×

วิโรจน์ กางข้อมูลการเยียวยาโควิด-19 ชี้นายทุนมาก่อน ประชาชนรอก่อน

โดย THE STANDARD TEAM
27.05.2020
  • LOADING...

วันนี้ (27 พฤษภาคม) ที่รัฐสภา (เกียกกาย) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายถาม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าที่ชูสองแขนแล้วพูดว่า ‘ประเทศไทยต้องชนะ’ นั้น คำว่าประเทศไทยหมายความถึงประชาชนด้วยหรือไม่ เพราะถ้าประชาชนชนะ แล้วทำไมจึงมีภาพของการไปต่อแถวร้องทุกข์ด้วยสายตาที่เลื่อนลอย สิ้นหวัง น้ำตาคลอเบ้าที่หน้ากระทรวงการคลัง ทำไมจึงมีภาพคนเป็นแม่ยืนร้องไห้เพราะไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก สิ่งที่เหล่านี้ไม่ใช่ชัยชนะของประชาชนเลย เป็นเพียงการได้มาในสิ่งที่รัฐบาลอยากได้โดยยืนอยู่บนความทุกข์ยากของประชาชน เป็นการประกาศชัยชนะของรัฐบาลโดยที่เอาประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยมาเป็นเครื่องเซ่น เอากิจการขนาดเล็กมาเป็นเครื่องสังเวย

 

อัดช่วยกลุ่มทุนก่อน – เทียบเงินอุ้มดิวตี้ฟรี ซื้อข้าวสารแจกได้ทุกครัวเรือน

    

วิโรจน์กล่าวอีกว่าคำว่า ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ของรัฐบาล ที่แท้จริงคือต้องขยายความว่า ‘เราไม่ทิ้งกัน ส่วนพวกมันก็ให้ทิ้งไป’ ภายใต้วิธีคิดของรัฐบาลนี้ การเข้าไปอุ้มชูนายทุนทำได้ง่ายดายและรวดเร็ว เช่น กรณีบอร์ดการท่าอากาศยาน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีมาตรการปรับลดค่าตอบแทนให้กับผู้ประกอบการสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 และค่าเช่าแบบคงที่ ให้ปรับลดลง 20% ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึง 31 มกราคม 2564 รวมทั้งค่าผลตอบแทนแบบเปอร์เซ็นต์ ให้ยกเว้นเงื่อนไขขั้นต่ำรายเดือนและรายปีตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึง 31 มีนาคม 2565 แถมยังให้เลื่อนการจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่มีค่าปรับอีกด้วย ซึ่งประเมินกันว่าจะทำให้กำไรของการท่าอากาศยานในปี 2563-2565 รวมกันแล้วลดลงถึง 22,536 ล้านบาท ทำให้ราคาหุ้นของการท่าอากาศยานปรับตัวลดลงทันทีในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคือ 4.80% คิดเป็นความเสียหายที่กระทรวงการคลังต้องรับรู้ทันทีถึง 32,500 ล้านบาท

    

“เงินจำนวนนี้ไม่ใช่น้อยๆ เมื่อคำนวณแล้วสามารถเอามาเยียวยาประชาชนจำนวน 5,000 บาทได้ถึง 2.2 ล้านคน ซื้อหน้ากากอนามัยได้ 8 พันล้านชิ้น ซื้อชุด PPE ให้กับหมอได้ 90 ล้านชุด ซื้อข้าวสารถุงละ 5 กิโลกรัมได้ 216 ล้านถุง สามารถแจกได้ทุกครัวเรือนในประเทศไทยที่มีอยู่ 21 ล้านครัวเรือนได้ครัวเรือนละ 10 ถุง อยู่ได้นานถึง 5 เดือน ถ้าเทียบกับกรณีสินค้าปลอดภาษีในสนามบินนั้น กว่าเกษตรกรจะได้รับการอนุมัติการเยียวยาก็ต้องรอจนถึงวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา หลังผู้ประกอบธุรกิจที่สนามบินถึง 2 เดือนเศษ” วิโรจน์กล่าว

 

ชี้ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับต้องวางยุทธศาสตร์สอดคล้อง พ.ร.บ. โอนงบ – พ.ร.บ. งบปี 64

    

วิโรจน์กล่าวอีกว่าการกู้เงินมาใช้แก้ปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้เป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องกู้ แต่สิ่งที่น่ากังวลและเป็นปัญหาคือรัฐบาลมีฐานคิดที่ลักลั่น สองมาตรฐาน นายทุนมาก่อน ประชาชนรอไปก่อน ฐานคิดที่คิดว่าตนเองเป็นเจ้าของเงิน และกำลังเจียดเงินเพื่อสงเคราะห์ประชาชนใต้การปกครองโดยให้ประชาชนรอความเมตตาจากรัฐ แบบนี้ไม่ถูกต้อง ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น พอประชาชนด้วยกันทนไม่ได้ นำอาหารออกมาแจกจ่ายช่วยกันเอง ก็ยังถูกจับกุมดำเนินคดี

 

ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลทำงานเป็น พระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ ทั้งกู้เงิน ซอฟต์โลน และพยุงหุ้นกู้ จะต้องวางแผนให้สอดคล้องกันกับพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 โดยกฎหมายทั้ง 5 ฉบับนี้ต้องวางแผนให้สอดคล้อง มียุทธศาสตร์ร่วมกัน สัญญาณที่รัฐบาลควรส่งมาที่สุดในตอนนี้ก็คือการสื่อให้ประชาชนรับรู้ว่ารัฐบาลกำลังพยายามที่จะปกป้องสภาพการจ้างงานของพวกเขา

 

แนะวิธีการใช้เงินรัฐบาล – แจงยิบ จัดสรรงบให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด

     

วิโรจน์กล่าวว่าพรรคก้าวไกลมองว่า ‘บาซูก้างบประมาณ’ ก้อนนี้เป็นเครื่องมือที่จำเป็น แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลคือจัดสรรเงินใหม่ โดยรวมเอาเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเข้ากับเงินที่ได้จากการโอนงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ อีก 8.8 หมื่นล้านบาท เป็น 1.088 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เงินก้อนนี้ถูกใช้ไปแล้ว 3.45 แสนล้านบาทกับมาตรการจ่ายเงินเยียวยาเราช่วยกันและเยียวยาเกษตรกร เหลือที่จัดสรรได้อีก 7.43 แสนล้านบาท โดยทางพรรคเสนอวิธีจัดสรรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด โดยเงินก้อนแรก วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข แบ่งเป็นเงินจำนวน 6.7 หมื่นล้านบาท เพื่อแจกจ่ายวัคซีนฟรีสำหรับทุกคน และเงิน 3.3 หมื่นล้านบาท สำหรับจัดหาอุปกรณ์การแพทย์และเพิ่มสวัสดิการให้บุคลากรสาธารณสุข ส่วนก้อนที่สอง วงเงิน 6.43 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาประชาชน แบ่งเป็นส่วนแรก 5.04 แสนล้านบาท เยียวยาประชาชนถ้วนหน้าคนละ 3,000 บาท นาน 3 เดือน ยกเว้นข้าราชการ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีจะได้รับเงิน 1,000 บาท และเงินอีก 1.2 แสนล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง 50% ของเงินเดือน แต่ไม่เกินรายละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน โดยลูกจ้างต้องเงินเดือนไม่เกิน 3 หมื่นบาท ภายใต้เงื่อนไขว่านายจ้างห้ามเลิกจ้างในช่วง 3 เดือนที่รับเงินสมทบค่าจ้าง และในก้อนสุดท้าย วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ใช้จัดสรรอาหารฟรีให้ประชาชน

 

“ยิ่งไปกว่านั้น ในส่วนงบประมาณสำหรับฟื้นฟูโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวมสามารถออกเป็น พ.ร.บ. ฉบับใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะ รวมทั้งสามารถใช้จากงบประมาณแผ่นดินปี 2564 แทนได้ ภายใต้ข้อเสนอการจัดสรรงบประมาณแบบพรรคก้าวไกลที่กล่าวมานั้นจะทำให้ประชาชนได้รับเงินเยียวยาอย่างทั่วถึง ไม่ต้องพิสูจน์สิทธิ์ ไม่ต้องรอนานกว่าจะได้เงิน บุคลากรด้านสาธารณสุขมีเครื่องมือเพียบพร้อมในการรับมือโควิด-19 ส่วนธุรกิจรายย่อยก็จะยังสามารถประคองตัวไปได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ทุกคนจะมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต และพร้อมจะให้ความร่วมมือกับมาตรการควบคุมโรค” วิโรจน์กล่าว

 

จี้รัฐบาลหนุนตั้ง กมธ.วิสามัญ ตรวจสอบการใช้งบ 

   

วิโรจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลเขียนมานี้มีรายละเอียดอยู่เพียง 7 หน้า คิดเป็นหน้าละ 1.4 แสนล้านบาท มีทั้งสิ้น 148 บรรทัด คิดเป็นบรรทัดละ 6,800 ล้านบาท นี่จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่พรรคก้าวไกลยื่นญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณ และมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 และหากรัฐบาลยืนยันความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณของตัวเองตามที่ปรากฏในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมาจริง ก็ควรต้องให้ความร่วมมือกับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งท่าทีของรัฐบาลต่อการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้จะเป็นจุดชี้ขาดการตัดสินใจของพรรคก้าวไกลว่าจะลงมติอย่างไรกับ พ.ร.ก. กู้เงินฉบับนี้ เพราะ ‘ประเทศไทยต้องชนะ’ ในคำว่าประเทศไทยนั้นคือประชาชนต้องชนะไปด้วยกัน

 

 

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม Support By Nikon Sales (Thailand)

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 


ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X