วันนี้ (8 พฤษภาคม) ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘Nataphol Teepsuwan – ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ’ โดยระบุว่า “ต่อเนื่องจากแถลงการณ์ในครั้งที่ 2 ในประเด็นเรื่องการเพิ่มเวลาพัก ครั้งนี้มีการขยายผลเพิ่มเติมที่ผมขอนำมาอัปเดต โดยแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 2 เทอม แต่ละเทอมมีเวลาพักในเทอมที่ 1/2563 จำนวน 17 วัน และในภาคเรียนที่ 2/2563 จำนวน 37 วัน รวมทั้งสิ้น 54 วัน
“ถึงแม้เราจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติ แต่ก็ให้ความสำคัญกับการที่นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาได้มีเวลาพักเพื่อผ่อนคลายได้ไม่มากก็น้อย
“ท่ามกลางความท้าทายของการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นนั้น ขอให้ทุกท่านสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อที่จะผ่านทุกอุปสรรค เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับการศึกษาไทยครับ”
โดยรูปแบบของการเปิด-ปิดเทอมมีรายละเอียดดังนี้
ภาคเรียนที่ 1/2563 ระยะเวลาเปิดภาคเรียนคือช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึง 13 พฤศจิกายน 2563 จำนวนวันเรียนทั้งหมด 93 วัน แบ่งเป็นจำนวนวันปิดภาคเรียน 17 วัน คือวันที่ 14-30 พฤศจิกายน 2563 (เวลาที่ขาดไป 7 วัน ให้สถานศึกษาสอนชดเชย เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนครบตามหลักสูตร)
ภาคเรียนที่ 2/2563 ระยะเวลาเปิดภาคเรียนคือช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึง 9 เมษายน 2564 จำนวนวันเรียนทั้งหมด 88 วัน แบ่งเป็นจำนวนวันปิดภาคเรียน 37 วัน คือวันที่ 10 เมษายน ถึง 16 พฤษภาคม 2564 (เวลาที่ขาดไป 12 วัน ให้สถานศึกษาสอนชดเชย เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนครบตามหลักสูตร)
ทั้งนี้ในส่วนประเด็นระเบียบแผนการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19 จากผลการแถลงครั้งที่ 1 มีรายละเอียดดังนี้
- รูปแบบการเรียนการสอนต้องออกแบบให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ โดยมีการเรียนรู้แบบ Onsite ในพื้นที่ที่มีความปลอดภัย สามารถไปโรงเรียนได้ ขณะที่พื้นที่ไม่ปลอดภัยจะมีการเรียนรู้หลักผ่านทางการออนแอร์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีการเรียนรู้เสริมผ่านระบบออนไลน์
- นโยบายหลักที่นำมาใช้คือ เพิ่มเวลาพักซึ่งจะมีการแถลงอีกครั้งในรายละเอียด ลดการประเมินและงดกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็น โดยเน้นเรียนเฉพาะวิชากลุ่มสาระหลัก ผมหวังว่าสิ่งนี้จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักเรียนผ่อนคลายได้ไม่มากก็น้อยครับ
- การเตรียมพร้อมในด้านระบบการเรียนรู้ทางไกลและระบบออนไลน์จะเริ่มทดสอบตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้เราพิจารณาทั้งในเชิงประสิทธิภาพและการเข้าถึง เพื่อเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด ในกรณีที่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เราไม่สามารถเปิดเทอมที่โรงเรียนได้
- กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้สนับสนุนการเรียนการสอนทางไกลในสัดส่วน 80% เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนขั้นพื้นฐานได้ อีก 20% หรือมากกว่า ให้ทางโรงเรียนและคุณครูในแต่ละพื้นที่พิจารณาออกแบบตามความเหมาะสม
- การเรียนผ่านการสอนทางไกลจะใช้สื่อโทรทัศน์ (TV) ในทุกระบบเป็นหลัก ทั้งนี้ได้รับการอนุเคราะห์สื่อจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีมาตรฐาน โดยมีดิจิทัลแพลตฟอร์มของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ DEEP และการเรียนการสอนแบบโต้ตอบออนไลน์เป็นสื่อเสริม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า