เสียงเฮลิคอปเตอร์บินวนอยู่รอบโคเรียทาวน์ในนครลอสแอนเจลิสเป็นเวลา 2 ชั่วโมงในคืนวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ข้อมูลจากทวิตเตอร์และแอปพลิเคชันซิติเซน ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันแจ้งเหตุอาชญากรรมในเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯ รายงานว่า มีรถตำรวจจำนวนมากจอดเรียงรายอยู่บริเวณถนนที่ถัดจากอพาร์ตเมนต์ของผู้เขียนไปเพียงแค่ 2 บล็อก พร้อมกับมีกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) พูดคุยผ่านวิทยุสื่อสารกันอย่างขวักไขว่
ท่ามกลางความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการปล้นร้านค้าติดต่อกันเป็นเวลาหลายคืน ความวิตกกังวลของคนในละแวกนี้ยิ่งหนักหนาเป็นทวีคูณเมื่อโคเรียทาวน์คือพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในนครลอสแอนเจลิส
เมื่อแอลเอลุกเป็นไฟในปี 1992
การต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อชาวแอฟริกัน-อเมริกันจนลุกลามกลายเป็นจลาจลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนครลอสแอนเจลิส ย้อนกลับไปเมื่อปี 1992 ก็มีเหตุจลาจลคล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
ต้นเหตุของความโกรธแค้นจนนำไปสู่การประท้วงและจลาจลนั้นมีที่มาที่ไปที่แทบไม่แตกต่างจากในปัจจุบัน ในเดือนมีนาคม 1991 ตำรวจนครลอสแอนเจลิสขับรถไล่ตามรถคันหนึ่งซึ่งขับขี่ด้วยความเร็วสูง คนขับรถดังกล่าวมีชื่อว่า รอดนีย์ คิง ซึ่งมีอาการมึนเมาในขณะถูกจับกุม
นี่คงเป็นเพียงการควบคุมตัวผู้ทำความผิดจากการขับขี่โดยประมาทธรรมดา หากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ใช้ไม้กระบองฟาดและเตะคิงเป็นเวลาถึง 15 นาที การใช้ความรุนแรงดังกล่าวทำให้คิงกระดูกหัก ฟันหัก และสมองได้รับการกระทบกระเทือน โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นถูกบันทึกได้จากคนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งบังเอิญมีกล้องวิดีโอ (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่กล้องวิดีโอตัวเล็กๆ หรือโทรศัพท์มือถือที่ใช้บันทึกภาพในทุกวันนี้)
ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ตำรวจทั้ง 4 นายที่ร่วมจับกุมคิงถูกตั้งข้อหาใช้กำลังเกินความจำเป็น แต่ 1 ปีหลังจากนั้นในวันที่ 29 เมษายน 1992 คณะลูกขุนซึ่งประกอบด้วยคนขาว 9 คน คนลาติโน 1 คน ลูกครึ่งอีก 1 คน และคนเอเชียอีก 1 คน กลับลงมติว่าตำรวจทั้ง 4 นายไม่มีความผิด
ความโกรธแค้นจากการตัดสินให้ตำรวจทั้ง 4 นายไม่มีความผิดก่อให้เกิดจลาจลขึ้นทางตอนใต้ของลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นย่านที่มีคนผิวสีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้ประท้วงจุดไฟเผาอาคารในบริเวณดังกล่าว ปล้นร้านค้าและร้านอาหารภายในบริเวณใกล้เคียง คนขาวและคนละตินที่มีผิวขาวที่ขับรถสัญจรไปมานั้นกลายเป็นเป้าทางอารมณ์ของผู้ประท้วงที่โกรธแค้นคำตัดสิน บางคนถูกดึงออกจากรถมาทำร้าย
ไม่นาน ทอม แบรดลีย์ นายกเทศมนตรีซึ่งเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกของลอสแอนเจลิส (ซึ่งหากใครเคยเดินทางมาเที่ยวแอลเอจะเห็นว่าเทอร์มินัลนานาชาติของแอลเอใช้ชื่อว่า ทอม แบรดลีย์) ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศเคอร์ฟิว และขออนุมัติใช้ National Guard ในการควบคุมสถานการณ์
อย่างไรก็ดี เนื่องจากตำรวจประจำนครลอสแอนเจลิสไม่เคยได้รับการฝึกฝนให้รับมือกับจลาจล ทำให้ตลอดทั้งคืนวันที่ 29 เมษายนมีการปล้นร้านค้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแม้จะมีตำรวจเข้าสังเกตการณ์ในบริเวณที่เกิดจลาจล แต่ก็ไม่ได้ห้ามปรามหรือจับกุมผู้ก่อจลาจลแต่อย่างใด พูดง่ายๆ ก็คือตำรวจไม่ทำอะไรเลยกับจลาจลในครั้งนั้น จนกระทั่ง National Guard และทหารเข้าช่วยควบคุมสถานการณ์ในวันต่อๆ ไป
ธุรกิจชาวเกาหลีคือเป้าหมายในการปล้น
ธุรกิจของชาวเกาหลีคือเป้าหมายในการก่อจลาจลและการปล้นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของผู้ที่โกรธแค้นระบบยุติธรรมของสหรัฐฯ ร้านค้ามากมายของชาวเกาหลีในย่านโคเรียทาวน์ถูกทุบทำลาย ทรัพย์สินถูกขโมยจากร้านไปจนหมด ไม่เว้นแม้แต่เสื้อผ้าที่ลูกค้าส่งมาซักในร้านซักรีด อันเป็นธุรกิจที่ได้ชื่อว่าครอบครองโดยชาวเกาหลี
สาเหตุที่ธุรกิจของชาวเกาหลีกลายมาเป็นเป้าหมายของการโจมตีที่สำคัญเป็นเพราะในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ รอดนีย์ คิง ถูกจับกุมโดยใช้ความรุนแรง เด็กหญิงชาวแอฟริกัน-อเมริกัน อายุ 15 ปี ถูกเจ้าของร้านสะดวกซื้อชาวเกาหลียิงจนเสียชีวิตภายในร้าน เพราะเชื่อว่าเธอกำลังจะขโมยของ ซึ่งมาพบภายหลังว่าเด็กคนดังกล่าวเพียงจะหยิบเงินขึ้นมาจ่ายเท่านั้น
ต่อมาเจ้าของร้านชาวเกาหลีได้รับความผิดเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ และเสียค่าปรับเพียง 500 ดอลลาร์ ยิ่งทำให้ชาวแอฟริกัน-อเมริกันรู้สึกว่าระบบยุติธรรมไม่เคยอยู่ข้างพวกเขาเข้าไปใหญ่
แต่เพราะชาวเกาหลีก็นับเป็นคนผิวสี เป็นชนกลุ่มน้อยของที่นี่เช่นกัน ธุรกิจของชาวเกาหลีถูกปล่อยให้เป็นพื้นที่ไร้การป้องกัน เพราะตำรวจและ National Guard ต่างพากันปกป้องทรัพย์สินของคนขาว
นี่จึงเป็นที่มาที่ชาวเกาหลีในแอลเอต้องจับปืนขึ้นไปอยู่ตามหลังคาของอาคารร้านค้าบ้านเรือน คอยปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินจากคนที่เข้ามาทำลายและขโมยด้วยตัวเอง ภาพชาวเกาหลีถือปืนซุ่มยิงคนที่อาศัยช่วงชุลมุนของเหตุจลาจลเข้าขโมยของจากบนหลังคาในย่านโคเรียทาวน์ยังคงเป็นภาพในความทรงจำของคนแอลเอจนถึงทุกวันนี้ และนั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมคนที่อยู่อาศัยในย่านโคเรียทาวน์จึงเป็นกังวลหากเหตุการณ์ประท้วงจะลุกลามเข้ามาย่านประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์แห่งนี้
สถานการณ์กลับสู่ความสงบอีกครั้ง 5 วันให้หลัง ในวันที่ 3 พฤษภาคม นายกเทศมนตรีลอสแอนเจลิสประกาศยุติเคอร์ฟิว และให้ระบบบริการขนส่งของเมืองกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ในวันที่ 4 พฤษภาคม โรงเรียนและธุรกิจต่างๆ เพิ่งกลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง เท่ากับชีวิตของคนแอลเอเพิ่งกลับมาเป็นปกติหลังจากหยุดนิ่งไป 4-5 วันเต็มๆ
เหตุจลาจลในปี 1992 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 60 ราย มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 2,000 ราย มีผู้ถูกจับกุมราว 7,000 คน โดยคนที่ถูกจับกุมเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกันร้อยละ 36 และเป็นชาวละตินอีกร้อยละ 51 อาคารร้านค้าบ้านเรือนราว 1,000 แห่ง และธุรกิจของชาวเกาหลีถึงประมาณ 2,000 แห่งได้รับความเสียหาย โดยความเสียหายทั้งหมดจากเหตุจลาจลในครั้งนั้นมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เหตุจลาจล 1992 สู่ BLM 2020 อะไรเหมือน อะไรต่าง
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการประท้วงเรียกร้อง Black Lives Matter ในปีนี้มีความชุลมุนและความรุนแรงน้อยกว่าในปี 1992 อย่างชัดเจน การชุมนุมที่เกิดขึ้นในย่านต่างๆ ซึ่งโดยมากเป็นย่านที่มีสถานะทางด้านเศรษฐกิจดี เป็นไปด้วยความสงบ ไม่ว่าจะเป็นการตะโกนเรียกร้องสิทธิในคนผิวดำ การเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ การคุกเข่าประท้วงเชิงสัญลักษณ์ หรือแม้แต่การเดินประท้วงรอบเมืองก็เป็นไปโดยต้องการปะทะกับกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยให้น้อยที่สุด
อีกประการที่สำคัญคือ ผู้เข้าร่วมการประท้วงเป็นคนหลากสีผิวหลายเชื้อชาติมากกว่า เมื่อเทียบกับเหตุการณ์จลาจลเมื่อปี 1992 ซึ่งผู้ประท้วงส่วนมากเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกันและชาวละติน แต่ทั้งสองกลุ่มก็ไม่ได้ประท้วงเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างคนสีผิวที่ดีขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่การจลาจลเมื่อปี 1992
ผลสำรวจในปี 2017 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 76 เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนสีผิวต่างๆ เป็นไปอย่างดี สูงขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับร้อยละ 37 ในปี 1997 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลอสแอนเจลิสและแคลิฟอร์เนียมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติต้องมีปฏิสัมพันธ์กันในชีวิตประจำวันมากขึ้น
อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะชุมชนคนผิวสีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนผิวดำ สีน้ำตาล หรือสีเหลือง เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการมีอำนาจในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ พร้อมกับการประสานกำลังกับคนกลุ่มน้อยอื่นๆ แม้ว่าการประสานพันธมิตรข้ามสีผิวจะยังไม่สมบูรณ์เท่าใดนัก อย่างเช่นคนเอเชียที่มักถูกใช้เป็นตัวอย่างเรื่องความสำเร็จในการเลื่อนขั้นทางสังคม โดยลืมไปว่าคนผิวสีมีประวัติศาสตร์ถูกกดขี่มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ อย่างไร และถูกปิดกั้นโอกาสในการได้รับการศึกษาที่ดีอย่างไร โดยการจับขั้วเปรียบเทียบเช่นนี้ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองสีผิวมีปัญหากันอยู่บ่อยครั้ง
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับประชาชนก็ถือว่าดีกว่าในปี 1992 มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ภายหลังจากการแพร่ภาพตำรวจทำร้าย รอดนีย์ คิง ทอม แบรดลีย์ นายกเทศมนตรีลอสแอนเจลิสในขณะนั้นก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการทำงานของตำรวจทันที โดยผลการสอบสวนพบว่า ตำรวจในลอสแอนเจลิสใช้ความรุนแรงเกินขนาดกับประชาชนมาโดยตลอด และตำรวจที่ใช้ความรุนแรงก็ไม่เคยถูกสอบสวนหรือลงโทษใดๆ ข้อค้นพบเหล่านี้นำมาสู่ความพยายามของนายกเทศมนตรีหลายต่อหลายคนที่พยายามปฏิรูปตำรวจในนครลอสแอนเจลิส
ล่าสุด เอริก การ์เซ็ตติ นายกเทศมนตรีแอลเอคนปัจจุบัน ก็เพิ่งประกาศจะไม่เพิ่มงบประมาณให้กับกรมตำรวจของลอสแอนเจลิส แต่จะเอางบประมาณดังกล่าวไปลงทุนในชุมชนชาวแอฟริกัน-อเมริกันและคนผิวสีอื่นๆ นอกจากนี้ยังจะตัดลดงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปลงทุนในการสร้างงานและการศึกษา และตั้งกระทรวงสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชน และสำนักงานความเท่าเทียมกันทางสีผิวภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าการไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างตำรวจกับประชาชนจะดีขึ้นอย่างสมบูรณ์ และไม่ได้แปลว่าการเหยียดผิวจะหายไปอย่างเด็ดขาดในลอสแอนเจลิส แม้แต่ในแคลิฟอร์เนียที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนสีผิวต่างๆ ดีที่สุดในประเทศ คนผิวดำและคนละตินก็ยังคงรู้สึกได้ว่าพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด
และยิ่งเมื่อสีผิวเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงนับตั้งแต่ บารัก โอบามา ได้รับการเลือกตั้งเรื่อยมาจนถึงเมื่อทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ประกอบกับเทคโนโลยีการอัดวิดีโอมือถือที่ทำให้สามารถอัดภาพการเลือกปฏิบัติของตำรวจต่อคนผิวสีก็ทำให้ความอยุติธรรมปรากฏได้ง่ายขึ้น จนถึงขนาดที่ผลสำรวจในลอสแอนเจลิสปี 2017 พบว่า ประชาชนเชื่อว่าจลาจลแบบในปี 1992 จะเกิดขึ้นอีกครั้ง
และมันก็เกิดขึ้นจริง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
1 ดู Anjuly Sastry and Karen Grigsby Bates, “When LA Erupted In Anger: A Look Back At The Rodney King Riots,” NPR, April 26, 2017, https://www.npr.org/2017/04/26/524744989/when-la-erupted-in-anger-a-look-back-at-the-rodney-king-riots. และ Los Angeles Times Staff, “The L.A. Riots: 25 Years Later,” Los Angeles Times, April 26, 2017, https://timelines.latimes.com/los-angeles-riots/.
2 Victoria Kim and Melissa Etehad, “For First Time, More L.A. Residents Believe New Riots Likely, New Poll Finds,” Los Angeles Times, April 26, 2017, https://www.latimes.com/local/lanow/la-me-riot-poll-20170426-story.html.
3 Kyung Lah, “The LA Riots Were a Rude Awakening for Korean-Americans,” CNN, April 29, 2017, https://www.cnn.com/2017/04/28/us/la-riots-korean-americans/index.html.
4 Kat Chow, “‘Model Minority’ Myth Again Used As A Racial Wedge Between Asians And Blacks,” NPR, April 19, 2017, https://www.npr.org/sections/codeswitch/2017/04/19/524571669/model-minority-myth-again-used-as-a-racial-wedge-between-asians-and-blacks?fbclid=IwAR0x5tlPSpzHzgaD9Mu6UNhVZmPimR2dOBmdu51IXQyUoXCysh7pt64_Cqc.
5 ดู Michael Finnegan, “Poll: Race Relations in California Better than Elsewhere in U.S., Voters Say,” Los Angeles Times, April 13, 2015, https://www.latimes.com/local/politics/la-me-pol-race-poll-20150413-story.html. และ Michael Finnegan, “Poll: Voters Mostly Approve of Police, but Views Split along Racial Lines,” Los Angeles Times, September 13, 2014, https://www.latimes.com/local/politics/la-me-pol-poll-police-20140914-story.html.
6 Victoria Kim and Melissa Etehad, “For First Time, More L.A. Residents Believe New Riots Likely, New Poll Finds.”