×

The Last Dance (2020) ตำนานสมเด็จไมเคิล จอร์แดนมหาราช

03.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • โดยแก่นแล้ว The Last Dance บอกเล่าเรื่องที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งของฮอลลีวูด และว่าไปแล้ว ผู้ชมก็ไม่เคยเบื่อหน่ายหรือรู้สึกอิ่มกับเรื่องประเภทนี้ นั่นคือ หนังที่เดินตามสูตรการเล่าเรื่องที่เรียกว่า Success Formula ซึ่งมักจะมีเนื้อหาที่ว่าด้วยการไต่เต้าและฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ เพื่อให้ไปถึงจุดสูงสุดของความสำเร็จในแง่มุมหนึ่ง
  • หนังบรรยายถึงความเป็นเอตทัคคะของ ไมเคิล จอร์แดน และสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตของ ‘MJ’ ก็กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดี ทั้งเรื่องการดิ้นรนกระเสือกกระสน ความสำเร็จและล้มเหลว เหตุการณ์ไม่คาดฝัน รวมทั้งกรณีอื้อฉาว 
  • ขณะที่สังเกตได้ไม่ยากว่า คนทำหนังพยายามนำเสนอภาพของ ไมเคิล จอร์แดน อย่างระมัดระวัง ในแง่ที่ไม่ทำให้เขากลายเป็นเทวดา และมีด้านมืดในแบบฉบับของตัวเอง (ทั้งความเป็นคนที่หมกมุ่นกับการเอาชนะทุกเรื่อง เล่นการพนัน ปากเสีย พูดจาข่มเหง หรือแม้กระทั่งชกต่อยเพื่อนร่วมทีม) แต่ดูเหมือนว่านั่นก็ยังคงไม่มากพอที่จะทำให้คนดูไม่แอบสงสัยว่า ผู้สร้างมีอิสระมากน้อยแค่ไหนในการนำเสนอความจริงอย่างรอบด้าน        

 

ตามเนื้อผ้า หนังสารคดีชุด (Docuseries) ความยาว 10 ตอน เรื่อง The Last Dance ผลงานกำกับของ เจสัน แฮร์ ซึ่งสตรีมผ่านช่อง ESPN และ Netflix กลางเดือนเมษายนจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านพ้นไป นั้นพูดถึงชีวประวัติของ ไมเคิล จอร์แดน กับความสำเร็จที่ท่วมท้นล้นทะลักในฐานะซูเปอร์สตาร์และตำนานนักบาสเกตบอล NBA ในช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของทศวรรษ 1990 หรือบ้างก็เรียกว่าเป็นยุคสมัยที่ทีมชิคาโก บูลส์ครองราชย์ (Bulls Dynasty)

 

แต่โดยแก่นแล้ว The Last Dance บอกเล่าเรื่องที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งของฮอลลีวูด และว่าไปแล้ว ผู้ชมก็ไม่เคยเบื่อหน่ายหรือรู้สึกอิ่มกับเรื่องประเภทนี้ นั่นคือ หนังที่เดินตามสูตรการเล่าเรื่องที่เรียกว่า Success Formula ซึ่งมักจะมีเนื้อหาที่ว่าด้วยการไต่เต้าและฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ เพื่อให้ไปถึงจุดสูงสุดของความสำเร็จ ในแง่มุมหนึ่ง มันเฉลิมฉลองอุดมการณ์แบบที่เรียกว่าความฝันแบบอเมริกัน และมันอาจจะจัดให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกับหนังเรื่อง Rocky, The Pursuit of Happyness หรือหนังท่ีมืดหม่นสักหน่อยอย่างเรื่อง The Social Network และโดยเฉพาะ Ford v Ferrari

 

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่นับเป็นความชาญฉลาดของคนทำหนัง ได้แก่ วิธีการที่ผู้สร้างวางปมเรื่องอันเป็นที่มาของชื่อซีรีส์ The Last Dance นั่นเอง พูดง่ายๆ แทนที่หนังจะเดินเรื่องตามลำดับเวลา ซึ่งก็น่าเชื่อว่าคงจะสูญเสียรสชาติอันแสนเอร็ดอร่อยไปเยอะทีเดียว Premise หรือเงื่อนไขเริ่มต้น ได้แก่ การสถาปนาข้อมูลสำคัญให้ผู้ชมได้รับรู้รับทราบโดยทั่วกัน นั่นคือ หลังจากทีมชิคาโก บูลส์ครองแชมป์ NBA  5 สมัย ในรอบ 7 ปี และมุ่งหน้าสู่การเป็นแชมป์ครั้งที่ 6 ในปี 1998 (และจะเป็นการชนะ 3 ครั้งรวดหรือที่เรียกว่า Three-Peat รอบที่สอง) แต่สถานการณ์กลับไม่สะดวกโยธินเหมือนเดิม เนื่องเพราะฝ่ายบริหาร อันได้แก่ เจอร์รี ไรน์สดอร์ฟ เจ้าของทีม และ เจอร์รี เคราส์ ผู้จัดการทั่วไป มองว่า ผู้เล่นหลายคนผ่านพ้นจุดพีกของตัวเองไปแล้ว และภารกิจเร่งด่วนของพวกเขาอาจจะไม่ใช่การครองแชมป์ NBA แต่คือการผ่าตัดครั้งมโหฬาร เพื่อสร้างทีมใหม่ที่จะมาสานต่อความสำเร็จและความยิ่งใหญ่ในภายภาคหน้า

 

หมายความโดยอ้อมว่า ยกเว้น ไมเคิล จอร์แดน ซึ่งนอกเหนือจากพรสวรรค์อันล้ำเลิศของเขาแล้ว มูลค่าในทางการตลาดก็สูงลิบลิ่ว และเป็นบุคคลที่ไม่อาจแตะต้อง ส่วนคนอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ทดแทนได้ โยกย้ายได้หมด นั่นรวมถึง ฟิล แจ็กสัน หัวหน้าโค้ชผู้ซึ่งเปรียบเสมือนมันสมองของทีม มิหนำซ้ำความระหองระแหงระหว่างเขากับเคราส์ ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารที่สั่งสมมาพอสมควร ก็นำพาให้ฝ่ายหลังกล่าวประโยคที่เหมือนกับเป็นการยื่นคำขาด และสร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งวงการ เคราส์พูดว่า เขาไม่แคร์ว่า ฟิล แจ็กสัน จะพาทีมชนะรวดทั้ง 82 นัด (และครองแชมป์ NBA) เพราะถึงอย่างไรเสีย นี่ก็จะเป็นฤดูกาลสั่งลา

 

 

ปฏิกิริยาลูกโซ่คือ การที่ ไมเคิล จอร์แดน ออกมาให้สัมภาษณ์ตรงๆ ว่า ถ้า ฟิล แจ็กสัน ไม่อยู่ เขาก็จะไม่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบูรณปฏิสังขรณ์ทีมอีกต่อไปโดยอัตโนมัติ นั่นทำให้ไม่ว่าบูลส์จะแพ้หรือชนะ มันก็จะเป็น ‘การเริงระบำครั้งสุดท้าย’ ซึ่งในเวลาต่อมา กลายเป็นชื่อแคมเปญที่ ฟิล แจ็กสัน ใช้ในการทำทีมสำหรับการแข่งขันฤดูกาล 1997/98

 

แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ การงัดข้อระหว่าง ฟิล แจ็กสัน กับ เจอร์รี เคราส์ ถือเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อคำนึงว่าปมขัดแย้งหลักจริงๆ ของ The Last Dance เป็นเรื่องคลาสสิกมากๆ นั่นคือ ศิลปะกับธุรกิจ มนุษย์นิยมกับทุนนิยม หนังถึงกับอ้างประโยคหนึ่งของ เจอร์รี เคราส์ ที่เปรียบเสมือนการเทน้ำมันลงบนกองเพลิง และนั่นคือการให้สัมภาษณ์นักข่าวด้วยการพูดถึงความสำเร็จของทีมชิคาโก บูลส์ ทำนองว่า ‘ลำพังผู้เล่นและโค้ชไม่ได้ช่วยทีมชนะเลิศ แต่องค์กรโดยรวมต่างหาก’ และอย่างที่ใครคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต ประโยคนี้ของเคราส์เหมือนกับต้องการพุ่งเป้าไปที่ ฟิล แจ็กสัน โดยตรง

 

ไม่มากไม่น้อย ขณะที่ผู้ชมแยกแยะได้ไม่ยากว่าพวกเราควรจะมองคาแรกเตอร์ไหนด้วยสายตาแบบใด เจอร์รี เคราส์ จะเป็นใครไม่ได้นอกจาก ดาร์ธ เวเดอร์ หรือโปรเฟสเซอร์สเนป และก็อย่างที่มักจะพูดกันว่า ความสำเร็จหรือล้มเหลวของหนังเรื่องหนึ่งๆ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของตัวร้าย หากใครลองสังเกตกลวิธีที่คนทำหนังนำเสนอตัวละครนี้ในตอนแรก มันก็สะท้อนแง่มุมที่ไม่เป็นมิตรอย่างเป็นระบบทีเดียว ทั้งการเลือกภาพของเคราส์ในระยะใกล้มากๆ บุคลิกลักษณะของตัวละครที่พ่วงพีและอุ้ยอ้าย ซึ่งสวมทับพอดิบพอดีกับภาพลักษณ์ของนักธุรกิจจอมละโมบอย่างที่เรามักจะพบเห็นในหนังนับไม่ถ้วน การออกมาให้สัมภาษณ์อย่างแข็งกร้าวในฐานะตัวแทนของ ‘จักรวรรดิ’ และเหนืออื่นใด วิธีการที่เขาลดทอนความสำคัญ ตลอดจนคุณค่าและมูลค่าของผู้เล่นคนอื่นๆ โดยเฉพาะ สก็อตตี้ พิปเพน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในตอนสอง

 

 

แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า เบื้องหลัง ดาร์ธ เวเดอร์ ยังมีจักรพรรดิพัลพาไทน์ หรือเหนือกว่า โปรเฟสเซอร์สเนป ก็ยังมี ลอร์ด โวลเดอมอร์ จนแล้วจนรอด บทบาทของ เจอร์รี เคราส์ นั้นเป็นเพียงคนที่คอยตามล้างตามเช็ดให้ ‘เบื้องบน’ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์แบบหล่อๆ และน่าเชื่อว่าจวบจนถึงตอนสุดท้าย ผู้ชมน่าจะประเมินตัวละครนี้ด้วยมุมมองที่ไม่เหมือนเดิม

 

แต่ก็อย่างที่กล่าวข้างต้น The Last Dance เป็นหนังสารคดีที่บรรยายถึงความเป็นเอตทัคคะของ ไมเคิล จอร์แดน และสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตของ ‘MJ’ ก็กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดี ทั้งเรื่องการดิ้นรนกระเสือกกระสน ความสำเร็จและล้มเหลว เหตุการณ์ไม่คาดฝัน กรณีอื้อฉาว และขณะที่สังเกตได้ไม่ยากว่าคนทำหนังพยายามนำเสนอภาพของ ไมเคิล จอร์แดน อย่างระมัดระวัง ในแง่ที่ไม่ทำให้เขากลายเป็นเทวดา และมีด้านมืดในแบบฉบับของตัวเอง (ทั้งความเป็นคนที่หมกมุ่นกับการเอาชนะทุกเรื่อง เล่นการพนัน ปากเสีย พูดจาข่มเหง หรือแม้กระทั่งชกต่อยเพื่อนร่วมทีม) แต่ดูเหมือนว่านั่นก็ยังคงไม่มากพอที่จะทำให้คนดูไม่แอบสงสัยว่า ผู้สร้างมีอิสระมากน้อยแค่ไหนในการนำเสนอความจริงอย่างรอบด้าน        

 

เงื่อนงำที่ชักชวนให้คิดอย่างนั้น ได้แก่ วิธีการที่คนทำหนังยื่นแท็บเล็ตคำสัมภาษณ์ของคนรอบข้างให้จอร์แดน นัยว่า เพื่อเปิดช่องให้เขาได้แก้ต่างข้อกล่าวหา หนึ่งในนั้น ได้แก่ ความบาดหมางระหว่างเขากับ อิไซยาห์ โธมัส ที่ร่ำลือกันว่า จอร์แดนใช้อิทธิพลส่วนตัวกีดกันไม่ให้ฝ่ายหลังได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้เล่นชุดดรีมทีมโอลิมปิกปี 1992 ซึ่งเจ้าตัวก็ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง (ตอนที่ 5) หรืออีกครั้งหนึ่งที่ บี.เจ. อาร์มสตรอง อดีตเพื่อนร่วมทีม บอกว่า จอร์แดนไม่ใช่บุคคลที่มีอุปนิสัยน่าคบหาแต่อย่างใด (ตอนที่ 7) หนังของ เจสัน แฮร์ ก็เหมือนเปิดโอกาสให้จอร์แดนได้อธิบายตัวเอง และเขาก็พาตัวเองออกจากมุมอับนี้ได้อย่างสวยสดงดงาม แต่ก็นั่นแหละ การที่ ไมเคิล จอร์แดน ได้เป็นคนพูดหลังสุดแทบทุกครั้ง ไม่เพียงส่งผลให้ความเป็นหนังสารคดีที่นำเสนอข้อเท็จจริงจากหลายๆ ด้าน เพื่อให้ผู้ชมได้วินิจฉัยเอาเองถูกประนีประนอม แต่ยังทำให้ตัวสารคดีโน้มเอียงไปในทิศทางของการเป็นหนังส่งเสริมภาพลักษณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

ไม่ว่าจะอย่างไร ความท้าทายใหญ่หลวงของ เจสัน แฮร์ ในแง่ของการนำเสนอ ได้แก่ การที่เขาไม่ได้เพียงแค่ทำหนังสารคดีที่ถูกออกแบบตัดเย็บอย่างพอเหมาะพอเจาะสำหรับแฟนเดนตายของ NBA เพียงอย่างเดียว หากรวมถึงขาจรที่ไม่ได้เกาะติดความเคลื่อนไหวเกมยัดห่วงอย่างเหนียวแน่นด้วย ผู้ชมถึงกับได้ยิน ไมเคิล จอร์แดน, สก็อตตี้ พิปเพน และ เดนนิส ร็อดแมน เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวเองทำนองว่า แต่ละคนชื่อเรียงเสียงไรและมาจากไหน

 

แต่นั่นก็เป็นเรื่องปลีกย่อยเมื่อคำนึงว่าแท็กติกในการเดินเรื่อง ได้แก่ การสลับกลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นในฤดูกาล 1997/98 ซึ่งเป็นโครงหลักและเป็นช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนยุ่งเหยิง (ทั้งเรื่องความไม่ลงรอยของฝ่ายบริหาร ความน้อยเนื้อต่ำใจของผู้เล่น การต้องแบกรับความกดดันแต่เพียงผู้เดียวของ ไมเคิล จอร์แดน) กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นโครงรอง (เช่น ภูมิหลังของตัวละครสำคัญแต่ละคน การล้มลุกคลุกคลานของทีม การรีไทร์ตัวเองของจอร์แดนเพื่อไปเล่นเบสบอล ฯลฯ)

 

 

หรืออีกนัยหนึ่ง ส่วนที่เรียกว่าเป็นแฟลชแบ็กของหนังสารคดี ทำหน้าที่เสมือนเป็น Backstory หรือการอารัมภบท ปูพื้น และเตรียมความพร้อมให้กับผู้ชมที่อาจจะไม่รับรู้เบื้องหน้าเบื้องหลังมากพอ และช่วยย้ำเตือนสำหรับผู้ชมที่อาจจะหลงลืม ซึ่งมันส่งผลให้กลไกดราม่าของหนังเมื่อบรรลุไปถึงตอนจบ ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

และแน่นอนว่า สิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธคือ อัจฉริยภาพของ ไมเคิล จอร์แดน ที่ได้รับการบอกเล่าผ่านแมตช์การแข่งขันนัดสำคัญครั้งแล้วครั้งเล่า การได้เห็นลีลาอันพลิ้วไหว ความแม่นยำและเฉียบคมในการทำแต้มทั้งจากระยะใกล้และไกล นำพาให้เหตุการณ์ที่ปรากฏเบื้องหน้าผู้ชมไม่ได้เป็นแค่การแข่งขันบาสเกตบอลอีกต่อไป แต่มันเป็นเสมือนการเฝ้ามองศิลปินเอกสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชั้นเลิศ และอีกสองอย่างที่ไม่เอ่ยถึงคงไม่ครบถ้วน รวมถึงต้องปรบมือให้กับผู้สร้างอย่างกึกก้อง หนึ่ง คือการจัดการกับจำนวนฟุตเทจอันมหาศาลได้อย่างน่าทึ่งจริงๆ เรียกได้ว่าเวลาที่หนังพาดพิงถึงเรื่องอะไร ผู้ชมก็จะได้เห็นภาพเหตุการณ์นั้นทันท่วงที และสอง คำให้สัมภาษณ์ของใครต่อใคร (ซึ่งนับรวมได้ถึง 90 คน สองในนั้นคืออดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ที่ช่วยทำให้ภาพเคลื่อนไหวเหล่านั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่าตื้นลึกหนาบาง

 

 

หนึ่งในคำถามโลกแตกเกี่ยวกับ ไมเคิล จอร์แดน (จริงๆ แล้วต้องรวมถึงซูเปอร์สตาร์คนอื่นๆ ด้วย) ได้แก่ ข้อสงสัยที่ไม่ค่อยเป็นแก่นสารของแฟนๆ ทำนองว่า ใครเหนือกว่าใครหากต้องเจอกันแบบตัวต่อตัว ระหว่างเขากับ โคบี ไบรอันต์ ผู้ล่วงลับ หรือระหว่างเขากับ เลอบรอน เจมส์ ผู้ซึ่งกำลังตั้งหน้าตั้งตาทำลายสถิติของ NBA เป็นว่าเล่น

 

ว่าไปแล้ว คำถามดังกล่าวก็เพียงเพื่อเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านได้อภิปรายโต้เถียงตามเหตุผลของตัวเอง เพราะไม่มีทางที่ใครจะล่วงรู้คำตอบจริงๆ จังๆ แต่อย่างหนึ่งที่พูดได้แน่ๆ ก็คือ แต่ละคนล้วนยอดเยี่ยมและยิ่งใหญ่ในช่วงเวลาของตัวเอง และหนังสารคดีเรื่อง The Last Dance ก็เป็นประจักษ์พยานที่แน่นหนา คมชัด และรัดกุมที่สุด ว่าในช่วงทศวรรษ 1990 ไมเคิล จอร์แดน คือ King of the World หรือราชาของโลกใบนี้อย่างแท้จริง

 

The Last Dance (2020)

กำกับ: เจสัน แฮร์

ผู้ให้สัมภาษณ์: ไมเคิล จอร์แดน, ฟิล แจ็กสัน, สก็อตตี้ พิปเพน, เดนนิส ร็อดแมน ฯลฯ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X