรมนี”
หลังจากนั้นเขาก็ได้ส่งภาพของเขากับเหล่านักเตะทีมชาติเยอรมนีที่ทำหัวใจเขาสลายเมื่อปี 2014
เฟร์นานเดซส่งภาพที่เขาทักทายกับ มาริโอ เกิตเซ และเยอโรม บัวเต็ง นักเตะทีมชาติเยอรมนีที่เขาทักทายกันหลังอัดรายการทีวีเสร็จ ก่อนที่จะส่งข้อความต่อท้ายว่า
“นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีในชีวิตของผม!”
(Foi um momento maravilhoso na minha vida!)
—————
“ผมชอบนักเตะสองคนนั้น ทั้งมาริโอ เกิตเซ และบัวเต็ง พวกเขาดูแลคุณดีไหมที่เยอรมนี”
(muito bom! Eu amo esses dois jogadores, Mario Gotze e Boateng, como é a Alemanha? te tratando bem? hahah)
————-
ดีมากๆ เลยครับ!
(Maravilhosamente bem!)
หลังจากนั้นแม้ว่าเราจะขาดการติดต่อกันไป เนื่องจากความชะล่าใจส่วนหนึ่งว่าผมจะกลับไปติดต่อเขาอีกครั้งในช่วงที่ใกล้ๆ กับช่วงเวลาที่จะเดินทางไปรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในปี 2016
แต่เมื่อวันเกิดของผมมาถึงในเดือนสิงหาคม ข้อความของเฟร์นานเดซก็เด้งขึ้นมาสุขสันต์วันเกิดผม ทั้งที่เราไม่ได้คุยกันเป็นเวลากว่า 8 เดือน
ผมตั้งหน้าตั้งตารอที่จะไปพบเจอเขาที่รีโอเดจาเนโร วางแผนหาทางที่จะทำรายงานสัมภาษณ์เกี่ยวกับตัวตนของเขา ให้เขาพาไปพบเจอสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมฟุตบอลบราซิลในปี 2016 ที่โอลิมปิก
แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงนับถอยหลังสู่โอลิมปิกช่วงปลายปี 2015 ในวันที่ 16 กันยายน ชื่อของเฟร์นานเดซก็ปรากฏบนหน้าสื่อต่างประเทศอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้ไม่มีการทำลายสถิติการเดินทาง ไม่มีข่าวการเฉลิมฉลองการเดินทางเชียร์ทีมโปรดของเขา แต่เป็นข่าวการเสียชีวิตในวัย 60 ปีที่บ้านเกิดของเขา
ข่าวนั้นทำให้ผมเสียใจมาก เช่นเดียวกับหลายๆ คนที่ทราบว่าผมเตรียมไปสัมภาษณ์เขา ความรู้สึกของผมในช่วงเวลานั้นคือแม้ว่าบทสนทนาของเราจะสั้น และเพียงรู้จักกันผ่าน Facebook แต่สุดท้ายกลับรู้สึกไม่ต่างกับการสูญเสียเพื่อนไปคนหนึ่ง
แม้ว่าผมจะได้เดินทางไปโอลิมปิกในปี 2016 และฟุตบอลโลกปี 2018 ที่รัสเซีย แต่สุดท้ายผมก็ไม่เคยได้มีโอกาสพบเจอลูกๆ ของเฟร์นานเดซที่เดินทางไปยังสองมหกรรมดังกล่าวอีกเลย
สุดท้ายสิ่งที่เฟร์นานเดซได้ทิ้งไว้ให้หลายๆ คนอาจเป็นภาพสัญลักษณ์ของความรักที่แฟนบอลมีต่อทีมทีมหนึ่ง และภาพที่ได้รับฉายาว่า ‘Most Sad Fan’ จากความพ่ายแพ้ของทีมชาติบราซิลในรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก ปี 2014
แต่สำหรับผม มันคือสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงของผู้คนที่เกิดขึ้นจากกีฬา เพราะนอกจากเทคโนโลยีที่เป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวกให้เราสื่อสารกันได้ง่ายขึ้นและลดช่องว่างของระยะทาง แต่สิ่งที่เชื่อมโยงเราเข้าด้วยกันคือความชื่นชอบที่เรามีต่อกีฬา
ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมามีข้อถกเถียงเกิดขึ้น โดยมีบางคนตั้งคำถามถึงความสำคัญของกีฬาท่ามกลางช่วงเวลาที่ทุกคนต้องเว้นระยะห่างจากกัน ตามมาด้วยวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและเศรษฐกิจของผู้คนจากทั่วโลก
แต่บทสนทนาที่เกิดขึ้นกับเฟร์นานเดซเป็นบทพิสูจน์ว่ากีฬามีคุณค่าในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน และสามารถทำลายกำแพงทั้งวัฒนธรรมและภาษา โดยเฉพาะการแข่งขันมหกรรมกีฬาทั้งฟุตบอลโลกและโอลิมปิก ที่ทุกคนต่างเฉลิมฉลองความแตกต่างให้กลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดคนเข้าหากัน
สิ่งที่พูดมาแม้ว่าจะเป็นเพียงไอเดียและสิ่งที่หลายๆ คนอยากให้เป็นหน้าที่ของกีฬา สุดท้ายกีฬาอาจจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในการเชื่อมโยงผู้คน แต่อย่างน้อยที่สุดผมเองก็มีโอกาสได้เห็นการทำงานของกีฬาในหน้าที่ของมันอย่างเต็มรูปแบบ
สุดท้ายนี้จากบทสนทนาที่เรามี ผมเชื่อว่าสิ่งที่เฟร์นานเดซต้องการทำมันสะท้อนออกมาในบทสัมภาษณ์กับ FIFA TV ของเขาว่า
“การที่ผมถือถ้วยจำลองไปทั่ว แน่นอนว่าย่อมมีคนที่จะเข้ามาถ่ายรูปด้วยเพื่อบันทึกความทรงจำจากการเดินทาง ทำให้ผมได้กลายเป็นเพื่อนกับหลายๆ คน”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์