ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ภายหลังจากที่กรมชลประทานได้ทยอยเพิ่มปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากเดิม 2,600 เป็น 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวานนี้ (23 ต.ค.) มาจนถึงเช้าวันนี้ (24 ต.ค.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,697 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งหลังจากนี้จะคงปริมาณน้ำให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่อเนื่องไปอีก 1 สัปดาห์ ซึ่งปริมาณน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาประกอบกับอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูงระหว่างวันที่ 23-27 ตุลาคม 2560 จะส่งผลให้ระดับ น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี และนนทบุรี มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 20-25 เซนติเมตร
พร้อมกับบริหารจัดการน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อน โดยการแบ่งรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมกันประมาณ 768 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมกับรับน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1,347 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในขณะที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังคงปิดการระบาย
จากการติดตามระดับน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาพบว่า บริเวณจังหวัดชัยนาท มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น 22 เซนติเมตร บริเวณจังหวัดสิงห์บุรีไปจนถึงจังหวัดอ่างทอง เพิ่มขึ้น 7 เซนติเมตร ส่วนบริเวณบ้านป้อม บ้านบางหลวงโดด และอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำทรงตัว โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอัตรา 2,882 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรับได้ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ในขณะที่ช่วงวันที่ 23-27 ตุลาคม 2560 ยังคงได้รับอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 58,953 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 20,292 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 82 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด