×

กกท. อนุมัติ E-Sports เป็นกีฬาทางการแล้ว! นายกฯ สมาคมเตรียมแคมป์ทีมชาติไประดับโลก ระดม 300 ล้านบาท

19.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • การกีฬาแห่งประเทศไทยได้เซ็นอนุมัติรับรองให้อีสปอร์ตเป็นชนิดกีฬาที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 หลังจากที่ประชุมมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา
  • นายสันติ โหลทอง นายกสมาคมไทยอีสปอร์ต เดินหน้าจัดตั้งระบบฝึกสอนเยาวชน และสร้างนักกีฬาอีสปอร์ตที่มีคุณภาพเพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของอีสปอร์ตที่มีต่อสังคม
  • นายเสถียร บุญมานันท์ CEO & Founder of Neolution Group หนึ่งในทีมอีสปอร์ตที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยเผยว่า อีสปอร์ตจะกลายเป็นหนึ่งใน 5 กีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกภายในระยะเวลา 10 ปีนี้

     ถือเป็นข่าวดีสำหรับคนในวงการอีสปอร์ตเมืองไทย หลังจากที่การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ได้เซ็นอนุมัติรับรองให้อีสปอร์ตเป็นชนิดกีฬาที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ตามมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 โดยทางสมาคมไทยอีสปอร์ต หรือ TESA ได้ประกาศลงเพจของสมาคมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา

     ส่งผลให้ขณะนี้ อีสปอร์ตได้รับการรับรองเป็นชนิดกีฬาที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้อย่างเป็นทางการแล้ว

 

 

     การผลักดันและสนับสนุนกีฬาอีสปอร์ตถือว่าเป็นเรื่องที่สังคมถกเถียงกันเป็นเวลานาน เนื่องจากการเข้าใจความหมายกีฬาอีสปอร์ตที่แตกต่างกัน แต่วันนี้ที่อีสปอร์ตได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากการกีฬาแห่งประเทศไทยแล้ว THE STANDARD ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายสันติ โหลทอง นายกสมาคมไทยอีสปอร์ต ผู้เป็นฝ่ายผลักดันกีฬาอีสปอร์ตให้ได้รับการยอมรับตลอด 4 ปีที่ผ่านมาถึงแผนการดำเนินงานและประโยชน์ที่อีสปอร์ตจะสามารถนำมาสู่สังคมได้ต่อจากนี้

 

Photo: สมาคมไทยอีสปอร์ต

 

     นายสันติ โหลทอง นายกสมาคมไทยอีสปอร์ตได้เปิดเผยว่า รู้สึกโล่งใจ คลายความกังวลไปกว่า 90% ที่ผ่านมามีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง เพราะมีคนที่ไม่เห็นด้วยค่อนข้างเยอะ หลายคนยังมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้จากมูลค่าทางสังคม โดยมองในมุมมูลค่าทางการตลาดเท่านั้น แต่สุดท้ายตอนนี้ก็ได้รับการรับรองให้เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่แข่งขันในระดับประเทศได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

จุดเริ่มต้นของการผลักดันมาตลอด 4 ปี

     เมื่อปี 2543 สันติเป็นผู้สนับสนุนทีม Counter Strike ซุนวู จนได้แชมป์ประเทศไทย และไปเป็นตัวแทนแข่งขันชิงแชมป์โลกได้ถึง 3 ปีซ้อน ก่อนจะสนับสนุนอีกทีมจนได้แชมป์อีก 4 ปี แต่ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จในเวทีโลกได้ จึงหันกลับมาให้การสนับสนุนโครงสร้างการพัฒนานักกีฬาที่เป็นระบบมากขึ้น

     ปี 2556 เขายื่นเรื่องเพื่อที่จะขอส่งนักกีฬาไปแข่งที่เอเชียนอินดอร์-มาร์เชียลอาร์ตสเกมส์ (Asian Indoor & Martial Arts Games) ในอินชอนเกมส์ ประเทศเกาหลีใต้ โดยทางเจ้าภาพสมาพันธ์อีสปอร์ตโลกระบุว่า ประเทศไทยต้องมีสถานภาพเป็นองค์กรกีฬาอีสปอร์ตภายในประเทศก่อนถึงจะสามารถส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันได้ ทางนายสันติจึงกลับมาปรึกษากับหลายฝ่ายรวมถึงคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ตั้งแต่ปี 2556 จนได้รับแจ้งมาว่าสามารถทำได้ แต่อีสปอร์ตต้องได้รับการบรรจุเป็นกีฬาในประเทศไทยเสียก่อน

     จนนำมาสู่การศึกษา รวบรวมเอกสาร ความเป็นมา ประโยชน์ของอีสปอร์ต และนำเสนอสู่การกีฬาแห่งประเทศไทยในปี 2556 โดยจากการหารือปรับปรุงในส่วนต่างๆ ผ่านการประชุมถึง 7 ครั้งในช่วงระหว่างปลายปี 2558-2560 จนมาถึงวันนี้จึงได้รับการรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทยในท้ายที่สุด

 

Photo: สมาคมไทยอีสปอร์ต

 

พัฒนานักกีฬาที่มีคุณภาพ สร้างนักกีฬาตัวอย่างก่อนสร้างมหกรรมกีฬาอีสปอร์ตในประเทศไทย

     นายสันติยืนยันว่าต้องการสร้างนักกีฬาและบุคลากรที่มีคุณภาพก่อน ส่วนเรื่องการทำลีก ทัวร์นาเมนต์ หรือมหกรรมต่างๆ จะเป็นแผนต่อจากนั้น เพราะการมีทัวร์นาเมนต์ใหญ่แต่นักกีฬาไม่มีคุณภาพ อาจจะประสบปัญหาเหมือนที่ผ่านๆ มา นายสันติจึงได้เตรียมจัดทำแคมป์ทีมชาติ เพื่อเตรียมใช้พัฒนานักกีฬาให้มีคุณภาพ

     “เราเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเกมเข้ามาร่วมงานเป็นสเปเชียลลิสต์หรือ กรรมการในแต่ละเกมเพื่อความง่ายต่อการทำงาน สมาคมไทยอีสปอร์ตจะตั้งชมรมขึ้นมาเบื้องต้นประมาน 15 ชมรม และทำการคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถชมรมละ 5-10 คนเข้ามาดูแลและบริหารเกมแต่ละเกม ให้นักกีฬามีศักยภาพตามที่สมาคมตั้งเป้าไว้ ไม่ใช่แค่แข่งเกม แต่ต้องมีเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม อมรมด้านวิชาการ การเสริมสร้างองค์ความรู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมขององค์การอีสปอร์ตทั้งหมด เริ่มต้นจากภาษาอังกฤษ บุคลิกภาพ การแสดงออก การทำงานเป็นทีม การละลายพฤติกรรมก้าวร้าว ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การแบ่งเวลา และถ้าเป็นเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียนผลการเรียนต้องดี โดยแต่ละชมรมต้องเป็นต้นแบบให้กับเยาวชนรุ่นต่อไป

     “เราไม่อยากให้เยาวชนไทยมองว่าเล่มเกมเก่งคือไอดอล แต่อยากให้เด็กไทยมองนักกีฬาที่มีคุณภาพเป็นต้นแบบ เขาควรทำตามแบบนักกีฬาที่ดี เพราะฉะนั้นนักกีฬาที่มีความรับผิดชอบ เมื่อถูกสอนให้เก่งขึ้น เขาก็จะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตที่มีฝีมือ และมีพื้นฐานที่ดีก่อนแล้ว

     “แผนแม่แบบสำหรับอีสปอร์ตในประเทศไทยทุกคนมีส่วนร่วมหมด ทำให้มันดูดี หาผู้สนับสนุนสิทธิประโยชน์ เพื่อนำเอาเม็ดเงินมาสร้างระบบให้เกิดขึ้นได้ คาดการณ์ว่าต้องการระดมทุนประมาน 300 ล้านบาทในปี 2018”

 

 

คุณค่าของอีสปอร์ต

     นายสันติมองว่า คุณค่าจริงของอีสปอร์ตมีมากมาย แต่ต้องได้รับการสนับสนุนและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคมเกี่ยวกับกีฬาชนิดนี้

     “คุณค่าจริงๆ มีเยอะมาก แต่ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ อีสปอร์ตเด็กเล่นเยอะกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเด็กเล่นเยอะกว่าผู้ใหญ่ การที่เราจะหล่อหลอมเด็กๆ ให้เล่นเกมอย่างเกิดประโยชน์มีหลากหลายวิธี โดยวิธีที่ได้ผลคือการนำมาแข่ง ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าการเล่น

     “เมื่อเรามีแผนที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายและมาตรฐานของส่วนรวม เราก็สามารถใช้อ้างอิงได้ว่านักกีฬาอีสปอร์ตที่อยู่ในวัยเรียนจำเป็นต้องส่งวุฒิการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของเราก่อน

     “แต่คนที่เรียนไม่เก่งจะให้เก่งต้องทำอย่างไร เราก็ต้องใช้พี่เลี้ยงเข้าช่วย คือครูนั่นเอง เด็กจะไปปรึกษาครูว่าอยากติดทีมชาติ แต่เกรดไม่ถึง ซึ่งจะเกิดการกระตุ้นให้อยากเรียนรู้เพิ่ม เพื่อสร้างเกรดการเรียนที่ดีขึ้นจนผ่านเกณฑ์ของสมาคมและสามารถไปแข่งขันในฐานะตัวแทนของชาติได้”

     แต่ปัญหาที่เป็นที่คาใจของทุกคนคือ เรื่องของสุขภาพ ซึ่งนายสันติยอมรับว่าเป็นปัญหาจริงสำหรับคนที่เล่นเกม แต่สำหรับนักกีฬาอีสปอร์ตอาชีพนั้นมีการดูแลสุขภาพไม่ต่างกับนักกีฬาอาชีพ

     “เรื่องของสุขภาพ เราบอกได้เลยว่าอีสปอร์ตไม่ได้เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งเป็นเรื่องจริงเพราะการนั่งเล่นอย่างเดียวไม่อาจทำให้แข็งแรงได้ แต่ถ้าจะทำให้มนุษย์เรามีความตื่นตัวสำหรับการใช้สมาธิ มันต้องมาจากพื้นฐานโครงสร้างทางร่างกายที่มีความสมบูรณ์ คนที่สุขภาพไม่แข็งแรงก็จะทำทุกอย่างช้า ในอีสปอร์ตจึงต้องมี cross training ต้องตรวจสุขภาพ ความดันโลหิต และ ตรวจสายตา รวมถึงการคัดเลือกอุปกรณ์ที่จะดูแลสุขภาพของนักกีฬา เช่นจอโทรทัศน์ที่ถนอมสายตา”

 

 

เกมเมอร์กับนักกีฬาอีสปอร์ตอาชีพ มีข้อแตกต่างเพียงแค่อย่างเดียว

     ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายให้ความหมายของอีสปอร์ตแตกต่างกันออกไป โดยแต่ละคนมีมุมมองที่เชื่อว่าอีสปอร์ตให้ได้ทั้งประโยชน์และโทษ แต่ขณะที่นายสันติมองว่าข้อแตกต่างระหว่างเกมเมอร์กับนักกีฬาอีสปอร์ตอาชีพ แท้จริงแล้วมีข้อแตกต่างเพียงแค่อย่างเดียว

     “อยากให้ทุกคนมองว่าใครก็ตามที่ได้ประโยชน์จากอีสปอร์ต แสดงว่าเขาได้ผ่านจุดที่ถูกเกมมอมเมาไปเรียบร้อยแล้ว เพราะว่าคนที่สามารถสร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างอนาคตของตัวเอง พวกเขามีเป้าหมายที่ไม่ได้อยู่ในเกม แต่มีเป้าหมายในชีวิต

     “เราต้องหาแชมป์โลกอีสปอร์ตและเศรษฐีใหม่ในวงการอีสปอร์ต ให้เห็นศักยภาพของการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต และตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ระหว่างคนเล่นเกม  2 คน คนหนึ่งต้องขอเงินพ่อแม่ใช้ ขณะที่อีกคนเป็นเจ้าของกิจการแล้ว ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว

     “การผลักดันอีสปอร์ตเป็นกีฬาเป็นอาชีพหรือสร้างประโยชน์จากอีสปอร์ตไม่ได้อยู่ที่หน้าที่ของสมาคม แต่อยู่ที่หน้าที่ของทุกคนที่รักในสิ่งนี้ ถ้าคุณรักอีสปอร์ต คุณจะเสียคนเพราะเกม คุณจะเสียคนเพราะอีสปอร์ตไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องบังคับตัวเองให้ได้ ใช้ประโยชน์จากเกมและแบ่งเวลาให้ถูก

     “อันนี้คือเราขอร้องทุกคนที่เป็นเกมเมอร์ ถ้าอยากให้อีสปอร์ตไปต่อ พวกคุณต้องเป็นตัวอย่างที่ดี อย่าให้ใครมายัดข้อหาเด็กติดเกมให้คุณ ส่วนผู้ใหญ่ที่ยังมองไม่เห็นคุณค่าของเกม บางทีที่ผ่านมาหลายคนมีภาระรับผิดชอบที่ต้องเยียวยาสังคม เช่น หมอจิตเวชเด็กที่ไม่เห็นด้วยกับอีสปอร์ต เราก็เอาใจช่วย และสิ่งหนึ่งที่เรากำลังจะทำให้มันเกิดคือ เราคาดหวังว่ากรณีที่เป็นปัญหาในประเทศไทยจะลดน้อยลง เพราะเราจะรณรงค์ให้ใช้เกมให้ถูกวิธี และพอถึงวันนั้นพวกท่านสามารถเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้สมาคม มาให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ก็จะเป็นผลดีมากกว่าที่จะต่อต้านหรือไม่ยอมรับครับ”

 

Photo: สมาคมไทยอีสปอร์ต

 

     ด้านนายเสถียร บุญมานันท์ CEO & Founder of Neolution Group ซึ่งถือเป็นทีมอีสปอร์ตแรกๆ ที่ให้เงินเดือนนักกีฬา และทีมแรกที่ส่งนักกีฬาไปแข่งขันอีสปอร์ตที่ต่างประเทศ มองว่าเวลานี้ถือเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอีสปอร์ตในประเทศไทยที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ

     “วันที่อีสปอร์ตกลายเป็นกีฬาอาชีพ ในภาพรวมของวงการคือเม็ดเงิน การสนับสนุนที่ถูกต้อง เหมือนสนุกเกอร์ที่ยังไม่มี ต๋อง ศิษย์ฉ่อย (รัชพล ภู่โอบอ้อม) ที่ผ่านมาสนุกเกอร์มีเพียงภาพลบอย่างเดียว แต่พอได้รับการสนับสนุนและการยอมรับ เราก็มีนักสนุกเกอร์ระดับโลก เป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้น เม็ดเงินเข้ามา คนในวงการภูมิใจในสิ่งที่มี รับรองว่าจะเป็นข้อดีมาก

     “นอกจากนี้เรามองว่าจะเป็นอะไรที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมในบ้านเรามาก จริงๆ น้อยคนที่จะรู้ว่าตลาดเกมเป็นตลาดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่จะมีมูลค่าตลาดทั่วโลกภายในปี 2020 สูงถึงหนึ่งจุดห้าล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นโลกเราไปไกลแล้ว สังคมต่างประเทศให้การยอมรับไปแล้ว และได้รับการพัฒนาเป็นกีฬาของอนาคตไปแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้อีสปอร์ตเติบโตขึ้น และได้มีการคาดการณ์แล้วว่า อีสปอร์ตจะกลายเป็นหนึ่งในกีฬาท็อป 5 ของโลกภายใน 10 ปีนี้”

 

สุขภาพของนักกีฬาอีสปอร์ต

     เช่นเดียวกับนายกสมาคมไทยอีสปอร์ตนายเสถียร บุญมานันท์ มองว่านักกีฬาอีสปอร์ตไม่ต่างกับนักกีฬาอาชีพ คือความตั้งใจที่จะดูแลสุขภาพร่างกาย เพื่อให้สามารถแสดงศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างสูงสุด

     “ต้องแยกก่อนระหว่างนักกีฬาอีสปอร์ตกับเด็กเล่นเกมทั่วไป ไม่ต้องถึงทีมต่างชาติ ทีมผมเองมีการออกกำลังกายทุกวัน แต่ถ้าเป็นทีมต่างชาติจะมีการจ้างโค้ชเรื่องออกกำลังกาย และมีโปรแกรมทุก 4 โมงถึง 6 โมงเย็นต้องออกกำลังกาย เพราะการเล่นเกมต่างๆ รวมถึงหมากรุกหมากฮอสต่างๆ ร่างกายต้องดี เพราะต้องใช้สมาธิมาก แต่ถ้าร่างกายไม่ดี ตาไม่ดี ก็เล่นไม่ได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นอีสปอร์ตจริงๆ เขามีแผนออกกำลังกายทุกคน

     “แต่ถ้าในมุมคนเล่มเกมจะแตกต่างกัน เพราะคนเล่มเกมอาจต้องมองที่ความรับผิดชอบว่าออกกำลังกายบ้างไหม คือทุกอย่างในโลกหากเราทำมากเกินไปก็ไม่มีอะไรดีอยู่แล้ว”

 

อีสปอร์ตเป็นอาชีพได้ขนาดไหนแล้ว

     ในแง่มุมของธุรกิจนายเสถียรเผยว่า ต่างประเทศมีการลงทุนในกีฬาอีสปอร์ตอย่างมหาศาล โดยล่าสุด Cloud9 เป็นทีมของอเมริกาได้รับเงินลงทุนกว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ Virtus.pro ได้รับเงินสนับสนุนเกือบ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงตอนนี้มีอย่างน้อง 30 เจ้าของสโมสรฟุตบอลลงทุนในทีมอีสปอร์ตไปแล้ว และมองว่าอีสปอร์ตจะมาทดแทนบางกีฬาในอนาคต ยิ่งพอมี Virtual Reality และ Augmented Reality ให้ออกกำลังกายได้ด้วย เปรียบง่ายๆ คือนักกีฬาอีสปอร์ตต่างกับเกมเมอร์ยังไง ก็เหมือนกับเปรียบว่า นักฟุตบอลอาชีพต่างกับคนที่เตะบอลทั่วๆ ไป

 

ทำไมบริษัทถึงหันมาลงทุนกับอีสปอร์ต?

     สุดท้ายนี้คือการทำให้บริษัทต่างหันมาสนใจและลงทุนในกีฬาอีสปอร์ต นายเสถียรได้เปิดเผยข้อมูลว่า ขณะนี้บริษัทชั้นนำของประเทศไทยได้หันมาลงทุนกับอีสปอร์ตอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าแบรนด์เหล่านี้มองเห็นว่าลูกค้าที่มีกำลังจ่ายในอนาคตจะไปอยู่ในพื้นที่ของอีสปอร์ต กีฬาที่จะก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในกีฬาท็อป 5 ของโลกภายในระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้นั่นเอง

     “เราให้ข้อมูลตามความจริงคือตอนนี้มีแบรนด์เครื่องดื่มติดต่อเรามา ท็อป 10 ติดต่อมาแล้ว 7 แบรนด์ และมีแบรนด์ท็อป 20 ของประเทศไทยมาลงที่อีสปอร์ตแล้ว 6 แบรนด์เท่าที่ทราบมา พูดง่ายๆ คือในเมื่ออีสปอร์ตจะกลายเป็นกีฬา ท็อป 5 ของโลกใน 10 ปีข้างหน้า คนที่จะเป็น Gen Z หรือคนที่จะเป็นกำลังจ่ายในอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้า 60% เล่นเกม เราพูดง่ายๆ ว่า ‘ลูกค้าอยู่ที่ไหนแบรนด์ก็อยู่ที่นั่น’ คืออีกหน่อยกลุ่มลูกค้าที่เติบโตมาเขาเสพสื่อพวกนี้ และทำไมแบรนด์ถึงจะไม่ตามมา ต่างประเทศ 30% ของเวลา 4G ในการใช้มือถือในอเมริกาอันดับหนึ่งคือการเล่นเกม”

     ถือว่าเป็นการต่อสู้อย่างยาวนานทั้งในและนอกสนามสำหรับอีสปอร์ต กว่าจะมาถึงวันที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งต่อจากนี้นายสันติ โหลทอง นายกสมาคมไทยอีสปอร์ต เตรียมเดินหน้าจัดทำเอกสารเพื่อเปลี่ยนชื่อสมาคมจาก สมาคมไทยอีสปอร์ต เป็นสมาคมกีฬาไทยอีสปอร์ต และตั้งเป้าดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเดินหน้าตามแผนพัฒนากีฬาอีสปอร์ต ที่ประกอบไปด้วย การพัฒนานักกีฬาให้มีทั้งฝีมือและความรับผิดชอบต่อสังคม ที่นายสันติเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอีสปอร์ตในประเทศไทยได้ในอนาคต รวมถึงยังเป็นการเตรียมความพร้อมของนักกีฬาไทยสำหรับอนาคต ที่อีสปอร์ตเตรียมเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาท็อป 5 ของโลกในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีนี้

 

Photo: AFP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X