วันนี้ (20 เมษายน) ที่กระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากในและนอกกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งผู้แทนคณบดีจากคณะแพทยศาสตร์ หารือเพื่อจัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในด้านสาธารณสุข เสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่าจากการประชุม ทุกฝ่ายเห็นตรงว่ากันควรมีการเปลี่ยนผ่านจากวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบันไปสู่มาตรการสร้างความสมดุลทางการประกอบอาชีพและความปลอดภัยในการใช้ชีวิต โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ
- หน่วยงานด้านสาธารณสุขต้องเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการตรวจคัดกรองคนติดเชื้อในประเทศ เข้มงวดกับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ มีการกักเฝ้าสังเกตอาการ 14 วันในสถานที่ที่กำหนด การค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ในชุมชนแออัด
- คนไทยทุกคน ทุกชุมชน ทุกสังคม ต้องร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการสุขลักษณะ ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้าน การมีระยะห่างทางกาย งดการชุมนุม กลุ่มเสี่ยงยังควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน
- ภาคธุรกิจต้องประเมินความเสี่ยงและปรับการดำเนินการให้มีความเสี่ยงต่ำ เช่น มาตรการตรวจวัดไข้ เว้นระยะห่างทางกาย การทำความสะอาดมือ การลดจำนวนผู้คนที่มาติดต่อใช้บริการ
- การปิดบริการหรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูงหรือเป็นแหล่งแพร่ระบาด ได้แก่ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบริการทางเพศทั้งตรงและแฝง สนามการพนัน ต้องปิดในระยะยาว
สำหรับการปิดกิจการในอนาคตควรใช้วิธีปิดแบบจำเพาะที่เป็นปัญหา และคงความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
- มีระบบเฝ้าระวัง ตรวจจับ และคาดการณ์ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เป็นการเตือนและเพิ่มมาตรการหรือผ่อนคลายมาตรการตามบริบทของแต่ละจังหวัด และมีการเฝ้าระวังโดยภาคประชาชนและ อสม. ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงมาตรการเบื้องต้นที่สามารถปรับได้
ทั้งนี้หากสามารถดำเนินการได้ทั้ง 5 ส่วนจะค่อยๆ เดินไปข้างหน้า โดยใช้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขดูจังหวัดที่มีการติดเชื้อต่ำ
เริ่มจากกลุ่มจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (ประมาณ 32 จังหวัด) สามารถเริ่มได้ภายในต้นเดือนพฤษภาคม หรืออาจนำร่องทดลองในช่วงปลายเดือนเมษายน
หลังจากนั้นจึงเริ่มในกลุ่มที่สองคือจังหวัดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่แบบประปราย (ประมาณ 38 จังหวัด) ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม
สำหรับกลุ่มที่สามคือจังหวัดที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง (ประมาณ 7 จังหวัด) หากจังหวัดเหล่านี้สามารถลดการระบาดลงมาได้ในระดับต่ำตามเกณฑ์และไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ก็ควรให้เริ่มเปลี่ยนผ่านได้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน หรืออาจเริ่มก่อนหน้านั้นได้หากควบคุมสถานการณ์ โดยการขยับมาตรการจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน
“การเปลี่ยนผ่านจะเป็นแบบระมัดระวังเพื่อป้องกันการระบาดระลอกที่สอง โดยให้เกิดความสมดุลความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ภาคธุรกิจเดินหน้าได้ แต่ไม่เหมือนเดิมทุกอย่าง เช่น ไม่มีการนั่งรอในร้านตัดผม ไม่มีการสังสรรค์กลุ่มใหญ่ ร้านอาหาร ธุรกิจบริการ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ลดความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ต้องขอบคุณทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงสาธารณสุข คณบดีคณะแพทยศาสตร์ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และทุกภาคส่วนที่ร่วมกันวางแผนเสนอแนวทางการปรับมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน” นพ.คำนวณกล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์