ช่วงไม่ถึง 1 เดือนก่อนหน้านี้ อนาคตของอินเดียดูจะหม่นหมอง หลังวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรง ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มจากหลักร้อยสู่หลักพัน จนผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดียอาจทะยานถึงหลักหลายล้านราย
แพทย์หลายคนเตือนว่าอินเดียจำเป็นต้องเตรียมรับมือสถานการณ์ที่ผู้ติดเชื้อพุ่งสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบฉับพลันและรุนแรงถึงขั้นทำให้ระบบสาธารณสุขในประเทศอยู่ในภาวะ ‘พิการ’ จุดที่ผู้สังเกตการณ์พากันกังวลคือสลัมหรือชุมชนแออัดในอินเดีย ที่ไวรัสอาจแพร่ระบาดรวดเร็วราวกับไฟป่า เนื่องจากประชาชนอาศัยอยู่อย่างแออัดและแทบไม่มีสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน
แต่มาจนถึงตอนนี้ อินเดียที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลกกว่า 1,300 ล้านคน ดูเหมือนจะพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถหลีกเลี่ยงสภาวะเลวร้ายที่สุดไปได้
ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในอินเดียจนถึงวันนี้ (30 เมษายน) อยู่ที่ราว 33,000 ราย และเสียชีวิต 1,076 ราย คิดเป็นสัดส่วนผู้เสียชีวิตไม่ถึง 1 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ ที่มีอัตราผู้เสียชีวิตสูงถึงเกือบ 200 คนต่อประชากร 1 ล้านคน
ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่าสาเหตุที่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอินเดียน้อยกว่าที่คาด อาจเป็นเพราะมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศนั้นได้ผล…สำหรับตอนนี้
“อินเดียจะไม่รอให้ปัญหาลุกลาม แทนที่จะทำแบบนั้น เมื่อใดที่ปัญหาปรากฏขึ้น เราจะพยายามหยุดมันด้วยการตัดสินใจรับมือที่รวดเร็ว ผมจินตนาการไม่ออกว่าสถานการณ์จะออกมาเป็นอย่างไรหากเรามีการตัดสินใจที่รวดเร็วเช่นนั้น” นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวเมื่อวันที่ 14 เมษายน ก่อนขยายระยะเวลามาตรการล็อกดาวน์ออกไปจนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม
อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงเบื้องหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอินเดียนั้นซับซ้อนกว่าที่คิด ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ายังเร็วเกินไปสำหรับอินเดียที่จะแสดงความยินดีต่อตัวเอง
“อย่างน้อยในรอบนี้ดูเหมือนว่าไวรัสจะไม่ทำลายล้างได้มากเท่าที่เราหวาดกลัวกัน” ศรีนาท เรดดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งอินเดียกล่าว
การตัดสินใจของโมดีรวดเร็วแค่ไหน
ในวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีโมดีประกาศว่าอินเดียจะเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ขนาดของมาตรการล็อกดาวน์นั้นใหญ่เป็นประวัติการณ์ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1,300 ล้านคน มีเพียงจีนที่มีประชากรมากกว่า แต่จีนนั้นใช้เพียงการล็อกดาวน์ทั่วเมือง ไม่ใช่ทั่วประเทศ
การล็อกดาวน์ทั่วประเทศถือเป็นการตัดสินใจที่เดิมพันสูง เพราะหมายถึงแรงงานที่กินค่าแรงรายวันทั่วประเทศจำนวนหลายล้านคนจะต้องขาดรายได้ แต่หากไม่ล็อกดาวน์ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุขอินเดีย ซึ่งจากการประเมินผลกระทบ กรณีที่ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์หรือการรักษาระยะห่างทางสังคมอาจทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วอินเดียสูงถึง 150 ล้านรายภายในเดือนมิถุนายน
ขณะที่การตัดสินใจเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์ของอินเดียก็ค่อนข้างรวดเร็ว เพราะในวันที่โมดีประกาศล็อกดาวน์นั้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วประเทศยังอยู่ที่ 519 ราย ซึ่งเร็วกว่าหลายประเทศ อาทิ อิตาลี ที่รอจนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงกว่า 9,200 รายจึงเริ่มล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ส่วนสหราชอาณาจักรเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์หลังผู้ติดเชื้อเพิ่มถึงประมาณ 6,700 ราย
รามานัน ลักษมีนารายัน ผู้อำนวยการศูนย์พลวัตโรคระบาด เศรษฐศาสตร์ และนโยบาย ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านสาธารณสุขที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และนิวเดลี ชี้ว่าการตัดสินใจใช้มาตรการล็อกดาวน์ทันทีแม้ยอดผู้ติดเชื้อต่ำ ดูเหมือนจะช่วยลดอัตราการติดโควิด-19 ได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้อินเดียยังเริ่มใช้มาตรการอื่นๆ ก่อนที่จะเริ่มต้นล็อกดาวน์ โดยเริ่มระงับวีซ่าท่องเที่ยวทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม และประกาศกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเป็นเวลา 14 วัน
จากนั้นในวันที่ 22 มีนาคมจึงเริ่มต้นแบนเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด พร้อมทั้งระงับรถไฟโดยสารทั่วประเทศ
ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตของอินเดียนั้นถูกต้องหรือไม่
ที่ผ่านมาความเข้าใจของทุกๆ ประเทศเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เหมือนกันคือตัวเลขผู้ติดเชื้อนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนการตรวจหาเชื้อ
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย พบว่าอินเดียทำการตรวจหาเชื้อไปแล้วมากกว่า 6.25 แสนคน (ข้อมูลจนถึงวันที่ 26 เมษายน) มากกว่าเกาหลีใต้ที่ได้รับคำชมเรื่องการตรวจหาเชื้อเสียอีก
ขณะที่การประเมินศักยภาพในการตรวจเชื้อของแต่ละประเทศนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขไม่ได้มองเพียงตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงอัตราตรวจเชื้อที่ผลเป็นบวกด้วย ซึ่งหากสัดส่วนของผลตรวจเชื้อเป็นบวกมีจำนวนมาก อาจบ่งชี้ว่าสถานการณ์นั้นมีความร้ายแรง
ด้านผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกระบุว่ามาตรฐานชี้วัดอัตราส่วนผู้ติดเชื้อที่ดีคือมีผลตรวจเป็นลบ 10 ราย สำหรับผลตรวจที่เป็นบวกทุกๆ 1 ราย โดยอินเดียนั้นมีผลตรวจเชื้อเป็นบวกประมาณ 4% (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย) ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ และต่ำกว่ามากหากเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีอัตราผลตรวจเชื้อเป็นบวกถึง 17% (ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์) ขณะที่สหราชอาณาจักรนั้นมีผลตรวจเชื้อเป็นบวกถึง 21%
อีกตัวชี้วัดที่น่าสนใจคืออัตราการเสียชีวิต ซึ่งในอินเดียมีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตราว 3% ซึ่งน้อยกว่าอิตาลี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ที่มีอัตราเสียชีวิตสูงกว่า 13%
สำหรับอัตราการตรวจเชื้อต่อจำนวนประชากรของอินเดียถือว่าต่ำมาก มีประชาชนเพียง 48 คน จาก 1 แสนคนที่ได้รับการตรวจเชื้อ หากเทียบกับเกาหลีใต้ที่มีถึง 1,175 คน และสหรัฐฯ ที่ 1,740 คน
ความเป็นไปได้ที่จะมีผู้เสียชีวิตมากกว่าที่เรารู้
ในช่วงปกติที่อินเดียไม่เผชิญโรคระบาดรุนแรงอย่างโควิด-19 มีจำนวนผู้เสียชีวิตที่ลงทะเบียนแล้วเพียงประมาณ 22% ที่ได้รับการรับรองการเสียชีวิตจากแพทย์ หมายความว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่มีการรับรองสาเหตุการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากแพทย์
ขณะที่มีหลักฐานว่าผู้เสียชีวิตหลายรายรอดพ้นการตรวจสอบ ข้อมูลจากแพทย์ประจำบ้านของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในมุมไบเปิดเผยว่าศพที่ถูกส่งไปยังโรงพยาบาลไม่มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แม้จะมีข้อสงสัยถึงสาเหตุการเสียชีวิต
“หากประวัติส่วนบุคคลแสดงให้เห็นว่าผู้เสียชีวิตมีการติดต่อกับบุคคลที่ติดเชื้อ เราจะกำจัดศพด้วยวิธีเดียวกับศพผู้ป่วยโควิด-19” แพทย์ประจำบ้านดังกล่าวระบุ
แต่ถึงอย่างนั้น ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายังไม่มีแนวโน้มที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอินเดียจะมีจำนวนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มากนัก ถึงแม้ว่าการตรวจหาเชื้อและการค้นหาศพผู้ติดเชื้อจะไม่มากพอ แต่สิ่งที่ยืนยันได้คือตอนนี้ยังไม่มีศพผู้เสียชีวิตที่มากจนล้นโรงพยาบาล ห้องไอซียู หรือห้องเก็บศพ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: