วันนี้ (23 เมษายน) อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภาย หลังการประชุมความคืบหน้ามาตรการเยียวยาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรอง โดยคาดว่า จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอาทิตย์หน้า และน่าจะเห็นมาตรการทันช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563
ทั้งนี้ ในเรื่องพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ประเมินว่า มีการจัดส่วนอย่างเพียงพอแล้ว โดยเฉพาะส่วนเงิน 6 แสนล้านบาท เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชน แต่หากไม่เพียงพอ สามารถกันเงินบางส่วนจาก 4 แสนล้านบาท มาช่วยได้ตามความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท อาจจะมีการใช้จ่ายไม่ถึงวงเงินที่ตั้งไว้ ขณะนี้จึงไม่มีแผนการใช้หนี้ออกมาชัดเจน แต่มีการเตรียมการไว้แล้ว
ส่วนความคืบหน้าสินเชื่อฉุกเฉินที่ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กับธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีผู้ลงทะเบียนเต็มวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทแล้ว ซึ่งหากต้องเพิ่มวงเงินจะต้องพิจารณาใหม่ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ และต้องสอดรับกับมาตรการอื่นๆ ที่ออกมา
ขณะที่มาตรการช่วยเหลือสายการบิน ขณะนี้ยังดูอยู่ว่าจะมีการช่วยเหลืออย่างไร อาจจะไม่ต้องเป็นการให้สินเชื่อก็ได้ เพราะวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ที่มีใช้กับเรื่องต่างๆ ไปหมดแล้ว
ทั้งนี้ ยังมีข้อสรุปให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เช่น ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส. รวมถึง ธนาคารกรุงไทย ตั้งสภาสถาบันการเงินของรัฐ จากเดิมเป็นรูปชมรมเพื่อทำระบบการเสนอมาตรการต่างๆ ให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น การใส่ข้อมูลในเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน เชื่อมโยง ที่โยงเว็บสถาบันการเงินต่างๆ และเปิดรับคำร้องผ่านเว็บไซต์ ก่อนที่แพ็กเกจสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จะเริ่มในสัปดหา์แรกของเดือนพฤษภาคมนี้
ด้าน ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สินเชื่อฉุกเฉินปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนขอสินเชื่อเต็มวงเงินแล้ว และตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคมเป็นต้นไป จะเชิญผู้ที่ลงทะเบียนเข้ามายื่นเอกสารทำสัญญาเงินกู้ และทยอยโอนเงินให้ลูกค้า คาดว่าจะใช้เวลาราว 20-30 วัน เพื่อทำสัญญาและโอนเงินให้ลูกค้าเต็มวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล