ในช่วงโควิด-19 ที่ไม่มีใครรู้ว่าจุดจบจะอยู่ที่ตรงไหน แต่ไม่ว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ผมนึกถึง ‘หลัก 3 อยู่’ ที่เคยพูดในรายการสัมภาษณ์ ถามอีก กับอิก Tam-Eig เมื่อวันก่อน ซึ่งผมขอขยายความ ดังนี้
ระยะสั้น…อยู่รอด
ในช่วงภาวะ Abnormal หรือวิกฤตเศรษฐกิจที่เรียกว่า ‘Great Lockdown’ แบบโลกหยุดที่เราเผชิญกันอยู่ การจะอยู่รอดได้คือการเน้นเอาตัวเราและทีมให้รอด ในช่วงที่เสมือนต้อง ‘กลั้นหายใจ’
ซึ่งสำหรับเจ้าของธุรกิจและผู้บริหาร นี่คือเช็กลิสต์ที่คุณต้องทำในช่วงเวลานี้
– การลดต้นทุนต่างๆ และดูแลกระแสเงินสดให้ดี
– หยิบแผนสำรองทางธุรกิจ (BCP) มาใช้
– หาความช่วยเหลือทุกด้านเพื่อให้ไปต่อได้
– รักษาและเก็บคนในทีมให้ได้มากที่สุด
ส่วนหากเป็นพนักงาน นี่คือเช็กลิสต์ในการอยู่รอดสำหรับคุณ
– พยายามทำตัวให้มีประโยชน์ที่สุดให้บริษัทเห็น โดยเข้าใจความท้าทายที่บริษัทกำลังเผชิญ
– อย่าแค่นั่ง ‘รอ’ วันที่โลกจะกลับมาเหมือนเดิม
ส่วนนักลงทุน สิ่งที่ต้องระลึกในช่วงเวลานี้คือ Cash is King เก็บเงินสดก่อน!
ระยะกลาง…อยู่เป็น
ในระยะกลางคือช่วงที่ต้องเตรียมตัวรับมือกับ New Abnormal ที่กำลังจะมาเยือน เพราะไวรัสจะยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่จะเริ่มมีการเปิดเมืองเพื่อให้เศรษฐกิจพออยู่ได้ แต่ก็ยังเปิดเมืองแบบไม่เต็มที่ (เช่น ร้านอาหารที่ต้องปรับตัวให้นั่งทานคนเดียวต่อโต๊ะ) เพราะต้องคอยระวังความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 นั่นหมายความว่า ถึงจะเปิดเมืองแล้ว แต่ก็อาจจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะกลับไปสู่การปิดเมืองอีกครั้ง
ช่วงเวลานี้จะทำให้หลายคนรู้สึกอึดอัดเสมือนกลั้นหายใจมานานแล้วอยากสูดออกซิเจนให้เต็มปอด แต่กลับทำได้ทีละนิด
การ ‘อยู่เป็น’ จึงเป็นทักษะสำคัญที่คุณจะต้องรู้จักบริหารความเสี่ยง มีความยืดหยุ่น และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว (Resilient & Agile)
สำหรับเจ้าของธุรกิจและผู้บริหาร
– มียุทธศาสตร์บริหารความเสี่ยงที่ดี เตรียมวางแผนแบบมีหลาย Scenario มีตัววัดชัดเจน เพื่อดูว่าโลกน่าเดินจะไปสู่ Scenario ไหน
– ใช้เวลานี้ทดลองผลิตภัณฑ์และกระบวนการทำงานใหม่ๆ (เช่น ลองเปิดช่องทางดิจิทัล) แต่ที่สำคัญคือ ‘อย่าเปิดตัวใหญ่ ใส่เงินเยอะ ออกตัวแรง’
– บริหารบนพื้นฐานของข้อมูลยิ่งกว่าเก่า (Data Dependent) เพราะหลักความคิดเดิมๆ อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป
– ที่สำคัญต้องสื่อสารภายในกับพนักงานให้ดี เพราะความไม่แน่นอนในช่วงนี้จะมีผลกับกำลังใจมาก อาจเปิดโอกาสให้เขาแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมมากขึ้นในบางเรื่องด้วย
– สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าไว้ตลอดเท่าที่ทำได้ ให้รู้สึกว่าเรากำลังต่อสู้ไปด้วยกัน เราจะได้ใจกันก็ตอนนี้แหละ
สำหรับพนักงาน
– หาทางมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในที่ทำงานแบบ 360 องศา ทั้งเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้อง เพราะในช่วงอยู่รอด ความสัมพันธ์ตรงนี้อาจจืดจางลงไป
– พร้อมปรับตัวตามสถานการณ์ของบริษัทที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
– ใช้เวลานี้เริ่มหาโอกาสที่จะช่วยเหลือบริษัทในรูปแบบใหม่ ลองค้นหาว่าตัวเองมีทักษะหรือความสนใจอะไรที่จะสามารถสร้าง Value ให้บริษัทเพิ่มจากเดิมนอกเหนือจากงานปกติได้ แม้สิ่งนั้นอาจจะไม่ตรงกับกรอบหน้าที่ของเราแบบเป๊ะๆ
สำหรับนักลงทุน
– อาจเริ่มมองโอกาสในการลงทุนอีกครั้ง โดยค่อยๆ เริ่มจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่เรามี Strong Views
– อย่าจัดหนัก แต่ค่อยๆ เติม เพราะโลกอาจพลิกได้อีก และยังควรมีเงินสดเก็บเป็นกระสุนไว้พอสมควร
– ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพราะช่วงนี้ดาต้าจะเริ่มหลั่งไหลออกมา และชี้ว่า ประเทศไหน บริษัทไหน ภาคอุตสาหกรรมใด จะอยู่รอดหรืออาจจะแกร่งขึ้น
ระยะยาว…อยู่ยืน
หลังวิกฤตไวรัสผ่านพ้นไป เช่น มีวัคซีน สังคมเริ่มเข้าสู่ความปกติใหม่ที่แท้จริง (New Normal) เราไม่ต้องนั่งทานอาหารคนเดียวในร้านอาหารอีกต่อไป เราไปเที่ยวได้แล้ว ฯลฯ
การ ‘อยู่ยืน’ คือการลงทุน ปรับเปลี่ยนอย่างถาวร เพื่อเดินไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว โดยเข้าใจแล้วว่าอะไรที่จะเปลี่ยนไปอย่างถาวร หรืออะไรเป็นเรื่องชั่วคราวที่จะอยู่แค่ในช่วง Abnormal และถามตัวเองได้แล้วว่า อะไรที่เราอยากจะปรับมานานแล้ว แต่ไม่ได้ทำสักที
ขอย้ำว่า ยุทธศาสตร์ ‘อยู่ยืน’ ต้องเริ่มทำตั้งแต่ก่อนจะเข้าช่วง New Normal เพียงแต่มา ‘เหยียบคันเร่งเต็มที่’ ในช่วงนี้ เมื่อปัจจัยภายนอกต่างๆ เริ่มนิ่งขึ้น
สำหรับเจ้าของธุรกิจและผู้บริหาร
– วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของบริษัทเรา (SWOT Analysis) ในโลกใหม่
– หากดูเหมือนบางธุรกิจอาจไม่กลับมาเหมือนเดิมอีก อาจต้องตัดสินใจว่าจะหันหัวเรือใหม่อย่างไร
– เลือกผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการใหม่ที่ทดลองแล้วเวิร์ก เพื่อดูว่าน่าจะนำมาใช้ถาวรได้ไหม เช่น เราอาจจะพบว่าไม่จำเป็นต้องเดินทางไปประชุมมากเท่าเก่า การขายของผ่านออนไลน์ การทำอีเพย์เมนต์ที่อาจจะมาช่วยเสริมวิธีการจ่ายเงินแบบเดิมๆ
– เปิดโอกาสให้พนักงานที่มีความเป็น ‘ผู้ประกอบการภายใน’ ที่โชว์ผลงานได้อย่างดี คิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ช่วยเหลือบริษัทได้อย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ให้เขาได้มีบทบาทสำคัญมากขึ้น
สำหรับพนักงาน
– วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองและบริษัทในยุค New Normal เพื่อเข้าใจว่าธุรกิจเราจะเป็นอย่างไร บริษัทขาดอะไร และเราอาจช่วยอะไรได้บ้าง
– สร้างทักษะใหม่ เสริมทักษะเก่า เพื่อให้ตนเองสามารถเพิ่ม Value ให้บริษัทได้ในรูปแบบใหม่ๆ และสร้าง Career Path ใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้
สำหรับนักลงทุน
– ลดสัดส่วนเงินสด และกลับเข้าลงทุนเต็มตัวตามธีมโลกใหม่หลังโควิด-19 (ซึ่งมีอะไรบ้างคงต้องมานั่งคิดกันอีกยาวครับ)
แน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่างจากทั้งประสบการณ์ตัวเอง จากทั้งที่อ่านและพูดคุยกับคนอื่น อาจไม่ได้ครบหมดทุกอย่าง แต่หวังว่าจะพอมีประโยชน์นะครับ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล