×

เชียร์ขอบสนามไม่ได้ไม่เป็นไร ให้ ‘Remote Cheerer’ ช่วยส่งพลังเชียร์ถึงนักกีฬาจากโซฟาที่บ้านคุณ

28.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • การที่แฟนบอลเข้าไปเชียร์ในสนามไม่ได้ ทำให้บรรยากาศของเกมการแข่งขันในสนามแย่ลง ความได้เปรียบของเจ้าบ้านหายไปอย่างชัดเจน และแฟนบอลที่ดูอยู่ที่บ้านก็ไม่สนุกด้วย ต่อให้ใช้เสียงเชียร์ปลอมก็ตาม
  • แอปพลิเคชัน Remote Cheerer จะช่วยให้กองเชียร์บันทึกเสียงเชียร์และส่งพลังใจให้นักกีฬาที่ทำหน้าที่อยู่ในสนามผ่านลำโพง 58 ตัวรอบสนาม แม้ว่าตัวจริงจะนั่งดูอยู่บนโซฟาที่บ้านก็ตาม
  • การทดสอบแอปพลิเคชันได้ผลดี และเตรียมจะนำระบบไปเสนอให้สนามกีฬาทั่วยุโรปใช้ต่อไป

หนึ่งในปัญหาของคนรักกีฬาในยุคโควิด-19 คือการที่แฟนๆ ไม่สามารถเข้าไปเชียร์ที่ขอบสนามได้ ทำให้บรรยากาศของการแข่งขันลดความสนุกลงไปอย่างมาก นักกีฬาก็เล่นแบบเหงาๆ คนดูก็ดูอยู่ที่บ้านแบบเฉาๆ

 

เรื่องนี้ยังส่งผลต่อเกมในสนามด้วย ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดจากตัวอย่างของฟุตบอลบุนเดสลีกาที่กลับมาทำการแข่งขันได้ 2 สัปดาห์แล้ว และพบว่าอัตราการคว้าชัยของทีมเจ้าบ้านลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

 

โดยใน 2 Matchday แรกหลังจากกลับมาทำการแข่งขันได้อีกครั้งจำนวน 22 นัด มีเจ้าบ้านชนะแค่ 3 นัดเท่านั้น! และเจ้าบ้านยังยิงประตูได้น้อยกว่าทีมเยือนเกือบเท่าตัว (25 ประตูต่อ 44 ประตู) อีกด้วย เรียกว่าเห็นได้ชัดว่าเมื่อเจ้าบ้านไม่มีกองเชียร์คอยหนุนหลัง ก็เหมือนขาดความได้เปรียบของ ‘ผู้เล่นคนที่ 12’ ไป

 

ขณะที่บรรดาสถานีโทรทัศน์ผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเองก็เครียดไม่แพ้กัน เพราะเกมกีฬาที่ไม่มีกองเชียร์ทำให้อรรถรสในการรับชมหายไปมาก ซึ่งมีความพยายามในการหาทางออก เช่น การใช้เสียงเชียร์ปลอม แต่ปัญหาคือเสียงเชียร์นั้นถูกบันทึกเอาไว้ก่อน ทำให้หลายครั้งที่เสียงไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสนาม

 

แต่ปัญหานี้กำลังจะหมดไป! เพียงแค่คุณใช้แอปพลิเคชันที่เรียกว่า ‘Remote Cheerer’ 

 

หน้าตาของแอปพลิเคชันเวอร์ชันทดสอบ จะเห็นได้ว่ามียันเพลงเชียร์ของสโมสร

 

แอปพลิเคชัน ‘Remote Cheerer by Sound UD’ เป็นแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Yamaha ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของญี่ปุ่น โดยหลักการคือให้แฟนๆ บันทึกเสียงสำหรับการตอบสนองในจังหวะต่างๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนาม

 

เช่น ถ้าดีใจก็กดเฮ ถ้าไม่ชอบใจก็กดโห่ หรืออยากส่งกำลังใจให้หนักๆ ก็กดปุ่มร้องเพลงเชียร์ (Chant) สิ่งที่เราเลือกจะถูกส่งตรงไปถึงลำโพงขนาดยักษ์จำนวน 58 ตัวที่ตั้งอยู่รอบสนามฟุตบอล (และสามารถใช้กับสนามกีฬาทุกประเภท) ซึ่งจะมีการแยกโซนให้เราได้เลือกเองด้วย เสมือนว่าได้นั่งประจำการอยู่ในจุดนั้นของสนามจริงๆ ซึ่งก็ไม่ได้มีเฉพาะทีมเจ้าบ้าน แต่มีสำหรับพื้นที่ของทีมเยือนด้วยเช่นกัน

 

เรียกว่าถึงตัวของเราจะไปที่สนามไม่ได้ แต่เรายังสามารถส่งพลังใจให้กับทีมที่เรารักได้ตรงจากโซฟาที่บ้านได้

 

ลำโพงที่ติดตั้งอยู่รอบสนามจะเป็นตัวแทนส่งเสียงเชียร์แทนแฟนๆ ทุกคน

 

ข่าวดีคือเวลานี้ Remote Cheerer ได้รับการพัฒนามาไกลแล้วถึงขั้นการทดสอบในสนามจริง โดยได้มีการทดสอบที่สนามชิซึโอกะ สเตเดียม สนามเหย้าของสองสโมสรเจลีกอย่าง จูบิโล อิวาตะ และชิมิสุ เอส-พัลส์ ที่มีความจุ 50,000 ที่นั่ง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา และผลลัพธ์ที่ออกมาค่อนข้างน่าพอใจ

 

เคซึเกะ มัตซึบายาชิ ผู้จัดการของสนามชิซึโอกะ สเตเดียม เล่าถึงความประทับใจต่อระบบกองเชียร์ทางไกลนี้ว่า “ในระหว่างการทดสอบมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมปิดตา และรู้สึกได้ว่าเหมือนมีกองเชียร์อยู่ในสนามร่วมกับผมเลย”

 

ขณะที่ ฮิโรมิ ยานางิฮาระ จากแผนกพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจของสโมสรจูบิโล อิวาตะ เชื่อว่านวัตกรรมเล็กๆ ที่ช่วยส่งความรักนี้จะช่วยให้นักกีฬามีกำลังใจในการเล่นมากขึ้น “จากความเป็นไปได้ในเกมที่จะไม่มีผู้ชม และการเชียร์ถูกจำกัดแบบนี้ ผมคิดว่าระบบนี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เล่นในสนามได้รู้สึกเสมือนว่ามีแฟนๆ และกองเชียร์ของพวกเขาอยู่ใกล้ๆ”

 

ถึงเสียงนั้นจะไม่ดังกระหึ่มและสมจริงเหมือนมีแฟนๆ มาอยู่เคียงข้างในสนาม แต่ยามนี้ได้แค่นี้ก็อาจจะดีต่อใจมากแล้ว 🙂

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

 

 

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

FYI
  • ทางด้านผู้พัฒนา Remote Cheerer กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาให้กับสนามกีฬาทุกแห่งในยุโรป โดยกำลังพัฒนาในเรื่องของระบบการจดจำเสียง (Voice-Recognition System) เพื่อเซนเซอร์คำพูดที่ไม่เหมาะสม หรือคำด่าที่รุนแรงออกไปก่อน
  • ที่เยอรมนี บริษัทที่ชื่อ hack-CARE ก็มีการคิดค้นแอปพลิเคชัน MyApplause ที่มีแนวคิดคล้ายกันให้แฟนๆ กดส่งปฏิกิริยาเสมือนจริง (Virtual Reactions) ที่จะส่งตรงถึงสนามภายในเสี้ยววินาที โดยมี 4 ตัวเลือกให้ใช้งานคือ เชียร์, ปรบมือ, ร้องเพลง หรือโห่ แต่ฟีดแบ็กไม่ค่อยดีนักเพราะสโมสรฟุตบอลไม่เชื่อว่าจะทำให้บรรยากาศการเชียร์ดีขึ้นได้ (นึกภาพว่ามีแฟนบอลเข้าไปแกล้งกดโห่อย่างเดียว)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X