การใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาแม่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องหมั่นฝึกฝนเสมอ บางคนอาจเคยได้ยินว่า เวลาเมาแล้ว การพ่นภาษาต่างชาติจะออกมาไหลลื่นกว่าปกติ ความเชื่อนี้อาจมีน้ำหนักกว่าที่คิดหากเป็นไปตามที่งานวิจัยชิ้นใหม่เปิดเผย
เมื่อวานนี้ (18 ต.ค.) วารสาร Journal of Psychopharmacology ตีพิมพ์รายงานการวิจัยจากความร่วมมือของนักวิชาการประจำ University of Liverpool พร้อมด้วย Maastricht University และ King’s College London ที่นำเสนอผลลัพธ์ออกมาว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยให้พูดภาษาที่สองได้ดีขึ้น
เป็นที่รู้ดีว่าน้ำเมาทั้งหลายส่งผลต่อสมรรถนะของสมองและการสั่งการ พร้อมทั้งการทำงานของสมองด้านการจัดการเองก็มีบางส่วนที่ไวต่อพิษแอลกอฮอล์เช่นกัน โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ ความสนใจ และการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมด้วย
นักวิจัยทำการทดสอบผลกระทบของแอลกอฮอล์ในปริมาณต่ำ โดยให้ชาวเยอรมนี 50 คน ที่เพิ่งเรียนวิธีการพูด เขียน และอ่านภาษาดัตช์ได้ไม่นานมาเข้าร่วมการทดสอบ
ผู้เข้าร่วมจะถูกสุ่มให้ดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ปริมาณจะเป็นไปตามน้ำหนักของแต่ละคน หลังจากนั้นจะให้เข้าไปคุยกับนักวิจัยเป็นภาษาดัตช์ประมาณ 2-3 นาที เพื่อเอาบันทึกเสียงมาให้ชาวดัตช์โดยกำเนิดฟังแล้วลงคะแนน ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมก็ต้องให้คะแนนตัวเองด้วย
งานวิจัยพบว่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปได้รับคะแนนดีกว่าคนที่ไม่ดื่มอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนของการออกเสียง แต่คะแนนที่ผู้เข้าร่วมให้ตัวเองกลับไม่ต่างไปจากเดิม
ผู้ร่วมงานวิจัยอย่าง ดร. อิงเง เคอร์สเบอร์เกน (Inge Kersbergen) จาก University of Liverpool เปิดเผยว่า “งานศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่า การบริโภคแอลกอฮอล์อย่างฉับพลันอาจมีผลดีในการออกเสียงภาษาต่างประเทศสำหรับคนที่เพิ่งเรียนภาษานั้นๆ มา”
ขณะเดียวกัน ดร. เจสสิกา เวิร์ธแมนน์ (Jessica Werthmann) อีกหนึ่งนักวิจัยจาก Maastricht University กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องระมัดระวังผลกระทบของผลสรุปงานวิจัยชิ้นนี้จนกว่าจะทราบข้อมูลว่าอะไรทำให้เกิดคะแนนอย่างที่ได้เห็น กลไกหนึ่งที่เป็นไปได้อาจมาจากการที่แอลกอฮอล์ช่วยลดความวิตกกังวล”
“ต้องมีการวิจัยเพิ่มในการทดสอบเรื่องนี้” เธอย้ำ
อ้างอิง: