วันนี้ (8 มิถุนายน) ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย วิทยา ยาม่วง ประธานกรรมการและคณะกรรมการบริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ร่วมแถลงข่าวการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
ศักดิ์สยามกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เห็นชอบหลักการการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. โดยมีกรอบการดำเนินการครอบคลุมทั้งการจัดหารถโดยสารปรับอากาศ การลดภาระต้นทุนในการดูแล การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ การปรับปรุงเส้นทางเดินรถไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน การเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า เรือ เป็นต้น การพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจ โดยดึงภาคเอกชนร่วมลงทุน โดยมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ และการบริหารจัดการหนี้อย่างละเอียด ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. มีเป้าหมาย ดังนี้
- เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
1.1 การจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) รถใหม่ปัจจุบันจัดเก็บ 15–20–25 บาทต่อคนต่อเที่ยว
1.2 การออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเติมเงินปกติ 30 บาทต่อคนต่อวัน บัตรผู้สูงอายุ 15 บาทต่อคนต่อวัน (ลด 50%) บัตรรายเที่ยว 15 บาทต่อเที่ยว บัตรรายเดือน (นักเรียน นักศึกษา 630 บาทต่อเดือน 21 บาทต่อวัน) บุคคลทั่วไป 720 บาทต่อเดือน 24 บาทต่อวัน
- เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด
2.1 เส้นทางเดินรถที่ไม่ทับซ้อน จำนวน 108 เส้นทางของ ขสมก. จำนวน 54 เส้นทาง ของเอกชน
2.2 บัสเลน จัดช่องทางการเดินรถเฉพาะรถโดยสารประจำทาง กำหนดเส้นทางที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพตั้งแต่ 6 ช่องจราจรขึ้นไป
2.3 ความถี่ในการปล่อยรถ โดยเฉลี่ย 5–10 นาทีต่อเที่ยว
- เพื่อลดมลภาวะและส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย ใช้รถ NGV และรถ EV ที่ประกอบในประเทศไทย มีสัดส่วนของมูลค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ในประเทศไทยทั้งหมด และเป็นรถชานต่ำที่เป็น Universal Design และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนของ ขสมก. อย่างยั่งยืน EBITDA เป็นบวกในปี 2572 (จากการดำเนินงาน) ปัจจุบัน รถ : พนักงาน = 1 : 4.65 ลดลงเป็น 1 : 2.75
- เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อภาครัฐ โดย ขสมก. จะขอรับเงินสนับสนุน (PSO) ระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2565–2571 รวมเป็นเงินประมาณ 9,674 ล้านบาท และตั้งแต่ พ.ศ. 2572 จะมีผลการดำเนินงานเพียงพอกับรายจ่าย (EBITDA ไม่ติดลบ) ซึ่ง ขสมก. สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระต่อภาครัฐในอนาคต
สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจ จะดำเนินการพัฒนาพื้นที่อู่บางเขน เนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 93 ตารางวา และอู่มีนบุรี เนื้อที่ 10 ไร่ 28 ตารางวา
ทั้งนี้ การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ยึดหลักการสำคัญ โดยมุ่งเน้นประชาชนเป็นหลัก ลดภาระค่าครองชีพและสร้างความพึงพอใจในการใช้บริการ สามารถบริหารจัดการภาระหนี้สินได้ บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด เชื่อมโยงระบบคมนาคมทั้งรถ ราง เรือ และสร้างความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนมากยิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล