×

เมื่อ #Saveวันเฉลิม สะท้อนการทำงานของรัฐ และพลังโซเชียลช่วยทำลายความเงียบกรณี ‘การบังคับสูญหาย’

โดย THE STANDARD TEAM
09.06.2020
  • LOADING...

เป็นเวลาเกือบสัปดาห์แล้วที่ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยซึ่งพักอาศัยในกัมพูชา ได้ถูกอุ้มหายหน้าคอนโดฯ กลางกรุงพนมเปญ จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุและชะตากรรมว่าเป็นอย่างไร

 

เมื่อวานนี้ (8 มิถุนายน) อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้สัมภาษณ์กับรายการ THE STANDARD Daily ถึงกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น พร้อมเล่าถึงภาพรวมของการบังคับให้สูญหาย (Enforced Disappearance) ที่เกิดในประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 

 

อังคณากล่าวว่าที่ผ่านมาการบังคับให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นหลายครั้ง ยกตัวอย่างจากสงครามยาเสพติดที่พบว่ามีบุคคลจากภาคอีสาน กลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือ หรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็มีการบันทึกว่าถูกผู้แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่รัฐพาตัวแล้วหายไปไม่กลับมา รวมถึงเหตุการณ์ทางการเมืองอย่าง ‘พฤษภาทมิฬ’ ซึ่งมีการรายงานจากสหประชาชาติว่ามี 30 กว่าชีวิตต้องหายตัวไปจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้นการบังคับสูญหายโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองและขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ 

 

ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นกับ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ที่เป็นประเด็นล่าสุด สะท้อนให้เห็นความกระตือรือร้นในการช่วยเหลือของรัฐบาลไทยว่ามีมากน้อยแค่ไหน และสิ่งที่หน่วยงานของกัมพูชาทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ 

 

อังคณากล่าวว่า “เรื่องนี้รัฐบาลเงียบมาก เงียบจนน่าตกใจ เพราะในช่วงที่วันเฉลิมหายตัวไปใหม่ๆ ก็มีแฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม ออกมาทางทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก รวมไปถึงคลิปในเหตุการณ์และประจักษ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์ ซึ่งในฐานะที่วันเฉลิมเป็นพลเมืองไทยคนหนึ่ง อย่างน้อยๆ รัฐบาลไทยต้องประสานความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศได้

 

“คือที่บอกว่ามันช้าและเงียบจนน่าตกใจ เนื่องจากว่าการบังคับสูญหายในแต่ละชั่วโมง แต่ละนาที มันมีความหมาย และมีความหมายต่อความหวังของญาติและครอบครัว ยิ่งปล่อยให้เวลานานออกไป มันจะทำให้ความหวังนั้นลดลง

 

“เรื่องนี้ทางตำรวจไทยและตำรวจจากพนมเปญก็สามารถทำงานด้วยกันได้ ประสานงานได้ตลอดเวลา ฉะนั้นเรื่องอยู่ที่ว่าเราได้ทำอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง เต็มใจแค่ไหน ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็จะต้องตกเป็นจำเลยอยู่อย่างนี้ และเรื่องนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นการกระทำหรือรู้เห็นเป็นใจของรัฐ ถ้าเรายังไม่มีข้อเท็จจริงมากกว่านี้”

 

นอกจากนี้เมื่อลองเจาะลึกลงในประเด็นหรือสาเหตุที่อาจนำมาสู่การบังคับให้สูญหายของวันเฉลิม อังคณามองว่าประการแรกที่สังเกตได้คือวันเฉลิมถูกเจาะจงบังคับให้สูญหายอย่างแน่นอน แต่คำถามต่อมาคือใครคือผู้กระทำ เรื่องนี้ต้องอยู่ที่ผลการสืบสวนสอบสวน และไม่ว่าใครจะเป็นคนทำก็ถือเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องสืบสวนและติดตามอยู่แล้ว

 

อีกทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงว่าจะให้ความสำคัญกับการยุติการบังคับสูญหาย โดยมีการร่างกฎหมายต่างๆ ผนวกกับพลังและกระแสบนสื่อโซเชียลของไทยที่ต้องการให้คุ้มครองผู้สูญหาย เพราะฉะนั้นทางรัฐบาลไทยต้องรีบเร่งประสานงานเพื่อแจ้งให้กับครอบครัวและสังคมได้ทราบ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในประเด็นของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่เริ่มมีการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นจริงเป็นจังจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเรื่องต่อต้านการบังคับบุคคลสูญหายได้จริงหรือไม่ อังคณากล่าวว่าเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานอย่าง ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ ก็มีข่าวใหญ่ไม่แพ้กัน แต่สุดท้ายกลับเงียบหายไป รวมถึงกรณี ‘สยาม ธีรวุฒิ’ ก็เริ่มจากการเป็นข่าวและเงียบหายไปโดยไร้การตรวจสอบ และหากมองจากประสบการณ์ส่วนตัว คิดว่ากรณีที่เกิดกับวันเฉลิม โดยเฉพาะเมื่อมีพลังจากสังคมที่เกิดขึ้น มันคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสังคมเองก็เริ่มรู้สึกไม่อยากให้เงียบไปเหมือนเดิม ซึ่งหลายคนก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นอีก

 

ในช่วงท้ายของรายการ อังคณาได้พูดถึงเรื่องของกฎหมายในการป้องกันและยุติการบังคับสูญหาย ระบุว่าเรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับความเต็มใจของรัฐบาล และการเป็นส่วนของภาคีไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายก็ได้ หากแต่ประเทศควรจะรีบแจ้งลงสัตยาบันอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ เพื่ออย่างน้อยให้ประเทศไทยมีหลักประกันในการทำให้ประชาชนได้สบายใจในระดับหนึ่ง เพราะเรื่องของกฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะต้องรออีกนานแค่ไหนจึงจะเกิดขึ้นจริง

 

“เรื่องที่กฎหมายติดขัดเป็นเพราะนิยามของตัวเจ้าหน้าที่เองที่ทำให้เกิดความกังวล อย่างในช่วงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ไม่รู้ว่าสมาชิกส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกษียณ เป็นทหาร หรือตำรวจหรือไม่ จึงมีความกังวลในกฎหมาย แต่จริงๆ แล้วกฎหมายจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ไม่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่บางคนลุแก่อำนาจและกระทำผิดต่อกฎหมายหรือละเมิดต่อกฎหมายเอง อีกทั้งยังทำให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ระมัดระวังเอง และไม่กระทำการอะไรก็ตามที่อยู่นอกกฎหมาย 

 

“การบังคับสูญหายมันกลายเป็นประเด็นที่จะต้องร่วมกันหามาตรการป้องกันและหาความจริง ก็หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนที่ทำให้สังคมออกมาตระหนัก ซึ่งดีใจที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่มาแสดงออกมากขึ้น ต่างจาก 15 ปีที่แล้วที่ทุกคนกลัวที่จะพูด กลัวที่จะให้ข้อมูล แต่วันนี้เป็นอะไรที่ความเงียบได้ถูกทำลายลงไปแล้ว ทำให้เห็นภาพทุกคนออกมาส่งเสียงและยืนเคียงข้างกัน เราไม่ได้จะบอกว่าใครผิดใครถูก เราแค่จะบอกว่ามันเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องค้นหาในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยคนหนึ่ง” อังคณากล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising