×

คลิปสปอยล์หนัง คัลเจอร์ใหม่แห่งการชมภาพยนตร์แบบฝากเพื่อนเล่าให้ฟัง

01.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • คลิปสปอยล์หนังคือการที่คนคนหนึ่งออกมาเล่าให้ฟังเลยว่า หนังเรื่องนี้เริ่มต้นอย่างไร ฉากต่อไปคืออะไร ตอนกลางเป็นอย่างไร ไคลแม็กซ์เขาทำอะไรกัน และสุดท้ายคือหนังจบลงอย่างไร ก็เล่าสลับกับภาพประกอบจากหนังไปเรื่อยๆ จนจบง่ายๆ แบบนั้นเลย ซึ่งจากจำนวนเวลา 2 ชั่วโมงของหนัง บางครั้งถูกเล่าจบใน 20 นาที 
  • สมมติว่าสปอยล์ ฮาวทูทิ้ง.. ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ ในชื่อหัวข้อ ‘อุทาหรณ์ชีวิตสาวดีไซเนอร์จบนอกพังเละเพราะรีโนเวตบ้าน’ ว่าง่ายๆ คือมันถูกทรีตจากการเป็นสปอยเลอร์ให้กลายเป็นสตอรีทั่วไป เป็นเรื่องเล่าหนึ่ง เป็นเหมือนเรื่องที่วันนี้ฉันอ่านเจอมาในหนังสือพิมพ์ ก็เลยมาเล่าให้ฟัง ผมว่านี่คือความพิเศษของคลิปสปอยเลอร์เหล่านี้ ที่ผันจุดด้อยตัวเองให้กลายเป็นสิ่งอื่นได้อย่างน่าอัศจรรย์ คือมึงทำอย่างนี้ได้ด้วยเหรอวะ

ในฐานะคนทำหนังแล้ว การสปอยล์หนังถือเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง ซีนเด็ดๆ หรือตอนจบที่เราเพียรคิดเพียรสร้างมาเป็นปีๆ ไม่ยอมบอกใครเลยมาเป็นเดือนๆ หลุดออกไปนอกโรงภาพยนตร์ในขณะที่หนังกำลังเข้าฉายวันแรก กลายเป็นสเตตัสโพสต์ประกาศศักดาของเด็กสักคน เพื่อจะบอกชาวโลกว่า ฉันดูหนังเรื่องนี้แล้ว หรือกลายเป็นเพียงมุกที่เอาไว้แกล้งชาวบ้านที่อยากดูหนังเรื่องนั้นมากๆ 

 

หลายคนยังคงจำได้ถึงความพีกของการสปอยล์หนังในโลกอินเทอร์เน็ต ที่เอาตอนจบของหนังเรื่องนั้นมาตั้งเป็นชื่อกระทู้พันทิป คือว่าง่ายๆ ต่อให้ไม่อยากรู้ มึงก็ต้องรู้ ถ้าเป็นสมัยใหม่หน่อยก็คงเป็นการที่เพจบางเพจหรือเพื่อนเราบางคนโพสต์ตอนจบของ The Avengers ไว้ในสเตตัส คนที่ยังไม่ได้ดูนั้นจะไปห้ามก็ห้ามไม่ได้ จะหลบก็หลบไม่ได้ เพราะไม่รู้มันจะโผล่มาจากไหน จนเป็นที่มาของการที่ใครอีกหลายคนต้องเลิกติดต่อสื่อสารกับโลกอินเทอร์เน็ต จนกว่าตัวเองจะได้ดูหนังที่ตัวเองอยากดูมากๆ

 

 

ตัวคนทำหนังเองจึงต้องรักษาเอกราชและปกป้องดินแดนของตัวเองให้ได้มากที่สุดก่อนหนังออกฉายจริง หลายสตูดิโอหนังมีการจับนักแสดงเซ็นสัญญาห้ามเปิดเผยความลับของหนัง ถ้าหนังมีรอบสกรีนเทสต์หรือรอบนักวิจารณ์ สื่อมวลชนบางทีก็จะต้องเซ็นสัญญาพวกนี้ด้วยเช่นกัน ในยุคที่มนุษย์ทุกคนพยายามชอนไชเพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘การรู้ก่อนใคร’ แน่นอนว่าข่าวและความลับมีค่าพอๆ กับกระเป๋าหลุยส์และเสื้อผ้าบาเลนเซียกา

 

ในขณะที่วัฒนธรรมสปอยเลอร์หนักขึ้น วัฒนธรรมการต่อต้านสปอยเลอร์ก็แรงขึ้นไม่แพ้กัน จนระยะหลังคนทำสื่อต่างๆ ก็มีความนอยด์ไม่ต่างกัน พวกบทวิจารณ์บางครั้งจะต้องขึ้นประกาศ Spoiler Alert บอกก่อนเลยว่าเนื้อหาลำดับถัดไปหรือย่อหน้าต่อไปนั้นจะมีการเปิดเผยเรื่องราวของหนัง ถ้าไม่อยากรู้ก็ให้ข้ามไปนะ ไปดูหนังมาก่อนแล้วค่อยมาอ่าน ความรุนแรง เข้มข้น เรื่องนี้ดำเนินไปจนถึงขั้นหลายคนกล่าวหาว่าคนทำคอนเทนต์ที่บอกว่าพระเอกหนังประกอบอาชีพอะไรก็ถือเป็นการสปอยล์แล้วเรียบร้อย ว่าง่ายๆ คือ ไม่อยากรู้อะไรเลยแม้แต่ 2 นาทีแรกของหนัง ด้วยความที่เราไม่ได้มีกฎหมายที่จะมากำกับขีดเส้นเรื่องการสปอยล์หนัง ผู้คนต้องกะเกณฑ์กันเองตามมารยาทว่าบอกแค่ไหนถึงจะไปสปอยล์ และห้ามคนอื่นสปอยล์แค่ไหนถึงจะดูไม่น่ารำคาญ 

 

แต่ทั้งหมดที่กล่าวถึงนั้นกลายเป็นเรื่องเก่าแก่ไปเลย เมื่อวันนี้เรามีสิ่งที่เรียกว่า คลิปสปอยล์หนัง

           

คลิปสปอยล์หนังคือการที่คนคนหนึ่งออกมาเล่าให้ฟังเลยว่าหนังเรื่องนี้เริ่มต้นอย่างไร ฉากต่อไปคืออะไร ตอนกลางเป็นอย่างไร ไคลแม็กซ์เขาทำอะไรกัน และสุดท้ายคือหนังจบลงอย่างไร ก็เล่าสลับกับภาพประกอบจากหนังไปเรื่อยๆ จนจบง่ายๆ แบบนั้นเลย ซึ่งจากจำนวนเวลา 2 ชั่วโมงของหนัง บางครั้งถูกเล่าจบใน 20 นาที 

 

แต่ความพิเศษของมันนั้น เขาไม่ได้ออกมาเล่ากันแบบตรงไปตรงมาขนาดนั้น เพราะเวลาพาดหัวชื่อคลิปของคลิปเหล่านี้ในระยะหลังๆ มันไม่ได้แปะยี่ห้อตัวเองว่าเป็นสปอยเลอร์ แต่หลายครั้งมันจะถูกเขียนเป็นเหมือนพาดหัวข่าวหรือเป็นชื่อบทความ (เช่น สมมติว่าสปอยล์ ฮาวทูทิ้ง… ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ ในชื่อหัวข้อ ‘อุทาหรณ์ชีวิตสาวดีไซเนอร์จบนอกพังเละเพราะรีโนเวตบ้าน’) ว่าง่ายๆ คือมันถูกทรีตจากการเป็นสปอยเลอร์ให้กลายเป็นสตอรีทั่วไป เป็นเรื่องเล่าหนึ่ง เป็นเหมือนเรื่องที่วันนี้ฉันอ่านเจอมาในหนังสือพิมพ์ ก็เลยมาเล่าให้ฟัง ผมว่านี่คือความพิเศษของคลิปสปอยเลอร์เหล่านี้ ที่ผันจุดด้อยตัวเองให้กลายเป็นสิ่งอื่นได้อย่างน่าอัศจรรย์ คือมึงทำอย่างนี้ได้ด้วยเหรอวะ

 

 

เอาจริงๆ ตอนแรกผมก็ช็อกนะครับว่า โอ้โห พวกมึงเอากันแบบนี้ แล้วพวกกูจะอยู่กันอย่างไร จะต้องทำหนังกันอีกหรือไม่ แต่พอมานั่งดูกันอีกที นี่ถือเป็นการเลื่อนไหลของสื่อเรื่องเล่าที่น่าคิดต่อ ลองคิดเล่นๆ ว่าหนังที่เราสร้างออกมาก็เป็นเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง แต่มันมาในรูปแบบภาพ ซึ่งถ้าคนดูหนังไปแล้ว พวกเขาก็จะจดจำและนำไปเล่าต่อด้วยคำบอกเล่าหรือตัวหนังสืออยู่ดี ไม่ต่างจากนิทานก่อนนอนที่เราเล่าให้เด็กๆ ฟัง ซึ่งถ้าเรื่องราวมันสนุก ผู้รับสารหรือคนฟังก็จะรู้สึกสนุกเท่ากัน ฟังเพลินๆ ขี้เกียจไปตามดู ก็เล่ามาให้จบเลยแล้วกัน เสพมันเหมือนข่าวประจำวัน 

 

พอคิดแบบนี้ คำว่าสปอยเลอร์ก็รอดตัวจากการเป็นอาชญากรทันที กลายเป็นรูปแบบใหม่ของสื่อ หลายคนอาจคิดว่าหนังมันจะสนุกได้อย่างไรถ้าไม่ดูเอง แต่ให้เราลองนึกถึงเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบการแคสต์เกม (ไม่ต้องเล่นเอง แต่ดูคนอื่นเล่นให้ดู ก็สนุกได้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งแน่นอน ฝ่ายคนทำเกมก็คงรู้สึกไม่ชอบ เหมือนสร้างเกมมาแทบตายแต่ดันไม่เล่น) หรือการอ่านสรุปหนังสือเล่มหนาๆ ให้กลายเป็นคอนเทนต์วิดีโอแทน (ไม่ต้องอ่านเอง แต่นอนฟัง 15 นาทีก่อนนอน ก็ได้ความรู้เหมือนกัน แม้จะไม่ละเอียดเท่า ซึ่งคนเขียนก็คงเซ็ง อุตส่าห์เขียน อุตส่าห์สรรหาคำ แต่คนดันไปฟังเทปสรุปแทน) เรียกได้ว่าสื่อต้นฉบับทุกวันนี้สามารถถูกรีเมกให้กลายเป็นสื่อแบบใหม่ได้ ก็เพราะเรามีผู้ชมหรือผู้เสพที่ดูหนัง เล่นเกม อ่านหนังสือในรูปแบบใหม่ๆ เช่นกัน

 

แต่ถ้ามองในอีกด้านหนึ่งแบบช้าๆ มองใกล้ๆ เราก็จะพบข้อบกพร่องของมันว่า การเล่าหนังด้วยปากเปล่าพร้อมภาพประกอบนี้มันจะเวิร์กต่อเมื่อหนังเรื่องนั้นเป็นหนังที่ขับเคลื่อนด้วยพล็อต เป็นหนังที่เน้นบอกว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร (ซึ่งก็คือหนังฮอลลีวูดทั่วๆ ไปนั่นแหละ) 

 

 

 

ขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว โลกของศิลปะภาพยนตร์เรามีอะไรมากมายและใช้ประสิทธิภาพของภาพและเสียงรวมถึงการตัดต่อได้มากกว่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถถูกเล่าได้ในบรรดาคลิปสปอยล์ทั้งหลาย เนื่องจากมันอธิบายไม่ได้ ต้องมาดูตัวหนังเองจริงๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าทำคลิปสปอยล์หนังอาร์ตหน่อย เช่น Call Me by Your Name อันนี้อาจจะฟังแล้วหลับไปเลย เพราะหนังไม่ได้มีเนื้อเรื่องหวือหวาระทึกใจ และจริงๆ แล้วพลังของหนัง Call Me by Your Name นั้นอยู่ที่สายตาของนักแสดงรวมถึงบรรยากาศต่างๆ ของเซตอัพในหนัง คือคุณต้องมองเห็นและนั่งฟัง คุณถึงจะเสพงานได้เต็มประสิทธิภาพที่ผู้สร้างตั้งใจสร้างมา ซึ่งสุดท้ายหากคนเสพพวกคลิปสปอยล์มากๆ พวกเขาอาจจะไม่เข้าใจเลยว่า ภาพยนตร์สามารถทำปฏิกิริยาอะไรกับความรู้สึกพวกเขาในแบบอื่นๆ ได้อีกมากมาย นอกเหนือจากแค่มาเล่าเนื้อเรื่องให้ฟังแบบฮอลลีวูด

 

ตอนนี้ปัญหาที่เริ่มจะเป็นประเด็นขึ้นมาบ้างคือ เรื่องผลประโยชน์ เพราะหลายๆ ครั้งคลิปสปอยเลอร์หนังต่างๆ ก็สามารถนำไปทำเงินให้กับช่องของผู้สปอยล์ได้เรื่อยๆ คราวนี้ผู้สร้างหนังก็เหวอกันไป เพราะหนังเรื่องหนึ่งกว่าจะคิดได้ใช้ทั้งเงินหลายสิบล้าน ร้อยล้าน รวมถึงใช้เวลาไปอีกเป็นปีๆ แต่มาถูกแปรสภาพให้กลายเป็นนิทานที่เล่าจบใน 20 นาทีอย่างง่ายดาย แต่จะบอกว่าคนทำคลิปสปอยล์พวกนี้ทำได้ง่ายๆ ก็อาจจะไม่ใช่ เพราะคนสปอยล์แต่ละคนก็พยายามจะคิดลีลาการเล่าเป็นของตัวเอง บางคนเน้นเล่าจริงจัง บางคนเน้นเล่าเอาฮา หรือบางคนเน้นด่า อะไรก็ว่ากันไป จนหลายครั้งก็ไม่แน่ใจว่า ตกลงแล้ว Subscribers ของช่องเหล่านั้น เขาเอ็นจอยเนื้อเรื่องของหนังหรือตัวคนเล่าสปอยล์กันแน่

 

 

ความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาของโลก แต่ก็นำความตกใจมาสู่คนธรรมดาอย่างพวกเราเสมอ แต่สุดท้ายพวกเราก็ต้องปรับตัว การปรับตัวนั้นไม่ใช่การยอมแพ้ต่อความเปลี่ยนแปลง แต่มันเป็นการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ทุกฝ่ายยอมรับได้มากกว่า แน่นอนว่าการเล่าสปอยล์หนังนั้น ถ้าถูกจัดที่ทางให้ถูกต้อง ไม่ไปวางที่ชื่อกระทู้หรือสเตตัสพับลิกมันก็อาจจะอยู่ได้ ส่วนเรื่องรสนิยมแห่งการเสพสปอยล์โดยไม่ดูหนังจริง อันนี้ถือเป็นรสนิยมส่วนบุคคล สุดท้ายเรื่องการเอาเนื้อเรื่องของหนังมาใช้ทำคลิป เพื่อให้เกิดผลทางการค้าหรือทำเงินนั้น จะถูก จะผิด จะยอมได้มากหรือน้อย จะต้องจ่ายสตางค์สู่ผู้สร้างหนังหรือไม่ อันนี้คงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X