วันนี้ (11 พฤษภาคม) ธนภณ เศรษฐบุตร ผู้ประสานงานฝ่ายอาสาสมัครและข้อมูล สถาบัน ChangeFusion ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท นกฮูก กรุ๊ป จำกัด ภาคีผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ infoAID เปิดเผยว่า กว่า 1 เดือนนับจากเว็บไซต์ infoAID เปิดให้บริการข้อมูลความต้องการเวชภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับแพทย์แก่ประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนตื่นตัวสนับสนุนเป็นนักปันอาสาหรือผู้บริจาคของเป็นจำนวนกว่า 120 คน คิดเป็น 46,740 หน่วย หรือ 16 รายการ หากข้อมูลความต้องการนี้สามารถเข้าถึงประชาชนจำนวนมาก คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนเพิ่ม
“ตอนนี้ประชาชนเต็มที่กันมากที่จะช่วยหมอ และสิ่งไหนที่สามารถทำมือได้ก็ทำกัน จึงได้ทำหน้ากากผ้ากว่า 14,500 ชิ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายรายการที่ยังไม่สามารถจัดหาแล้วช่วยบริจาคได้ ก็เป็นปัญหาที่อาจต้องใช้แนวทางในการแก้ไขที่แตกต่างออกไป เช่น อาจต้องช่วยโรงพยาบาลระดมทุนเพื่อซื้อเวชภัณฑ์เองหรือเปล่า ตรงจุดนี้เราก็มีเว็บไซต์เทใจดอทคอมอีกภาคีที่ทำเรื่องนี้” ธนภณกล่าว
ทางด้าน ช่อทิพย์ โกลละสุต ผู้ประสานงานฝ่ายผู้บริจาค มูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ (Design for Disasters) กล่าวว่า จากการประสานงานร่วมกับโรงพยาบาล พบว่ายังมีโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องการเวชภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะเพื่อการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งเคยต้องการมากในช่วงที่เจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่ติดตามเพื่อเฝ้าดูอาการของบุคคลกลุ่มเสี่ยง ไม่เพียงเท่านั้น ตัวเลขการบริจาคเวชภัณฑ์ในเว็บไซต์ยังสะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 อย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเติมเต็มสังคมได้เป็นอย่างดี โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดในการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบ DIY เช่น Face Shield และหน้ากากผ้า
ระดับที่ 2 ประชาชนมีส่วนร่วมปานกลาง เป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งมักมีจำหน่ายในจำนวนจำกัดในช่วงเวลาหนึ่งๆ การจัดซื้อจึงต้องมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรผู้ใช้งาน เช่น หน้ากาก N95 และชุด PPE
ระดับ 3 ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นบางชนิดมีความซับซ้อนในเชิงมาตรฐานด้านเทคนิคเฉพาะทาง รวมถึงมีราคาค่อนข้างสูง เช่น เครื่องกระตุกหัวใจ Defibrillator หรือตัวกรองเชื้อโรคสำหรับเครื่องช่วยหายใจ ทั้งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างเร่งด่วน
“เราคิดว่าการเตรียมความพร้อมเรื่องเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ได้คุณภาพและเพียงพอเป็นเรื่องสำคัญ โดยที่โรงพยาบาลทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ต้องประเมินสถานการณ์และคาดการณ์ความต้องการอย่างต่อเนื่องเพื่อพร้อมรับมือกับวิกฤตต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ เพราะเราไม่รู้เลยว่าวิกฤตครั้งนี้จะจบลงอย่างไรหรือจะยาวนานแค่ไหน ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาที่ชัดเจน การจัดหาเตรียมเวชภัณฑ์ให้พร้อมอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน
“นอกจากเรื่องเวชภัณฑ์ที่จำเป็นแล้ว การเปิดเผยข้อมูล (Open Data) เกี่ยวกับสถานะความพร้อม ความต้องการด้านเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในระบบฐานข้อมูลของสาธารณสุขไทยเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นต้องเปิดเผย เพราะเป็นข้อมูลสาธารณะที่จำเป็นและสามารถเข้าถึงได้เพื่อเป็นทางเลือก ทางรอดต่อชีวิตของประชาชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมช่วยเหลือสนับสนุน ไม่ใช่แค่ในภาวะวิกฤตครั้งนี้ แต่เป็นการรับมือกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดต่างๆ ในอนาคต ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากทางภาครัฐสามารถเปิดเผยข้อมูลเท่าที่เป็นไปได้ตามความเหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเติมเต็มช่วยเหลือซึ่งกันและกันจากทุกภาคส่วนในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ” ช่อทิพย์กล่าว
สำหรับเว็บไซต์ ‘infoAid’ คือพื้นที่กลางของข้อมูลที่บอกความต้องการจากโรงพยาบาลและเครือข่ายที่ทำงานช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มคนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการตัดสินใจช่วยเหลือ จัดหา พร้อมส่งมอบเวชภัณฑ์ที่จำเป็นได้อย่างมั่นใจ แม่นยำ และตรงจุด เพราะข้อมูลที่แสดงผลผ่านเว็บไซต์นี้มาจากแพทย์และโรงพยาบาลโดยตรง
ซึ่งทุกคนสามารถเลือกช่วยโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อสะดวกในการจัดส่งของด้วยตัวเองขนานกันไปทีมงาน และอาสาสมัคร infoAid จะคอยช่วยเหลือประสานงานทั้งผู้ให้ (ผู้บริจาค) และผู้รับ (โรงพยาบาล) ได้ปฏิบัติภารกิจนี้เสร็จสมบูรณ์
โดย infoAID เกิดจากความตั้งใจและร่วมมือของหลายองค์กรโดยมีใจอาสาเป็นพื้นฐาน ประกอบด้วย Design for Disasters มูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ ผู้ประสานงานโครงการ, เทใจ (TaejaiDotcom) แพลตฟอร์มระดมทุนบริจาค, ChangeFusion ผู้ร่วมประสานงานความร่วมมือต่างๆ, Open Dream ผู้จัดทำเว็บไซต์, FabCafe ซึ่งมีเครือข่ายเมกเกอร์ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างการนำเครื่องพิมพ์ 3D เพื่อผลิตอุปกรณ์บางส่วนที่ยังขาดแคลน และทีมอาสาสมัครจากหลากหลายมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการร่วมสนับสนุนเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเปราะบาง สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://infoAid.org หรือทำความรู้จัก infoAid ที่ https://youtu.be/OQr9cl0UfZU หรือถ้าต้องการร่วมสมทบทุนโครงการเพื่อสังคมสู้โควิด-19 สามารถทำได้โดยตรงผ่านเทใจ https://bit.ly/2VuyTQC ซึ่งแต่ละโครงการมีเป้าหมายเพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เพราะยังมีความต้องการต่อเนื่อง
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยจากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์