×

สสส. ปลื้มโปรเจกต์ ‘พลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤต’ คนไทยน้ำใจล้น แชร์ไอเดียสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด Resilience ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เตรียมไปต่อกับโมเดลดีๆ สู่อนาคต

โดย THE STANDARD TEAM
20.05.2020
  • LOADING...

ทันทีที่ คุณเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดรับข้อเสนอโครงการย่อยภายใต้โครงการ ‘พลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤต: Citizen Resilience Project’ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้โอกาสบุคคลทั่วไปได้นำเสนอไอเดียสร้างสรรค์ ช่วยกันฝ่าวิกฤตโควิด-19 ที่แต่เดิมตั้งเป้าไว้เพียง 40 โครงการ แต่เนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจนำเสนอไอเดียเข้ามาเป็นจำนวนมากเกือบ 600 โครงการ ทำให้สำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. ต้องปรับ รับเพิ่มขึ้นเป็น 55 โครงการ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนภาพตอกย้ำถึงความเป็นคนไทยที่ไม่เคยทิ้งกันในยามยาก ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม 

 

THE STANDARD พูดคุยเรื่องราวความเป็นมากับผู้อำนวยการสาวสวยคนเก่ง ผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าว แม้ในวันที่มหาวิกฤตเกิดขึ้นกับผู้คนทั้งโลก ก็ไม่สามารถหยุดความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เพื่อการเรียนรู้ อยู่เป็น ผ่านพ้น และสามารถใช้ชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้

 

“จะเห็นว่าชื่อภาษาไทย พลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤต เป็นเจตนาของสำนักสร้างสรรค์โอกาสที่สอดคล้องกับแผนการทำงานเรื่องการกระจายโอกาสไปสู่กลุ่มคนเล็กๆ เพื่อให้พวกเขาเหล่านี้ได้มีโอกาสร่วมงานกับเรา วิกฤตโควิด-19 จึงเป็นเหมือนสถานการณ์เร่งด่วนที่เพิ่มเข้ามามากกว่า และเหตุที่ใช้คำว่าพลเมืองไทย เพราะเรารู้สึกว่าสามารถสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่ได้มุ่งแค่เรื่องวิกฤตโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่ยังสื่อถึงโอกาสที่ในอนาคตเราอาจเจอวิกฤตการณ์อื่นๆ ได้อีก ก็เลยตั้งชื่อกว้างๆ ว่า ‘พลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤต’ โดยใช้แนวคิดเรื่องความยืดหยุ่น หรือ Resilience เข้ามาออกแบบเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็นในประเทศไทย”

 

นี่คือจุดเริ่มต้นธารแห่งความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างแท้จริง จากนั้นเธอขยายความถึงความหมายของแนวคิดเรื่องความยืดหยุ่น Resilience เพื่อให้คนเข้าใจและเข้าถึงได้มากขึ้น

 

“ถ้าในเชิงวิชาการแนวคิด Resilience ก็คือเรื่องของการบูรณาการความรู้ ความเชื่อ พฤติกรรม กับบริบทของพื้นที่และสังคม นำมาออกแบบเพื่อสร้างทางเลือก หรือทางออกในการรับมือกับภาวะวิกฤต พออธิบายแบบนี้อาจเข้าใจยาก เราเลยบอกให้ลองนึกถึงฟองน้ำที่มีความอ่อนนุ่ม สามารถซึมซับน้ำได้เยอะ แล้วก็สามารถบีบเพื่อเอาน้ำออกได้ แล้วพอบีบออกก็จะกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม เปรียบง่ายๆ เหมือนกับคนไทยทุกคนที่ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ปรับตัว ช่วยกันลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไป และที่สำคัญก็คือการกลับมาฟื้นฟูคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิมให้ได้”

 

สำหรับ 55 โครงการที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นบนพื้นฐานธรรมาภิบาลของสำนักสร้างสรรค์โอกาส เป็นปฏิบัติการจริงที่วัดผลได้ มุ่งให้เกิดผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงพฤติกรรมหรือสภาพแวดล้อม แบ่งออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์หลักสำคัญ โดยผู้อำนวยการสำนักได้แยกแยะและยกตัวอย่างออกมา ดังนี้

 

COVID-19 Literacy เป็นการสร้างการเข้าถึงข้อมูล ส่งเสริมความสามารถในการนำข้อมูล องค์ความรู้ต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มีความสามารถในการทำความเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากทุกๆ วันได้ โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้กับกลุ่มจำเพาะที่มีข้อจำกัดครอบคลุมความสามารถดังกล่าว อาทิ โครงการของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการสร้างชุดสื่อความรู้สู้โควิด-19 คลิปภาษาอาข่า กะเหรี่ยง ลาหู่ หรือรายการ คนหูหนวกขอรู้ ล่ามขอเล่า

 

Social Distancing มุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ต้องการระยะห่างทางสังคม เช่น แพลตฟอร์ม ‘ตามสั่ง ตามส่ง’ ที่กำลังทำในพื้นที่ชุมชนลาดพร้าว 101 เป็นการเชื่อมต่อระหว่างคนที่อยู่บ้าน ร้านอาหาร และวินมอเตอร์ไซค์บริเวณนั้นได้ใช้งานร่วมกัน หรือข้อจำกัดเรื่องความเหลื่อมล้ำ อย่างเรื่องการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ แต่ในกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสหรืออยู่กลุ่มใต้เส้นความยากจนจะเข้าถึงได้อย่างไรในเมื่ออุปกรณ์ก็ยังไม่มี 

 

Metal Health Relief ผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด ทั้งกิจกรรมเฟซบุ๊กซัพพอร์ต การเวิร์กช็อปทางออนไลน์ การใช้ศิลปะ หรือดนตรีในการบำบัด แม้กระทั่งเพจที่มีนักจิตวิทยาอาสารับให้คำปรึกษากับคนที่มีความเครียด รู้สึกไม่มีความสุข รู้สึกท้อแท้และรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะมีปัญหาทางสุขภาพจิต ก็มีหลายโครงการน่าสนใจ เช่น เพจศูนย์กู้ใจ By Relationship หรือเพจ Heartcare Center: ศูนย์ดูแลสุขภาพจิต เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น

 

High-Risk Support เช่น การสร้างแอปพลิเคชันบนมือถือ เรื่องการจัดการหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว สำหรับประชาชนและกลุ่มผู้จัดการขยะชุมชนภายในพื้นที่ต้นแบบจังหวัดมหาสารคาม หรือการให้ข้อมูลกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงให้เข้าถึงการปฏิบัติตัวตั้งแต่ก่อนคลอดและหลังคลอด เป็นต้น

 

New Normal การใช้พื้นที่สาธารณะให้เป็น ‘สวนแบ่งปัน’ จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้คนเข้าถึงแหล่งอาหารและการแบ่งปันในชุมชน ตลอดจนลักษณะของการพัฒนาตัวสื่อเรียนรู้ วิถีสุขภาวะปกติแบบใหม่ เช่น ชุดสื่อพาลูกเรียนเล่นรู้ในบ้าน 7 กิจกรรม ภายใต้กิจกรรมออนไลน์สำหรับผู้ปกครองที่ต้องทำงานที่บ้านและต้องดูแลลูกด้วย เป็นต้น

 

 

แม้โครงการที่เกิดขึ้นจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง ทั้งในด้านการทำงานที่ต้องทำผ่านออนไลน์ทั้งหมด หรือปัญหาในด้านการจัดการ แต่ทุกคนก็ช่วยกันขบคิด หาทางแก้ไข อย่างสร้างสรรค์ โดยมีสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. คอยเป็นที่ปรึกษา และพี่เลี้ยงอยู่เคียงข้างไม่ห่าง

 

เหนือสิ่งอื่นใดคือ พลังน้ำใจของคนไทยที่สัมผัสได้จากโครงการนี้ และเธอยืนยันกับเราเป็นการทิ้งทายว่า พร้อมช่วยผลักดันทุกโครงการที่สามารถสร้างสุขภาวะปกติแบบใหม่ให้กับคนไทยต่อไปได้ แม้พ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้วก็ตาม 

 

“สิ่งที่เห็นตั้งแต่วินาทีแรกที่เปิดโครงการฯ คือ พลังเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่จากผู้คนมากมายที่เห็นความสำคัญ อาสา และอยากมีส่วนร่วมในการช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ ทั้ง 55 โครงการเองที่ผ่านเข้ามา จึงเป็นเหมือนตัวแทนของคนเหล่านี้ที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง แล้วเราจะนำไปต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิมในอนาคตอย่างแน่นอน และถ้าโอกาสเอื้ออีกเมื่อไร เราก็พร้อมจะเปิดรับการมีส่วนร่วมแบบนี้ทันทีค่ะ”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X