เมื่อวานนี้ (19 เมษายน) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกำหนด จำนวน 4 ฉบับ และพระราชกฤษฎีกา จำนวน 1 ฉบับ โดยกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาลและหน่วยงานรัฐอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย
1. พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินรวมไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
2. พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท
3. พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 โดยกำหนดให้ในระยะกองทุนมีวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท
4. พ.ร.ก. ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563
5. พ.ร.ฎ. กำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2563
สำหรับรายละเอียดเบื้องต้น ในส่วน พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท จะแบ่งเป็นวงเงินด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท วงเงินเยียวยาประชาชน 555,000 ล้านบาท วงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท โดยได้ระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบในบัญชีท้ายพระราชกำหนด
ในส่วนของ พ.ร.ก. ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 จะเป็นการเปิดทางให้หน่วยงานราชการประชุมและลงมติผ่านประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้ แต่มีเงื่อนไขยกเว้นการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ รวมถึงการประชุมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
และ พ.ร.ฎ. กำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2563 เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศ จึงกำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการท่ัวไปให้สูงกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2561
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า