เมื่อโควิด-19 กลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดของโลก และมีทีท่าจะส่งผลกระทบในระยะยาว คนไทยและประเทศไทยจะหาโอกาสในวิกฤตนี้อย่างไร
สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ในหัวข้อ ‘Reimagine Thailand ประเทศไทยในโลกใหม่ โอกาสอยู่ตรงไหน’ ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ต้องมองออกเป็น 3 ระยะ ทั้งช่วงสั้น กลาง ยาว ในระยะสั้นปัญหามีทั้งการตกงาน ผู้ประกอบการขาดกระแสเงินสด แต่ในระยะกลางและยาวถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องจับตามองไม่แพ้กัน
ส่วนหนึ่งเพราะโควิด-19 เร่งให้เห็นปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างก่อนวิกฤต ‘คน’ มีโอกาสตกงานเพราะตามโลกไม่ทัน ตั้งแต่สงครามการค้าที่เกิดขึ้น ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว อุตสาหกรรมหันไปใช้เทคโนโลยี ใช้หุ่นยนต์มากขึ้น จึงอยู่ที่ว่าคนจะ Reskill อย่างไร
ขณะที่เกิดวิกฤตโลกดิจิทัลมาเร็วขึ้น เทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องที่ประชาชนและภาคธุรกิจจะขาดไปไม่ได้ ที่สำคัญยังแทรกซึมอยู่ในทุกช่วงชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น โจทย์ใหญ่คือจะปรับดิจิทัลเพื่อสร้าง Productivity ใน Real Sector อย่างไร
ทั้งนี้ หลังโควิด-19 อาจเป็นทิศทางที่ดีต่อประเทศไทยและเอเชียที่จะกลับมาเติบโตได้เร็วกว่า ส่วนหนึ่งเพราะประเทศฝั่งตะวันตกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ไทยต้องหันมาดูเรื่องจุดเด่น 5C ที่มีอยู่ ได้แก่
– Care การบริการเชิงสุขภาพทั้งกายและใจ รวมถึงบริการทางการเแพทย์
– Culinary ครัวไทยที่อาจต่อยอดธุรกิจมากกว่า เช่น อาหารไทยในรูปแบบศิลปะ หรือสร้างคอนเทนต์
– Creativity ความสร้างสรรค์ในสินค้าและบริการ
– Culture นอกจากวัฒนธรรม กีฬายังเป็น Soft Power ที่ขยายไปในต่างแดน
– Corridor ภูมิศาสตร์ของไทยที่เชื่อมโยงกับประเทศหลักๆ ได้ดี
แต่ทั้งหมดนี้ รัฐไทยต้องเร่งทำใน 3 เรื่อง ได้แก่
- การลดกฎเกณฑ์ต่างๆ
- รัฐต้องเร่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของไทย เพื่อให้เอกชนต่อยอดได้มากขึ้น
- การพัฒนาคน
ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของไทยคือ การว่างงานที่จะสร้างปัญหาต่อเนื่องอื่นๆ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดูแลเรื่องการสร้างงาน หรือสนับสนุนภาคเอกชนให้สามารถรักษาการจ้างงานไว้ให้มากที่สุด และไม่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ดังนั้น ควรสนับสนุนให้ภาครัฐพูดคุยกับภาคเอกชนและบริษัทต่างๆ โดยเร็ว
ด้าน กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง กล่าวถึงปัญหาการว่างงานสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะหากเรียนจบแล้วหางานไม่ได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ดี ขณะที่การอยู่รอดของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กก็ยิ่งสำคัญภายใต้วิกฤตนี้
ทั้งนี้ รัฐต้องใช้เงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น รัฐควรสนับสนุนให้เอกชนและบริษัทต่างๆ สามารถจ้างงานได้มากขึ้น เพื่อให้สร้างคนที่อุตสาหกรรมต้องการ ซึ่งจะดีกว่าให้ระบบข้าราชการจ้างงานแล้วมานั่งเฉยๆ ซึ่งไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล